กุนุง ปาดัง (Gunung Padang) พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นที่อินโดนีเซีย เมื่อ 25,000 ปีก่อน😱😱😱
ซากสิ่งก่อสร้างโบราณขนาดใหญ่ ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดินบนเนินเขา ของเกาะชวาตะวันตกในประเทศอินโดนีเซีย อาจเป็นสถาปัตยกรรม ที่สร้างจากหินทั้งก้อนในธรรมชาติ แห่งแรกของโลก โดยล่าสุดนักโบราณคดียืนยันว่า มันมีอายุเก่าแก่ราว 25,000 ปี ซึ่งเป็นสมัยเดียวกับยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดของโลก (Last Glacial Period - LGP)
สิ่งก่อสร้างทรงพีระมิดนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขา “กุนุง ปาดัง” (Gunung Padang) หรือ “ภูเขาแห่งความรู้แจ้ง” คาดว่าถูกสร้างขึ้นก่อนที่มนุษย์จะรู้จักเกษตรกรรม และก่อนกำเนิดแหล่งอารยธรรมแรกของโลกหลายพันปี แม้แต่มหาพีระมิดแห่งกิซาที่อียิปต์ และสโตนเฮนจ์ที่สหราชอาณาจักร ก็ยังมีอายุน้อยเพียง 1 ใน 5 ของพีระมิดลึกลับแห่งอินโดนีเซียเท่านั้น
กุนุงปาดัง ถือเป็นเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่น ส่วนยอด มีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได (stepped pyramid) โดยมีลานระเบียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไปจนถึงยอดเขา บริเวณโดยรอบ ยังมีแท่งหินที่ถูกตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาว วางกองระเกะระกะอยู่เกลื่อน ซึ่งอาจเป็นเศษหิน ที่คนโบราณ สกัดมาใช้ในการก่อสร้าง
ทีมผู้วิจัยระบุว่า ความมหัศจรรย์ ของพีระมิดแห่งกุนุงปาดัง อยู่ที่โครงสร้างอันซับซ้อน ซึ่งเกิดจากการเจาะสกัดหินลาวาก้อนใหญ่ บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับมอดแล้ว จนเกิดโพรงลึก เข้าไปในแกนกลางของภูเขาไฟ โดยมีการแบ่งส่วนของพีระมิดเป็นหลายชั้น จากยอดเขา ลึกลงไปถึงใต้เนินเขา 30 เมตร ทั้งมีสิ่งก่อสร้างย่อย ๆ ที่เป็นส่วนประกอบรวมกันทั้งหมด 4 หน่วย (unit) ซึ่งชั้นลึกสุดใต้ดิน มีห้องโถงขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ และอาจมีโบราณวัตถุล้ำค่า บรรจุอยู่ภายในก็เป็นได้
ผลการตรวจหาอายุของดินและหิน ในโบราณสถานดังกล่าว ด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี พบว่ากุนุงปาดัง อาจถูกสร้างขึ้นครั้งแรก เมื่อราว 16,000 - 27,000 ปีก่อน นับว่า เก่าแก่ยิ่งกว่าวิหาร Göbekli Tepe สิ่งก่อสร้างจากหินก้อนยักษ์ในธรรมชาติ ที่ประเทศตุรกี ซึ่งมีอายุราว 11,000 ปี
ทีมผู้วิจัย ยังทำการสำรวจด้วยอุปกรณ์ขุดเจาะ, เรดาร์สแกน แบบทะลุทะลวงชั้นดิน (GPR), อุปกรณ์สร้างภาพจากคลื่นแผ่นดินไหว (ST) และเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซ์ ที่แสดงรายละเอียด เป็นภาพตัดขวางของโครงสร้าง ที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ ทำให้พบว่า โครงสร้าง 4 หน่วย ของพีระมิดแห่งกุนุงปาดัง ถูกสร้างขึ้น ในยุคสมัยที่แตกต่างกัน โดยมีการทิ้งช่วงงานก่อสร้าง ไปนานนับพันปีหลายครั้ง ทั้งมีความเป็นไปได้ว่า มีการฝังกลบโครงสร้างในหน่วยเก่า ก่อนจะต่อเติมโครงสร้าง ที่เป็นหน่วยใหม่ด้วย
โครงสร้างในหน่วยที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นลึกสุด ถูกสร้างขึ้นมาก่อน ในช่วงที่ตรงกับยุคน้ำแข็ง LGP กว่าหมื่นปีที่แล้ว ต่อมา โครงสร้างหน่วยที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยแท่งหินคล้ายเสา จำนวนมาก ถูกสร้างขึ้นระหว่าง 7,900 - 6,100 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุคหินเก่า (Paleolithic) ที่มนุษย์ ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาเก็บของป่า ยังไม่รู้จักการใช้เครื่องมือก่อสร้างที่ซับซ้อน
หลังจากทิ้งช่วงไปอีก ราวหนึ่งพันปี ทีมวิศวกรปริศนาจากยุคโบราณ อีกคณะหนึ่ง ได้สร้างหน่วยที่ 2 ขึ้น เมื่อสมัยราว 6,000 - 5,500 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนการต่อเติมครั้งสุดท้าย เป็นการก่อสร้างหน่วยที่ 1 เมื่อราว 2,000 - 1,100 ปี ก่อนคริสตกาล
สำหรับสาเหตุ ที่มีการฝังกลบโครงสร้างหน่วยเก่า ก่อนต่อเติมหน่วยใหม่นั้น ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า อาจเป็นการอำพรางตัวตนที่แท้จริง ของโบราณสถานแห่งนี้ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อรักษาส่วนดั้งเดิม ให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย หรือการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา
ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า ผลการศึกษาหลักฐาน ที่รวบรวมเอาไว้ได้ในขณะนี้ เพียงพอที่จะชี้ชัดว่า กุนุงปาดัง ไม่ใช่เนินเขา ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งหมด แต่มีสิ่งก่อสร้างจากฝีมือมนุษย์รวมอยู่ด้วย โดยเนินเขาแห่งนี้ จะต้องมีความสำคัญยิ่งยวดบางประการ ที่ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาก่อสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์พีระมิดหลายต่อหลายครั้ง ตลอดช่วงระยะเวลาหลายพันปี
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่า ที่แท้แล้ว กุนุงปาดัง คืออะไร และใครกันแน่ คือคนโบราณ ผู้เปี่ยมอัจฉริยภาพทางวิศวกรรมศาสตร์ ผู้สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ อย่างกุนุงปาดังขึ้นได้ ด้วยฝีมือช่างอันละเอียดประณีต ซึ่งเหลือเชื่อว่า จะเป็นฝีมือของมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ข่าวคราวเรื่องการค้นพบพีระมิด แห่งกุนุงปาดัง ที่มีอายุเก่าแก่หลายหมื่นปี ถูกมองว่าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง หรือไม่ก็มีความผิดพลาด ในการตรวจหาอายุของวัตถุโบราณ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่า นี่คือหลักฐานของของอารยธรรมโบราณ ที่มีความเจริญรุ่งเรือง และก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ยิ่งกว่ามนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งอารยธรรมที่สูงส่งนี้ เคยครองโลกในยุคดึกดำบรรพ์ เป็นเวลานานหลายล้านปี ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของมนุษย์
แนวคิดพิสดาร เรื่องอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรืออารยธรรมของเอเลียน ที่อพยพมายังโลก ซึ่งหายสาบสูญไปดังกล่าว เรียกว่า “สมมติฐานไซลูเรียน” (Silurian Hypothesis) ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พีระมิดแห่งกุนุงปาดัง เข้าข่ายร่องรอย ของอารยธรรมชั้นสูงยุคโบราณนี้ หรือไม่
ในอนาคตอันใกล้นี้ ทีมผู้วิจัยของอินโดนีเซีย มีแผนที่จะขุดเจาะลึกลงไป ใต้เนินเขากุนุงปาดัง จนถึงห้องโถงใหญ่ ในหน่วยที่ 4 ซึ่งกว้างถึง 15 เมตร และมีเพดานสูงถึง 10 เมตร เพื่อให้เกิดรู ที่สามารถหย่อนกล้อง ลงไปสำรวจภายในได้ โดยคาดว่า อาจมีโบราณวัตถุบางอย่าง ที่นักโบราณคดี อาจจะใช้เป็นเบาะแส ในการค้นหาประวัติความเป็นมาที่ถูกต้อง ของพีระมิดลึกลับแห่งนี้
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/626sbnZvVac?si=CpKnA1uMvZfCGD81
พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นที่ “อินโดนีเซีย” เมื่อ 25,000 ปีก่อน