ตำนาน คูบาคอขาด กู่ครูบา หรือ สถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิครูบาปัญญา (หรือครูบาดวงงาม)
เรื่องราวตำนานอิงประวัติศาสตร์ เรื่องครูบาคอขาด หรือ ทางบ้านพื้นถิ่นจะเรียกว่า ตุ๊เจ้าคอ ซึ่งก็คือ เรื่องราวของการประหารชีวิต พระสงฆ์และอุบาสิกา ที่ถูกใส่ความว่า มีสานสัมพันธ์เชิงชู้สาวกัน จนเป็นเหตุแห่งเรื่องราวดังต่อไปนี้
ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองคุ้ม (ปัจจุบันเชื่อกันว่า บริเวณที่ตั้งของเมืองดังกล่าว เป็นที่ตั้งของวัดคุ้ม ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา) มีเจ้าพระยาครองเมืองอยู่พระองค์หนึ่ง ในสมัยก่อนเขาเรียกว่า เจ้าเมืองคุ้ม มีพระมเหสีผู้เป็นที่รักอยู่พระองค์หนึ่ง พระนางเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงามยิ่งนัก นอกจากนั้นแล้ว พระนาง ยังมีจิตใจเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา เป็นอย่างแรงกล้า พระนางได้รักษาศีล ให้ทาน ทำบุญอยู่มิได้ขาด อีกทั้งพระนาง ได้ให้ความเคารพนับถือศรัทธาในพระเถระรูปหนึ่ง พระเถระรูปนี้ ถือได้ว่า เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่รักษาพระวินัย รักษาศีลอย่างเคร่งครัด เป็นพระประพฤติปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพศรัทธา ของบรรดาเจ้าเมืองในละแวกนั้น รวมไปถึงบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วไป รวมไปถึง เจ้าเมืองคุ้ม ก็ให้ความเคารพนับถือศรัทธาเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน โดยพระภิกษุรูปนี้ ได้รับการยอมรับ เปรียบเสมือนเป็นพระอาจารย์สอนวิชา แก่เจ้าเมืองคุ้มด้วย พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง อย่างไม่เคยขาดตกบกพร่อง แม้ในยามที่พระองค์ออกเสด็จว่าราชการต่างเมือง พระองค์ก็ยังได้รับสั่งให้นางสนมกำนัน หรือเหล่าบรรดาข้าราชบริพาร คอยรับส่งและถวายภัตตาหาร ทำบุญอยู่เป็นนิจมิเคยขาด
ท่านพระมหาเถระรูปนี้ ได้คอยให้คำปรึกษาราชการ พร้อมทั้งได้แนะนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา แก่เจ้าเมืองคุ้ม และสอนให้เจ้าเมืองได้ประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่เป็นเนืองๆ เรื่อยมา เหตุการณ์เหล่านี้ ได้ดำเนินไปเป็นปกติอยู่เป็นเวลาหลายปี จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง เจ้าเมืองคุ้ม ได้เสด็จไปว่าราชการต่างเมือง ก่อนเสด็จไป พระองค์ได้ทรงรับสั่งกับพระมเหสีผู้เป็นที่รักว่า ขอให้พระนางช่วยเป็นธุระ คอยดูแลจัดแจงกิจ เกี่ยวกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แทนพระองค์ด้วย พระมเหสีท่านนี้ ก็ได้รับคำว่า จะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ประกอบกับพระนาง ก็เป็นผู้มีจิตใจเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้ง ก็ยังได้ศรัทธาพระมหาเถระ ผู้เป็นพระอาจารย์อยู่แล้ว
แต่ด้วยความที่พระนาง เป็นหญิงที่มีพระสิริโฉมงดงาม ดั่งพระจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญ เป็นที่รักของเจ้าเมืองคุ้มยิ่งนัก อีกทั้งขณะนั้น ในเมืองคุ้ม ก็มีบรรดาเหล่านางสนมกำนัน ที่ตั้งตัวกันเป็นก๊กเป็นเหล่า แย่งความเป็นใหญ่ อยากจะได้รับพระราชทานรางวัล หรือเลื่อนขั้นเลื่อนชั้นของตนเอง ให้มียศตำแหน่งสูงๆ ขึ้นไป ก็เกิดมีความอิจฉาริษยาต่อพระมเหสีของเจ้าเมืองคุ้ม ที่มีตำแหน่งบารมีและยศที่สูงกว่าตน จึงได้สมรู้ร่วมคิด คบหากัน กับบรรดาเสนาอำมาตย์ และเหล่าทหารที่คอยรับใช้ คอยยุแยงตะแคงรั่ว ใส่ร้ายป้ายสี สร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้น และร่วมกันวางแผน ที่จะทำลายชื่อเสียงของพระมเหสี อันเป็นที่รักของเจ้าเมืองคุ้มนั้น โดยที่พระมเหสีพระองค์นี้ ก็ไม่ได้คิดหรือระวังภัย ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคตได้
เมื่อเจ้าเมืองคุ้ม ได้เสด็จออกไปว่าราชการยังต่างเมือง พระนางก็ได้รับหน้าที่นำภัตตาหารเช้า ภัตตาหารเพล ไปถวายพระมหาเถระ อยู่เป็นประจำทุกวัน พร้อมได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนา จากพระมหาเถระ เมื่อถึงวันพระ ก็ได้นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติปฎิบัติธรรม รักษาศีลอุโบสถ อาศัยอยู่ที่วัด นั่งสมาธิ อยู่มิได้ขาด พระนางปฏิบัติอยู่อย่างนี้เป็นกิจวัตร มีอยู่วันหนึ่งซึ่งเป็นวันพระใหญ่ พระมหาเถระรูปนี้ โดยปกติท่านจะฉันหมากพลูอยู่เป็นนิตย์ แต่บังเอิญวันนั้น ปูนขาวหมด ก็เลยใช้ให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นสามเณร ไปขอปูนขาวจากแม่ออกศรัทธา อันเป็นพระมเหสีของเจ้าเมือง แต่เป็นธรรมเนียมของคนโบราณแล้วว่า จะไม่ยอมควักปูน หรืออะไรก็ตาม ออกจากที่เก็บ เช่น ปูนขาว ข้าวในเล้า เพราะถือว่า เป็นวันพระ เป็นวันแรง ดังนั้น พระมเหสี จึงได้เอาปูนขาวของตนเองส่งให้สามเณรไป และบอกว่า เอาของแม่ออกไปก่อน ส่วนของพระมหาเถระ เดียวพรุ่งนี้ จะเอาปูนขาวใส่ให้เต็ม แล้วนำไปถวายท่านใหม่ สามเณรก็ได้นำถ้วยปูนขาวของพระมเหสี ไปถวายพระมหาเถระ แต่บังเอิญว่า ท่านเจ้าเมืองคุ้ม ได้เสด็จกลับมาจากการว่าราชการต่างเมืองมาพอดี ก็ได้แวะเข้ามากราบพระมหาเถระ และสายพระเนตร ก็ได้เหลือบไปเห็นถ้วยปูนขาว และจำได้ว่า เป็นของพระมเหสีตน จึงเกิดบันดาลโทสะ คิดว่า ต้องมีอะไรแน่นอน คิดว่าพระมหาเถระ แอบเป็นชู้กับมเหสีของตนเอง โดยมีโมหะและโทสะเข้าครอบงำ ไม่ฟังเสียงใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อเจ้าเมืองคุ้ม ได้นิวัติกลับมายังพระนคร เหล่าบรรดานางสนมกำนัน ที่ได้รับใช้ใต้พระเนตรพระกรรณ ก็พากันใส่ร้ายป้ายสี ทูลเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ต่อเจ้าเมืองคุ้มต่างๆ นานา อีกบ้างก็เท็จทูลว่า ” พระองค์รู้หรือไม่ว่า เมื่อครั้งที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร พระมเหสีของพระองค์ทรงคิดนอกใจ บ้างก็ว่า พระนางมีใจให้กับพระมหาเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์ ในระหว่างที่พระองค์มิได้ทรงประทับอยู่ในพระนคร พระนางก็เสด็จไปยังวัดทุกเช้าทุกเย็น บางวันก็ไปนอนที่วัด เสด็จไปตอนเย็น ไปนอนค้างพักแรมที่วัด กลับก็ตอนเช้ามืด แล้วก็เปลี่ยนสวมชุดใหม่มาตลอด บางครั้งบางที ก็นำเสี้ยนหมากพลู ปูนขาว ไปถวายเป็นการเอาอกเอาใจในพระมหาเถระ บางครั้งก็ทรงประกอบอาหารอย่างประณีตไปให้กับพระมหาเถระองค์นั้น นางสนมกำนันเหล่านั้น บางคนก็เสริมเติมแต่งเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือขึ้นอีก บางก็เท็จทูลว่า พระองค์ไม่เชื่อใช่ไหม พระองค์ก็ลองสังเกตผิวพรรณของพระมเหสีดูสิ ผิวพรรณของพระมเหสีของพระองค์ ดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล แม้ในขณะที่พระองค์ไม่อยู่ ซึ่งผิวพรรณดังกล่าวของพระมเหสี เกิดจากการรักษาศีล ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ทานแต่อาหารมังสวิรัติ ทำให้ผิวพรรณดูผ่องใสเป็นยองใย และก็ได้ใส่ไฟใส่ร้ายป้ายสีหลายๆ อย่าง จนทำให้เจ้าเมืองคุ้มเกิดความระแวงสงสัย ประกอบกับพระองค์เป็นคนโทสะจิต ถูกความลุ่มหลงงมงายเข้าครอบงำ อันเกิดจากความรักความหึงหวง ในตัวของพระมเหสีผู้เป็นที่รักของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ฟังเสียงอื่นใด ไม่มีการสอบสวนหรือฟังเหตุผลอื่นใด พระองค์มีแต่ความโกรธเข้าครอบงำ ได้สั่งให้เหล่าทหารของพระองค์ ไปจับกุมพระมหาเถระดังกล่าว มาเพื่อที่จะทำการลงโทษ ด้วยการประหารชีวิตเสีย
ฝ่ายพระมหาเถระ ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รักษาศีล และพระวินัยอย่างเคร่งครัด ที่ไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรด้วยเลย อันเป็นเหตุแห่งการอิจฉาริษยากันเอง ของบรรดาเหล่าสนมกำนัน ท่านพระมหาเถระรูปนี้ ก็รู้ด้วยวาระแห่งจิต และอาจจะเป็นผลกรรมชาติใดชาติหนึ่ง จึงยอมให้ทหารจับกุมเสียแต่โดยดี แม้จะปฏิเสธกับเจ้าเมืองคุ้มอย่างใด ด้วยโทสะจริต โมหะจริต เข้าครอบงำจิตใจ ของเจ้าเมืองพระองค์นี้เข้าเสียแล้ว แม้จะมีเหตุผลประการใดๆ มาแก้ต่าง ก็คงไม่เป็นผลอันใด เจ้าเมือง ได้สั่งให้ทหารนำพระมหาเถระองค์นี้ ไปทำการประหารที่ลานประหาร ณ ทิศตะวันตกของเมือง (ปัจจุบัน ที่บริเวณแห่งนี้ ก็ยังมีอยู่ให้เห็น โดยชาวบ้านได้เรียกบริเวณแห่งนี้ว่า “รอมสรี” หรือที่มีต้นศรีมหาโพธิ์ อยู่ตรงบริเวณกลางทุ่งนา บริเวณระหว่างบ้านหนองร่มเย็น ต.ร่มเย็น กับบ้านดอนลาว ต.เจดีย์คำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา)
เมื่อบรรดาเหล่าทหารเพชรฆาต ได้นำพระมหาเถระดังกล่าวมายังรอมสรี ได้มัดมือของพระมหาเถระ ประดับดอกบัวไว้ที่พุ่มมือ เอาผ้าปิดตา และผูกโยงไว้กับเสาหลักประหาร และได้ทำพิธีคล้ายกับการประหารนักโทษทั่วไปในสมัยนั้น แต่ก่อนที่จะได้ทำการประหารนั้น พระมหาเถระรูปนี้ ได้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนที่เพชรฆาตจะลงมือ โดยได้เปล่งวาจาออกมา ให้ได้ยินทั้งบรรดาเหล่าทหารและชาวบ้าน ที่เคารพศรัทธา ในตัวพระมหาเถระว่า “ตัวเรานี้ เป็นพุทธบุตร ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้รักษาศีล รักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำการอบรมสั่งสอน แนะนำหลักธรรม สอนให้กับพุทธศาสนิกชน เพื่อนำใปเป็นหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอดมิได้ขาด หากแม้นว่า เราได้ทำผิดอย่างที่ท่านได้กล่าวให้โทษแก่เราแล้วไซร้ เมื่อท่านได้ให้เพชรฆาตได้ลงดาบแก่เรา ขอให้โลหิตเลือดของเราจงตกรดลงไปสู่พื้นปฐพี แต่หากแม้นว่า เรามิได้กระทำผิด ดั่งที่ท่านกล่าวให้โทษเราแล้วไซร้ ขอให้เลือดของเรา อย่าได้ตกลงสู่พื้นปฐพี จงล่องลอยขึ้นสู่นภากาศ อย่าให้ได้เปื้อนเป็นมลทิน แก่พื้นปฐพีเลย นับต่อแต่นี้ไป หากเราได้ทำการมรณภาพสิ้นชีวิตไป หากเจ้าเมือง หรือผู้ปกครองผู้ใด ทำการปกครองบ้านเมืองแห่งนี้ (หมายถึงเมืองพุทธรสหรือเมืองชะราว) โดยไม่ตั้งอยู่ในครรลองครองธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 ไม่บริหารราชการแผ่นดิน ด้วยทศพิธราชธรรม มีแต่อคติความลำเอียง ขอให้ผู้ปกครองท่านนั้น อย่าได้มีความสุข อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน และมีอันเป็นไปทุกคน” ชาวบ้าน และบรรดาพุทธศาสนิกชนเหล่านั้น ต่างก็พากันได้ยินคำตั้งจิตอธิษฐาน ของพระมหาเถระดังกล่าว ทุกคน แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถกล้าหาญคัดค้าน หรือทูลขออภัยโทษของพระมหาเถระได้ เนื่องจากพากันเกรงกลัวพระราชอาญา ดังที่ว่า “กษัตริย์ตรัสแล้วมิคืนคำ”
เมื่อพระมหาเถระ กล่าวคำตั้งจิตอธิษฐานจบ บรรดาเหล่าทหารเพชรฆาตผู้ทำหน้าที่ ก็ได้ทำพิธีขอขมาลาโทษต่อพระมหาเถระ เจ้าหน้าที่พิธี ก็ได้บรรเลงกลองปี่พาทย์ เพชรฆาตได้ร่ายรำ เมื่อถึงกำหนดเวลา ก็ได้ลงดาบประหารพระมหาเถระดังกล่าว แต่เหตุการณ์ยังไม่จบลงแค่นั้น เมื่อเพชรฆาตได้ลงดาบจนคอพระมหาเถระขาด ก็เกิดเหตุการณ์ ดั่งที่พระมหาเถระได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ เกิดลมพายุ ฟ้าร้อง มืดฟ้ามัวดิน เลือดโลหิตของพระมหาเถระ แม้จะโดนดาบที่คมกริบของเพชรฆาต กลับไม่ไหลลงมาเปื้อนพื้นปฐพี แม้แต่หยดเดียว แต่กลับล่องลอยขึ้นสู่นภากาศ กระเด็นไปไกล ถึงป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ รอมสรี ที่ปัจจุบันชาวบ้านทั่วไปได้เรียกว่า “ดงป่าแดง” โลหิตเลือดของพระมหาเถระ ได้ไปเกาะติดกับใบไม้ โดยไม่ล่วงลงสู่พื้นดิน และที่น่าอัศจรรย์ ที่มีมาให้เห็นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า เป็นเพราะอะไร ป่าไม้บริเวณแห่งนี้ ทุกต้นล้วนแต่มีใบสีแดง จนชาวบ้านพากันขนานนามว่า ป่าไม้ดงแดง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้าน พากันเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
เมื่อทำการประหารเสร็จแล้ว บรรดาเหล่าทหารเจ้าพิธี ก็ได้นำร่างอันไร้วิญญานของพระมหาเถระ ได้ทำพิธีตามอย่างราชประเพณี และได้สร้างสถูปเก็บอัฐิของครูบาไว้ ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสา ในปัจจุบัน ทุกเทศกาลวันสำคัญ ก็จะมีชาวบ้าน มาทำการสักการะบูชาอยู่เป็นเนืองนิจ เช่น การตานขันข้าวร้อยขัน เป็นต้น
ส่วนตำนานเปื้อยเปียง ก็ได้เล่าต่อว่า พระมเหสีพระองค์นี้ ก็ถูกแห่ไปประจานรอบเมือง ก่อนถูกนำตัวไปประหาร ที่ดงไม้บ้านเปื๋อยเปียง ก่อนที่เพชรฆาตจะได้ลงดาบ พระนางได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน ถึงความบริสุทธิ์ใจ ในสิ่งที่พระนางได้ประพฤติปฏิบัติ ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า หากนางไม่มีความผิด ขอให้ต้นไม้บริเวณนี้ จงเจริญเติบโต แต่มีความสูงเท่ากัน และเป็นเหตุให้อัศจรรย์ใจ ดังที่เราได้เห็นว่า ต้นเปื้อยที่บ้านเปื๋อยเปียง มีความสูงพอๆ กันหมดทุกต้น อย่างน่าอัศจรรย์ใจ จึงเป็นที่มา หรือชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ ในกาลต่อมา
กล่าวถึงฝ่ายเจ้าเมือง หลังจากพระองค์ ได้สั่งประหารครูบาปัญญา (ครูบาเจ้าดวงงาม) และพระมเหสีของตนเองแล้ว เมื่อพระองค์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งอัศจรรย์ใจ ที่ได้เกิดขึ้นกับพระมหาเถระ และพระมเหสีของพระองค์แล้ว เจ้าเมืองพระองค์นี้ ก็รู้สำนึกถึงความผิดอย่างมหันต์ ที่พระองค์ทรงฟังความข้างเดียว มีโทสะจริตและโมหจริต ความลุ่มหลงเข้าครอบงำ จะสำนึกผิด ก็ไม่ทันการเสียแล้ว จะทำการใด เพื่อเป็นการไถ่บาป ก็คงไม่สมกับบาปกรรมที่กระทำไว้
หลายแหล่งข้อมูลกล่าวว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ดังกล่าวขึ้น เจ้าเมืองก็เกิดสำนึกผิด และตรอมใจตาย บ้างก็ว่า โดนชาวเมืองรุมประชาทัณฑ์บ้าง บ้างก็ว่า พระองค์เกิดสติวิปลาส กลายเป็นคนบ้าไป บ้างก็ว่า พระองค์ยอมสละราชสมบัติ แล้วเสด็จออกบวชเป็นฤาษีจวบจนสิ้นอายุขัย
หลังจากที่เจ้าเมืองได้ตายไปแล้ว ก็ได้ไปตกนรกอเวจีอยู่นาน และได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อชดใช้กรรมอีกหลายๆ ชาติ และในการเกิดมาแต่ละครั้ง ก็จะเกิดเป็นคนบ้าใบ้ สติไม่ค่อยสมประกอบ เคยมีคนเชื่อในเรื่องของคนประเภทนี้อยู่หลายท่าน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากยามใดที่มีผู้ปกครอง หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่มีตำแหน่งปกครองเมืองแห่งนี้ มารับหน้าที่ทำการปกครอง ไม่ตั้งอยู่ในครรลองครองธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 ไม่บริหารราชการแผ่นดิน ด้วยทศพิธราชธรรม มีแต่อคติความลำเอียง ผู้ปกครองท่านนั้น ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน และมีอันเป็นไปทุกรายไป บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ มากมาย ทั้งข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง เกิดโรคระบาด เหมือนเป็นคำสาป ที่อยู่คู่กับเมืองแห่งนี้ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
จากการบอกเล่า ของผู้ที่สืบทอดตระกูลเจ้าเมืองเชียงคำ และประวัติศาสตร์พงศาวดาร ทำให้เรื่องราวค่อยประติดประต่อ และเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว และเชื่อได้ว่า ตำนานนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตำนานนี้ เชื่อมโยงถึงตำนานเมืองพุทธส หรือ เมืองซะราว
“เจียงคำ”อาณาจักร ของเมืองพุทธรส หรือเมืองชะราวในอดีตกาลนั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง มีอาณาเขตติดพื้นที่ของเมืองคอบ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของ สปป.ลาว) เป็นเมืองที่พักของพ่อค้าวาณิช ที่พักค้างแรมระหว่างทาง ของพวกแกว ขมุ และไทดำ เป็นเส้นทางค้าขาย ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เมืองพุทธรส จึงเป็นเมืองที่มีผู้คน ที่มีความรู้ความสามารถ พูดได้หลากหลายภาษา มีการสัญจรติดต่อค้าขายกัน และมีพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ พระพุทธศาสนา มีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนั้น เป็นศูนย์รวมของตรรกะวิชานานาชนิด และมีครูบาอาจารย์ ที่เป็นนักปราชญ์จำนวนมาก
เมือง พุทธรสหรือเมืองชะราวนั้น มีที่ตั้งเมืองอยู่ติดกับเทือกเขาสิงห์กุตระ (หรือดอยคำ) มีเจ้าเมืองพระนามว่า ชะราว ในระยะแรก เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง และเมืองพุทธรสปกครองตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับหัวเมืองใด แต่บางครั้งยามใดที่บ้านเมืองอ่อนแอ ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองคอบอยู่ และต้องมีการส่งเครื่องราชบรรณาการ ต่อเจ้าเมืองคอบอยู่เป็นเนือง ๆ แต่หากยามใดที่เมืองคอบอ่อนแอ ทางเมืองพุทธรส ก็จะพยายามแข็งข้อ ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการไปมอบให้ และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ ทำให้มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลง เจ้าเมืองพุทธรส ไม่ยอมส่งเครื่องบรรณาการ ไปถวายเจ้าเมืองคอบ เป็นเหตุให้เจ้าเมืองคอบ ได้พากันยกทัพ เข้ามาโจมตีเมืองพุทธรส เมืองพุทธรส ไม่สามารถต้านทานทัพของทางเมืองคอบได้ เลยจำใจยอมสวามิภักดิ์ และได้มอบเครื่องราชบรรณาการ พร้อมยกพระธิดาของพระองค์ ให้ไปเป็นตัวประกัน อยู่ที่เมืองคอบสืบต่อมา
ต่อมา พระธิดาพระองค์นี้ ได้เสด็จหลบหนี กลับมายังเมืองพุทธรสตามเดิม ทำให้เจ้าเมืองคอบ ทรงพิโรธอย่างยิ่ง จึงได้ส่งพวกทหาร พวกแกว พวกญวน เข้าปล้นสะดมภ์ราษฎรอยู่เป็นเนืองๆ จนสิ้นรัชกาลของพระเจ้าฟ้าชะราว
เมื่อสิ้นพระเจ้าเมืองพุทธรสแล้ว เจ้าฟ้าหงษ์สา พระโอรสของพระเจ้าชะราว ก็ได้สืบต่อราชสมบัติปกครองเมืองพุทธรสสืบต่อมา และได้ต่อสู้กับพวกแกวพวกญวน จนสุดท้าย ก็ต่อต้านข้าศึก พวกแกวพวกญวนไว้ไม่ไหว เมืองพุทธรสจึงพ่ายแพ้สงคราม และพระเจ้าหงษ์สาก็ถูกจับตัว ถูกกวาดต้อน พร้อมด้วยการขนทรัพย์สมบัติ และบรรดาเหล่าข้าทาส นางสนมกำนัน บริวารทั้งหลาย กลับไปเป็นเชลยศึกที่เมืองคอบ
เมื่อข่าวล่วงรู้ไปถึงเมืองภูกามยาว หรือพะเยา ว่าพวกแกวพวกญวน ยกทัพเข้ามาโจมตีเมืองพุทธรส พระยาคำแดง พระราชโอรสของพระยางำเมือง แห่งเมืองพะเยา ได้ยกทัพพร้อมม้าศึก จำนวนถึง 500 ตัวมาปราบพวกแกวพวกญวน จนสามารถตีเอาเมืองพุทธรส มาเป็นเมืองขึ้นของพระยาคำแดง แห่งอาณาจักรภูกามยาว (พะเยา) ได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนที่เจ้าเมืองคอบ จะส่งทหารเข้ามาถึงเมืองพุทธรสก่อน
เมื่อปราบพวกแกวพวกญวนได้แล้ว พระยาคำแดง ได้แต่งตั้ง เจ้าฟ้านั่งเมือง ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าฟ้าหงษ์สา อันเป็นเจ้าเมืองพุทธรสเดิม ให้ครองเมืองพุทธรสืบต่อมา และให้เป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรเมืองพะเยา เจ้าฟ้านั่งเมือง พระองค์ได้ทรงปกครองเมืองพุทธรส ด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้เมืองพุทธรส มีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/L5GrLppxxc4?si=QigmaVF1SbfV9R8I
กู่ครูบา หรือ สถูปเจดีย์ บรรจุอัฐิครูบาปัญญา (หรือครูบาดวงงาม)
ตำนาน คูบาคอขาด