ตำนานเมืองท่งสีพูม (เมืองท่งศรีภูมิ) เมืองที่ถูกทำให้ลืม (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)
ย้อนอดีตกลับคืนไป เมื่อ 305 ปีที่ผ่านมา เจ้าแก้วมงคล ได้นำไพร่พลข้ามแม่น้ำโขง มาสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ ภายหลังจำปาสัก แยกตัวตัดขาด จากอำนาจราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และเจ้าแก้วมงคล ได้เลือกชัยภูมิในการสร้างเมือง ณ เมืองท่ง ปัจจุบันคือ บริเวณเมืองเก่า บ้านดงใหม่ ต.ทุ่งศรีเมือง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยเจ้าแก้วมงคลเป็นปฐมเจ้าเมือง เจ้าเมืองเมื่องท่งศรีภูมิท่านแรก
"ปากน้ำภาชีตกลำน้ำมูล ลากยาวตามลำน้ำชี ไปจรดลำน้ำยังตกลำภาชี ลากยาวไปตามลำน้้ำยัง หลักหินทอด ภูดอกซ้อน ยอดยัง ยางสามต้น อ้นสามขวย ผ้าขาวพันนา สนามหมากหญ้า ฝายพญานาค ภูเม็ง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปัก ศาลาหัก มูลเค็ง ลากยาวตามลำน้ำมูล จรดปากลำภาชี ตกลำน้ำมูล" ให้เป็น เขตแดนเมืองท่งศรีภูมิ หรือ สุวรรณภูมิ นับแต่ปี พ.ศ. 2256
เมื่อเจ้ามืดคำดล เจ้าเมืองคนที่ 2 ครองเมืองท่ง อยู่ 38 ปี (2268-2306) และเมื่อเจ้ามืดคำดลถึงแก่กรรม ได้มีใบบอกแต่งตั้ง จากนครจำปาสัก แต่งตั้งให้ท้าวทน ผู้เป็นน้องชาย และดำรงตำแหน่ง อุปฮาด ขึ้นครองเมืองต่อจากพี่ชาย นาม เจ้าสุทนต์มณี เจ้าเมืองท่งศรีภูมิคนที่ 3 (2306-2307)
จากการขึ้นครองเมืองของ เจ้าสุทนต์มณี ผู้เป็นอา ทำให้ ท้าวเซียงและท้าวสูน ผู้เป็นบุตรชายของ เจ้ามืดคำดล และดำรงตำแหน่ง ราชบุตร ในขณะนั้น เกิดความไม่พอใจ จึงได้ลงไปเข้าเฝ้า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ เพื่อขอสวามิภัดิ์ และขอกำลังช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาซึ่งกรุงศรีอยุธยาเอง ก็ต้องการขยายอำนาจ จึงได้ส่งกำลังทหารมาช่วยท้าวเซียงท้าวสูน เพื่อยึดเมืองจากผู้เป็นอา โดยยั้งทัพไว้ที่บริเวณ แดนเมืองท่งศรีภูมิต่อเมืองพิมาย (ปัจจุบัน เขตอำเภอพุทไธสง )
ในปี ๒๓๐๘ เมืองศรีภูมิ ก็ขาดจากการเป็นประเทศราช ของราชอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก มาขึ้นกับราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่บัดนั้น เจ้าสุทนต์มณี ผู้เป็นอา เมื่อเห็นว่า ทหารจากอยุธยามาบีบคั้น ไม่อยากทำสงครามให้เสียเลือดเนื้อ จึงได้นำไพร่พลเชื้อสายล้านช้าง ไปยั้งทัพตั้งค่ายรอ บริเวณ บ้านดงเมืองจอก (ปัจจุบัน เขตอำเภออาจสามารถ )
ต่อมา ในปี 2318 กรุงธนบุรี ได้ส่งพระยากรมท่า ได้เข้ามาเจรจา ให้เจ้าสุทนต์มณี ยอมสวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรกรุงธนบุรี เมื่อเจ้าสุทนต์มณี ยอมสวามิภักดิ์แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เป็น พระขัติยะวงษา(พิสุทธาธิบดี) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ท่านแรก โดยให้ย้ายมาตั้งบ้านเมือง ณ บริเวณเมืองเก่า บ้านกุ่มฮ้าง ซึ่งเป็นร่องรอยเมืองเดิม “สาเกตุนคร” ขึ้นเป็น เมืองร้อยเอ็ด ในปี 2318 ณ บัดนั้น
ส่วนท้าวเซียง ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิ เป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิ ลำดับที่ ๔ ต่อจากอา เป็นเวลา 7 ปี (2308 - 2315-ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา) ได้เล็งเห็นว่า ชัยภูมิเมืองเดิม อยู่ติดลำเสียว ในเวลาหน้าฝน น้ำจะเชี่ยวและไหลแรงมาก ลำน้ำได้ซัดกัดเซาะตลิ่งเมือง
ในปี 2315 จึงได้ขอพระบรมราชานุญาต ย้ายชัยภูมิตั้งเมืองใหม่ ห่างจากสถานที่เดิม 400 เส้น บริเวณบ้านดงเมืองหาง ในเขตตำบลดงท้าวสาร หรือบริเวณเมืองสุวรรณภูมิเก่า ในปัจจุบัน
พระเจ้าตากสิน แห่งกรุงธนบุรี โปรดเกล้า พระราชทานนามเมืองใหม่ ว่า “สุวรรณภูมิ” และท้าวเซียงได้รับสถาปนาเป็น พระรัตนวงษา เจ้าเมืองคนแรก เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ณ ที่ตั้งใหม่ ท่านแรก โดยมีอาณาเขตเดิมของเมืองท่งศรีภูมิ เป็นเขตขัณฑสีมา ทุกประการ
ในปี 2330 ท้าวสูน ผู้เป็น น้องชาย ของ พระรัตนวงษา (เซียง) และดำรงตำแหน่ง "อุปฮาด" ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ส่วนท้าวเพ (บุตรของ พระรัตนวงษาเซียง) ซึ่งดำรงตำแหน่ง "ราชบุตร" ในขณะนั้น เพื่อสนับสนุนและป้องกัน ปัญหาการครองเมืองดังในอดีต รวมทั้งเป็นเมืองบริวาร และป้องกันเมืองสำคัญด้านทิศเหนือ คือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู)
พระรัตนวงษา(สูน) จึงได้ขอพระราชทาน ให้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ท้าวเพ ไปตั้งเมืองใหม่ และแบ่งเขตดินแดนทางตอนเหนือ ของเมืองสุวรรณภูมิ (ภายหลัง เป็นเขตของเมืองร้อยเอ็ดแล้ว) ให้ ท้าวเพ ได้ปกครอง เมืองสุวรรณภูมิ จึงได้แบ่งไพร่พล ให้ จำนวน 600 คน ไปตั้งเมืองบริเวณเมืองเก่า ขึ้นเป็นเมืองหนองหาน ปัจจุบัน คือ อำเภอหนองหาน และสถานปนาพระยศ ท้าวเพ เป็น "พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์" เจ้าเมืองหนองหานท่านแรก ในปี 2330
ต่อมา ในปี 2335 ได้มีเหตุ ทิดโคตร ก่อคดีได้ใช้มีดฟัน เจ้าเมือง คือ พระรัตนวงษา (สูน) เสียชีวิต ท้าวอ่อน จึงได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ (ในพงศาวดารภาค 4 บันทึกไว้ว่า "ลุจุลศักราช 1154 ปีชวดจัตวาศก หรือ ปี พ.ศ. 2335 ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ มีคนลอบฟันท้าวสูน ผู้เปนอุปราชเจ้าเมือง ถึงแก่กรรม ท้าวเพี้ยกรมการ จับตัวทิดโคตรพิจารณา ได้ความเปนสัตย์ว่าเปนผู้ฟัน ทิดโคตรถูกเฆี่ยนตายอยู่กับคา แล้วเจ้าเมืองกรมการ จึงมีบอกลงมายังกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวอ่อนท้าว บุตรพระขัติยวงษา (ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า ซึ่งได้มาถวายตัวเปนมหาดเล็กอยู่ในกรุงเทพ ฯ นั้น เปนอุปราชเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานหมวกตุ้มปี่ กระบี่บั้งทองเปนเกียรติยศ"
ในปีนั้นเมืองแสน ชื่อ "ท้าวคำพาว" หรือเรียก "ท้าวคำพาวเมืองแสน" ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ของเจ้าแก้วมงคล ("ขื่อเมือง" ซึ่งเป็นตำแหน่งกรมการเมือง หรือกรรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ คือมหาเสนาบดีของเมือง แยกการปกครองออกจากผู้ช่วยอาญาสี่ประเภท ท้าวทั้งสี่ต่างหาก ขื่อเมืองมี 2 ตำแหน่ง คือ เมืองแสน ทำหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายทหาร และเมืองจันทน์ ทำหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายพลเรือน )
สุวรรณภูมิไม่ถูกกันกับ พระรัตนวงษา (อ่อน) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ จึงได้อพยพพร้อมผู้คนจำนวนหนึ่ง หนีออกมาตั้งบ้านหนองกองแก้ว (บริเวณอำเภอชนบทปัจจุบัน) สมัครทำราชการ ขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมา จึงบอกกราบบังคมทูล ขอตั้งให้ "ท้าวคำพาว" ตำแหน่ง เมืองแสน ของเมืองสุวรรณภูมิ มาแต่เดิมนั้น เป็นเจ้าเมือง และขอยกบ้านหนองแก้วขึ้นเป็นเมือง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ "ท้าวคำพาว" เมืองแสนเป็น ที่ "พระจันตะประเทศ" เจ้าเมืองชนบท และยกบ้านหนองแก้ว ขึ้นเป็นเมืองชนบท ขึ้นเมืองนครราชสีมา แบ่งเอาที่ดินเมืองสุวรรณภูมิไป ตั้งแต่ตำบลบ้านกู่ทอง ไปจนถึงหนองกองแก้ว เป็นเขต ของเมืองชนบทแต่ครั้งนั้น
ต่อมาในปี 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าให้รับครัวเรือนพลเมือง กลุ่มเจ้าโสมพระมิตร ที่หนีความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้ครองนครเวียจันทน์ มาทางเมืองผ้าขาว พันนา สกลนคร ให้ข้ามภูพาน มาตั้งบ้านเมือง ในเขตของเมืองร้อยเอ็ด และยกฐานะเป็นเมืองกาฬสินธ์ สถาปนาพระยศ ให้เจ้าโสมพระมิตร เป็นพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
ปีมะเส็งนพศก พ.ศ. 2340 เสนาเมืองสุวรรณภูมิ ตำแหน่งเพี้ยเมืองแพน เห็นว่า เมืองแสน อพยพไปสร้างเมืองชนบท ได้เป็นเจ้าเมือง จึงมีความประสงค์อยากเป็นบ้าง ได้นำไพร่พลที่สมัครใจได้ 300 คนเศษ ไปสมัครขึ้นกับเมืองนครราชสีมา มีใบบอกไปกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอน เป็นเมืองขอนแก่น และตั้งให้ เพี้ยเมืองแพน เป็น พระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร เจ้าเมืองขอนแก่น
ในช่วงเวลานั้น สยามประเทศรบกับเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ กรุงเทพฯ ได้ระดมกำลังพลแถบอีสาน พระรัตนวงษา ได้ส่งกำลังไปร่วมรบ ได้ชัยชนะกลับมา มีเสนาเมืองสุวรรณภูมิ ที่อาสาศึกครั้งนี้ มีความชอบ คือ โปรดเกล้าฯ ให้เพี้ยศรีปาก (นา) เป็นพระเสนาสงคราม และยกบ้านหมากเฟือง บ้านหนองหัวแรด ขึ้นเป็นเมืองพุดไทยสง โปรดเกล้าฯ ให้เมืองสุวรรณภูมิ แบ่งเขตแดนให้ ดังนี้ “ตั้งแต่ฟากลำพังชู ตะวันออก ไปถึงลาสะแอก เป็นเขตเมืองพุดไทยสง” ในปี พ.ศ. 2342
ในสมัยหลัง แบ่งเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์ประเทศราช เป็นเมืองร้อยเอ็ด หนองหาน ชนบท ขอนแก่น และ ร้อยเอ็ด ยกดินแดนให้กลุ่มเจ้าโสมพระมิตร เป็นเมืองกาฬสินธุ์แล้ว สุวรรณภูมิ ยังคงสถานะเป็นประเทศราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นเมืองที่เจ้าเมืองทั้งหลายต่างยกเว้น กลุ่มเจ้าโสมพระมิตร เมืองกาฬสินธุ์ ล้วนเป็นลูกหลานของเมืองสุวรรณภูมิทั้งสิ้น
ปี พ.ศ.2408 พระขัติยวงษา (ท้าวสาร) เจ้าเมืองร้อยเอ็จคนที่ 5 มีใบบอก ขอยกบ้านลาดกุดนางใย หรือกุดยางใหญ่ เป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า ให้ยกบ้านกุดนางใย เป็นเมืองมหาสารคาม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาไชย (กวด) เป็นพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองมหาสารคาม คนแรก
(เมืองโกสุมพิสัย-พระสุนทรพิพิธ (ท้าวสุริโย)
(เมืองวาปีปทุม-พระพิทักษ์นรากร(บุญมี) )
เกิดปัญหาการแย่งครองเมือง เป็นเจ้าเมืองคนที่ 11 ระหว่างอากับหลาน เพื่อลดความขัดแย้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาบ้านดอนสำโรง เป็นเมืองเกษตรวิสัย (2415) และให้ท้าวเหง้า เป็น พระศรีเกษตราธิไชย เจ้าเมืองคนแรก แต่ท้าวเหง้า พาไพร่พลไปตั้งอยู่ที่บ้านกู่กระโดน หาได้ไปตั้งอยู่ที่บ้านดอนสำโรง ตามรับสั่งแต่อย่างใดไม่ และปัญหาการแย่งชิง ขึ้นเป็นเจ้าเมืองคนที่ 12 กันอยู่หลายปี
รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญตา บุตรชายเจ้าเมืองคนเก่า ไปตั้งเมืองใหม่ สถาปนาบ้านโป่ง เป็นเมืองพนมไพรแดนมฤค ท้าวบุญตา เป็น พระดำรงฤทธิไกร เจ้าเมืองคนแรก แต่ว่าท้าวบุญตา มิได้ไปตั้งเมืองที่บ้านโป่ง กลับไปตั้งอยู่บ้านเมืองแสน ห่างออกไป 300 เส้นเศษ นอกจากนี้ ยังได้ขยายอำนาจ โดยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองเสือ เป็นเมืองพยัคภูมิพิสัย ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์ และตั้งให้ท้าวขัติยะ (ท้าวเทศ-บุตรชาย เจ้าเมืองคนที่ 12) เป็น พระศรีสุวรรณวงศา เจ้าเมืองคนแรก
ในปี 2425 พระรัตนวงศามหาขัติยราช (ท้าวคำสิงห์-12) ได้มีใบบอก ขอยกบ้านเมืองหงศ์ เป็นเมืองจตุรพักตรพิมาน และหลวงพรหมพิทักษ์ (ท้าวพรหม-บุตรชาย) เป็นพระธาดาอำนวยเดช เจ้าเมืองคนแรก แต่ท้าวพรหม หาได้พาไพล่พล ไปตั้งเมืองที่บ้านเมืองหงส์ไม่ กลับไปตั้งเมือง ณ บ้านเปลือย ใกล้หนองหัวช้าง ขึ้นต่อเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์
ในสมัยนี้ เมืองชั้น โท ชั้นตรี และชั้นจัตวา ทั้ง 4 เมือง ล้วนขึ้นตรง กับ เมืองสุวรรณภูมิ ทั้งสิ้น ได้แก่ เมืองเกษตรวิสัย, เมืองพนมไพรแดนมฤค, เมืองพยัคฆภูมิพิสัย และเมืองจุตรพักตรพิมาน
ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำเภออาจสามารถนั้น แต่เดิมชื่ออำเภอสระบุศย์ เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เสด็จมาตรวจราชการที่เมืองร้อยเอ็ด ทรงทราบว่าบ้านสั้น เขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภออาจสามารถปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างเมืองสุวรรณภูมิ กับเมืองร้อยเอ็ด มีผู้ร้ายชุกชุมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น เพื่อปราบปรามโจรผู้ร้ายดังกล่าว และเรียกชื่อว่า ”อำเภอสระบุศย์“ ให้ขุนมัณธนานุกร (ชม ) โปรดเกล้าให้เป็นข้าหลวง กำกับราชการเมืองสุวรรณภูมิ เป็นนายอำเภอคนแรกในปี พ.ศ. 2440
ครั้นต่อมา ทางราชการยุบอำเภออาจสามารถ แขวงเมืองกาฬสินธุ์ ลงเป็นตำบล จึงเอานาม “อาจสามารถ“ แทนชื่อเมืองสระบุศย์ ขึ้นตรงต่อเมืองร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2456
ในปี พ.ศ.2443 ในห้วงเวลานี้ สยามประเทศ ถูกคุกคามจากมหาอำนาจ ที่แสวงหาเมืองขึ้น คืออังกฤษกับฝรั่งเศส ทำให้ต้องปฏิรุูป การปกครองหัวเมืองภาคอีสานใหม่ ยกเลิกตำแหน่ง อาญาสี่ โดยเปลี่ยนจากระบอบเจ้าเมือง ซึ่งมีการสืบทอดทางสายเลือด และสายตระกูล จากพ่อสู่ลูก จากพี่สู่น้อง มาเป็นระบอบเทศาภิบาล มีการแต่งตั้งขุนนางข้าหลวงจากส่วนกลาง มาเป็นผู้ปกครองเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกเจ้าเมือง เป็น “ผู้ว่าราชการเมือง” และถูกลดอำนาจลงเป็นแค่อำเภอ ในปี 2451 และต่อมา พ.ศ. 2522 ยกกิ่งอำเภอเมืองสรวง เป็นอำเภอเมืองสรวง และสุดท้าย ปี 2532 ยกกิ่งอำเภอโพนทราย เป็นอำเภอโพนทราย
ในปัจจุบัน อำเภอสุวรรณภูมิ ยังคงมีพื้นที่ทั้งหมด 1,007 ตารางกิโลเมตร มากที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด และประชากรกว่า 116,000 คน มากเป็นอันดับ 3 ของจังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นกรมการปกครองจัดลำดับชั้น ให้เป็นอำเภอชั้น 1 ซึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดมี 2 อำเภอ คืออำเภอเมืองร้อยเอ็ด และอำเภอสุวรรณภูมิ
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/bHWCbj-wo2I?si=g3bF-uEgIMzt5aOJ
ตำนานเมืองท่งสีพูม