หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

เมืองศังขปุระ ชุมชนโบราณ ดงเมืองเตย

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

ปราสาทดงเมืองเตย หรือ เมืองศังขปุระนคร ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเตย หมู่ที่ 8 ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) ระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 2,500 ปี-พุทธศตวรรษที่ 22 มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 140 เมตร

ตำนาน และประวัติศาสตร์บ้านสงเปือย กล่าวถึงดงเมืองเตย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านสงเปือยไว้ว่า ดงเมืองเตยเป็นเมืองเก่าสมัยขอม จะเป็นเมืองร้างมาแล้วนานเท่าไรไม่ทราบได้ สภาพที่เห็นมา จากปู่ย่าตาทวด หลายชั่วอายุคน ดงเมืองเตย มีป่าไม้ขึ้นสูง ข้างล่างโปร่ง มีหมู่ไม้เล็กๆ ขึ้นบ้าง ต้นไม้ใหญ่ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้ยางเหียง เป็นป่าหนาแน่นมาก พวกพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่กล้าตัดต้นไม้ในดงนี้ เพราะดงเมืองเตยมีผีดุเรียกว่า ผีปู่ตา ป่าไม้จึงเป็นที่อาศัยของลิง และนกหลายจำพวก บึงรอบบริเวณดงเมืองเตยเป็นหนองน้ำขนาดลึกมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยและเป็นที่เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ นอกจากนกจำพวกต่างๆ แล้วบึงนี้ได้ชื่อว่ามีเต่ามากที่สุด เหตุที่มีเต่ามากเช่นนี้ชาวบ้านนับถือผีปู่ตา ปู่ตาห้ามจับกินทำลายสัตว์พาหนะของท่าน คือ ลิงและเต่า ถ้าเกิดทำอันตรายขึ้นมา จะต้องมีอันเป็นไป ต่อมาเมื่อประมาณ 90 ปีมาแล้ว ชาวบ้านสงเปือยมีหมอร่ำเรียนวิชาอาคมมาทำพิธีปราบผีดงเมืองเตยได้ หมอผู้มีวิชาอาคมผู้นี้ชื่อ ผู้ใหญ่สุวอ เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยพ่อใหญ่อัครฮาด เป็นตาแสง เมื่อชาวบ้านใกล้ไกลได้ยินข่าวพ่อใหญ่สุวอข่มผีดงเมืองเตยได้แล้ว ก็พากันหลั่งไหลมาจับเต่าปลาดงเมืองเตยไปเป็นอาหารจนเกือบเกลี้ยงบึง เต่าจึงเกือบสูญพันธุ์มาจนบัดนี้ พ่อใหญ่สุวอได้แบ่งปันที่บึงออกเป็นที่นาให้พี่น้องญาติมิตรทำนามาจนทุกวันนี้ ส่วนบริเวณดงเมืองเตยได้แบ่งบันทำไร่ สวน ปลูกพืชทำกินมาเท่าทุกวันนี้ อันนี้เป็นเรื่องจริง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุครบ 90 ปี เช่น พ่อใหญ่อ่อน หอมกลิ่น พ่อใหญ่บู กกเปือย ยังมีชีวิตเป็นพยานอยู่ จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุประมาณ 90 ปี ของบ้านสงเปือย เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดงเมืองเตย กล่าวว่า เห็นสภาพของดงเมืองเตยตั้งแต่เยาว์วัย ก็คงสภาพที่เป็นในปัจจุบัน คือเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ เหตุที่ได้ชื่อว่าดงเมืองเตย เนื่องจากบริเวณโดยรอบดงเมืองเตย มีต้นเตย ซึ่งมีผลกลมเป็นเครือขึ้นอยู่โดยรอบนั่นเอง

จากการศึกษา ของนักโบราณคดีกรมศิลปากร และนักวิชาการต่างๆ พบว่า ชุมชนโบราณดงเมืองเตย ปรากฏการตั้งถิ่นฐาน มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนิน ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ คงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวในช่วงระยะเวลานี้ มีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลภายในภูมิภาค มีการถลุงและผลิตเหล็ก (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12) คงมีการส่งเหล็กเป็นสินค้าออกส่วนหนึ่ง เพราะได้พบปริมาณเศษตะกรันเหล็ก เป็นจำนวนมาก ภายในชุมชน การอยู่อาศัย มีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน ประชากรของชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น เกิดอาชีพต่างๆขึ้น ชุมชนคงมีการขยายตัว เกิดผู้นำชุมชน และต่อมาจึงมีการขุดคูน้ำและทำคันดินขึ้น อาจแสดงให้เห็นถึงการมีระบบชนชั้นขึ้นแล้ว

สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยเกิดผู้นำชุมชนอย่างเด่นชัด มีระบบการปกครองในระบบกษัตริย์ มีพัฒนาการเข้าสู่สังคมเมือง ชุมชนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร เหตุที่อิทธิพลเขมรเข้ามาครอบคลุมตั้งแต่ช่วงต้นประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเพราะชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้กับเส้นทางที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ชุมชนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทวารวดีด้วย พัฒนาการชุมชนโบราณแห่งนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ได้รับอิทธิพลทั้งวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร หลังจากนั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือ 18 ชุมชนได้รับวัฒนธรรมเขมรเพียงอย่างเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางทางศาสนาเพียงแห่งเดียว ประชากรของเมืองคงมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีการขยายขนาดของชุมชนออกไป การอยู่อาศัยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาบ้าง เช่น เปลี่ยนจากศาสตรพราหมณืเป็นศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงใช้ศาสนสถานหลังเดิมเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชนได้เป็นอย่างดี ภายหลังชุมชนโบราณดงเมืองเตยร้างไป อาจจะในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 และได้มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22

ดงเมืองเตย เป็นเมืองโบราณ ที่ตั้งอยู่บนเนินดิน รูปค่อนข้างรีไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 650 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 450 เมตร เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองเพียงชั้นเดียว มีคันดินขนาดเล็กอยู่รายรอบตัวเมืองทั้งด้านในและนอกคูเมือง คูเมืองมีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 100 เมตร สภาพของคูในปัจจุบันได้ตื้นเขินกลายสภาพไปเสียเป็นส่วนมาก ทางด้านทิศใต้มีคูเมืองยังคงมีน้ำขังอยู่บางส่วน เรียกว่า “หนองปู่ตา” หรือ “พุดตา” ทางด้านทิศตะวันออกมีคูเมืองเรียกว่า “หนองบัวขาว” ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มี “หนองอีตู้” ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีคูเมืองเรียกว่า “หนองฝักหนาม” สภาพของคูเมืองยังปรากฏให้เห็นที่หนองฝักหนาม หนองอีตู้ และหนองปู่ตา ส่วนหนองบัวขาวปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทั้งนี้ห่างออกไปจากเมืองโบราณประมาณ 2.5 กิโลเมตร ทั้งทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ เป็นลำน้ำและหนองน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำชีสายเดิม มีด้วยกันหลายชื่อ ได้แก่ น้ำหนองบอ ลำห้วยลำร่องบ่อ ลำชีหลง ห้วยกะหล่าว ลำตาเงย ลำปลาก้าม ห้วยพันหม เป็นต้น ส่วนแม่น้ำชีสายปัจจุบันไหลอยู่ห่างจากชุมชนโบราณดงเมืองเตยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร บนตัวเนินดงเมืองเตยปัจจุบันเป็นป่าโปร่งและเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ ไม่มีบ้านเรือนราษฎร พื้นที่รอบเนินดินเมืองโบราณเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาปลูกข้าว ห่างออกไปด้านทิศเหนือของเมืองโบราณเป็นเนินดินที่ตั้งของชุมชนปัจจุบัน คือชุมชนบ้านสงเปือย ภายในบริเวณตัวเมืองโบราณด้านทิศเหนือปรากฏมีซากโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐและหินทรายอยู่ในบริเวณพื้นที่ของสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย และทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากสำนักสงฆ์ดงเมืองเตยเคยปรากฏว่ามีการขุดพบใบเสมาด้วย

ลักษณะธรณีสัณฐาน ของเมืองโบราณดงเมืองเตย เกิดจากการทับถม ของตะกอนลำน้ำ โดยเฉพาะลำน้ำชี และลม พัดพาเอาตะกอนมาทับถม และมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่มีระดับแตกต่างกันออกไป เช่นที่ราบน้ำท่วมถึงที่มีตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถม ในฤดูฝนมักถูกน้ำท่วม พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชสวนครัวและพืชไร่ ดินที่พบมักมีอายุน้อย ชั้นดินไม่ชัดเจน แต่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นตะกอนใหม่และมีการทับถมเกือบทุกปี บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ จะมีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงดังกล่าวข้างต้น แต่ยังมีพื้นที่ราบเรียบ การทับถมของตะกอนใหม่ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบางปีที่มีน้ำท่วมมาก อาจจะมีตะกอนทับถมเป็นชั้นบางๆที่ผิวดินบน เป็นสภาพธรณีที่มีสภาพคงตัวและเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุมาก ในพื้นที่นี้จึงมีลักษณะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนและดินส่วนใหญ่มีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลว ใช้ประโยชน์ในการทำนา

อีกพื้นที่หนึ่ง คือบริเวณลานตะพักลำน้ำ ระดับกลางและระดับสูง มีสภาพสูงขึ้นไปจากลานตะพักลำน้ำระดับต่ำตามลำดับ และมีลักษณะเป็นรูปลูกคลื่นไม่ราบเรียบ พื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับกลาง ดินส่วนใหญมีสีน้ำตาล เหลือง หรือน้ำตาลปนเหลือง ส่วนพื้นที่ระดับสูง ดินมีสีแดง ระบายน้ำได้ดี พื้นที่ทั้งสองระดับนี้ล้วนเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ และลมพามาทับถมกันเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นชั้นดินที่พบบริเวณนี้จึงมีหน้าตัดดินเกิดขึ้นใหม่ให้เห็นอย่างชัดเจน การใช้ประโยชน์ของดินส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ บางส่วนยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ดินในบริเวณดงเมืองเตย ประกอบไปด้วยดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series และ Loamy Phase) และดินชุดโคราช (Korat Series) ชุมชนโบราณดงเมืองเตย คงตั้งถิ่นฐานอยู่ในสภาพพื้นที่แบบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่จากแผนที่ทหาร มีความสูงประมาณ 126 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งที่ราบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120-150 เมตร และดินบริเวณนี้เป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series) และดินชุดโคราช (Korat Series) ดินทั้งสองเป็นชุดดินที่พบในบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ โดยดินชุดร้อยเอ็ดจัดเป็นดินโลว์ฮิวมิคเกลย์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว

ลักษณะทางกายภาพ เป็นเนินดินรูปวงรีมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ขนาดเฉลี่ย 650x360 เมตร ด้านทิศเหนือของเมืองพบซากเทวาลัยสร้างก่ออิฐติดชิดกันไม่สอปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ตอนกลางด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้นแบบมีอัฒจันทร์ประดับฐานบันไดด้านหน้า ทั้งยังพบกูฑุที่เป็นซุ้มขนาดเล็กภายในสลักใบหน้าบุคคล เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระอิศวร ตามหลักฐานจารึกหินทรายสีแดงอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตที่พบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 เนื้อความโดยสรุปกล่าวถึง การสร้างเทวสถานถวายแด่พระอิศวร โดยพระนางศรีมานุญชลีบุตรีคนที่ 12 ของพระศรีมารประวรเสนะผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ และพบสิงห์สลักจากหินทรายสีขาว สภาพสมบูรณ์ ลักษณะศิลปกรรมแบบเขมรสมัยแปรรูป อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทรายและศิลาแลงจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาของผู้คนในดงเมืองเตยในเวลาต่อมา

เอกลักษณ์ดงเมืองเตย คือ ลักษณะอาคาร ที่มีบันไดเป็นรูปอัฒจันทร์ และชิ้นส่วนประดับอาคารรูปกูฑุ ที่ภายในสลักใบหน้าบุคคล แสดงถึงอิทธิพลอินเดีย สมัยคุปตะ-หลังคุปตะในศิลปะทวารวดี เช่นเดียวกับที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม โบราณสถานดงแม่นาเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โบราณสถานหมายเลข 18 เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

รายละเอียดของยุคสมัย ระยะที่ 1 อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ปรากฏร่องรอยกิจกรรมการถลุงและผลิตเหล็กในระดับอุตสาหกรรมในระยะแรกเริ่ม เช่นเดียวกับชุมชนร่วมสมัยต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลและชี สภาพพื้นที่เนินดินแห่งนี้เหมาะกับตั้งเป็นชุมชน โดยเฉพาะการตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำและแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำชี ชุมชนคงมีการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่การอยู่อาศัยในช่วงแรกๆ พบว่ามีการใช้ฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำภาชนะดินเผาอย่างแพร่หลาย ภาชนะดินเผาที่ใช้กันในสมัยนี้มีรูปทรงธรรมดาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อก้นกลม ชาม อ่าง จากปริมาณเศาภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าระยะที่ 1 นี้น่ายังมีประชากรไม่หนาแน่นมากนัก

ระยะที่ 2 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพบเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยการเขียนสีขาวเป็นเส้นตั้งสั้นๆ บริเวณขอบปากด้านใน การตกแต่งภาชนะลักษณะนี้เรียกว่าภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดหรือแบบทุ่งกุลา เคยพบที่แหล่งโบราณคดีโนนยาง จ.สุรินทร์ และแหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก จ.นครราชสีมา ในเขตลุ่มแม่น้ำมูล มีอายุเชิงเทียบอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 1-11 กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ เช่น การเพาะปลูกข้าว การผลิตภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเองภายในชุมชน เนื่องจากภาชนะดินเผามีทั้งรูปทรงธรรมดาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทรงหม้อก้นกลม ทรงชาม และทรงอ่าง การตกแต่งมีลวดลายขูดขีด เชือกทาบ และเรียบ นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาจากต่างถิ่น ดังเช่นภาชนะดินเผาที่มีการเขียนสีขาว กิจกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ของผู้คนในชุมชน แต่คงไม่มีสถานภาพแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากไม่พบหลักฐานการเกิดระบบชนชั้นเหมือนกับที่พบในชุมชนร่วมสมัยเช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม นอกจากนี้ ยังพบกระบอกอัดลมแบบสองสูบที่ใช้ในการถลุงโลหะและเศษตะกรันเหล็ก แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านเหล็ก

ระยะที่ 3 มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีการถลุงและผลิตเหล็กระดับอุตสาหกรรม พบหลักฐานการนำเศษตะกรันเหล็กจำนวนมากมาถมอัดเป็นฐานรองรับน้ำหนักของตัวอาคารที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 จากการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาซึ่งเป็นภาชนะที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปะปนกับเศษตะกรัน (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535:203) การผลิตเหล็กในชุมชนแห่งนี้ส่วนหนึ่งคงใช้เป็นสินค้าค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก นอกจากนี้ยังพบว่านิยมใช้ภาชนะดินเผาแบบทาน้ำดินสีแดง และประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 สังคมของชุมชนในช่วงนี้เป็นสังคมเมืองอย่างชัดเจน มีชนชั้นปกครอง มีการขุดคูน้ำทำคันดิน โดยคูน้ำของเมืองถูกขนาบด้วยค้นดินทั้ง 2 ข้าง ชี้ให้เห็นว่าสร้างคูน้ำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์สำคัญนการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในชุมชน การขุดคูน้ำจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก การควบคุมคนก็ต้องมีผู้นำในการควบคุมและจัดระเบียบให้งานเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การขุดคูน้ำและทำคันดิน ของชุมชนแห่งนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาใด อาจเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 แต่จากหลักฐานของโบราณสถานและจารึกที่กล่าวนามของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสังคมเมืองได้อย่างชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าการขุดคูน้ำที่ดงเมืองเตยในลักษณะวงกลมหรือวงรีนั้น ชาวเมืองได้ขุดตามแอ่งยุบรอบเนินดินหรือโดมเกลือที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีอยู่แล้ว ลักษณะร่วมอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดงเมืองเตยกับชุมชนอื่นๆในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (2,500 ปีมาแล้วลงมา) อย่างหนึ่งคือประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 โดยการฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ หรือไห จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ของพื้นที่แถบนี้สัมพันธ์กับช่วงเวลาการเริ่มต้นกิจกรรมการถลุงเหล็ก ซึ่งการฝังศพครั้งที่ 2 ที่ดงเมืองเตยนี้อยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว อาจเกิดการเผาศพขึ้น แต่ก็อาจยังปรากฏประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 อยู่ก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ และเมืองนครจำปาศรี จ.มหาสารคาม เป็นต้น

ระยะที่ 4 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 สภาพชุมชนเป็นสังคมเมือง มีการสร้างศาสนสถาน หลักฐานจากจารึก แสดงให้เห็นถึงการมีกษัตริย์ปกครองชุมชน อาจมีการขุดคูน้ำทำคันดินในช่วงเวลานี้ จากหลักฐานด้านจารึก และโบราณสถาน แสดงให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมเจนละ เข้ามาในชุมชน เพราะอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคม และแพร่กระจายวัฒนธรรมเขมร เข้ามาทางจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ส่วนอิทธิพลด้านการเมือง ชื่อของกษัตริย์ มีพระศรีมานปรเวลสนะ ซึ่งได้เป็นผู้ปกครองเมืองศังขปุระ (สันนิษฐานว่า อาจเป็นเมืองโบราณดงเมืองเตย) อาจเป็นขุนนาง ที่ทางอาณาจักรเจนละ ส่งเข้ามาปกครองหรือเป็นเจ้านายพื้นเมืองเดิมอยู่แล้ว ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาณาจักรเจนละ ให้ปกครองเมืองต่อไป โดยกษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย สถานะผู้ปกครองเป็นเทพเจ้า เห็นได้จากข้อความในจารึก กล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์ และรูปแบบของโบราณสถาน ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร สมัยก่อนเมืองพระนคร ระยะต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชุมชนแห่งนี้ เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เพราะพบหลักฐานการปักใบเสมาหิน พระพุทธรูป (ปางสมาธิ) หัวนาค ของส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรก และอาจตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมร แม้ว่าจะไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน ถึงอิทธิพลกษัตริย์ขอม ต่อเมืองโบราณแห่งนี้ แต่จากจารึกโนนสัง จ.ยโสธร พ.ศ. 1432 ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า กษัตริย์องค์ใดโปรดให้สร้างขึ้น ระหว่างพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1420-1432) หรือพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1432-1443 หรือ 1453) โดยจารึก กล่าวถึงการสถาปนา และถวายสิ่งของแด่พระไตรโลกนาถ เพื่อที่จะทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

การอยู่อาศัยของผู้คน และพัฒนาการของชุมชนแห่งนี้ ดำเนินเรื่อยมา ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรอย่างชัดเจน มีการใช้ประโยชน์จากโบราณสถาน ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว เป็นศูนย์กลางของเมืองต่อไป ดังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์ 1 ตัว จากการขุดแต่ง บริเวณลายทางเดินด้านหน้า ที่จะเข้าสู่ตัวโบราณสถานทางทิศตะวันออก ประติมากรรมรูปสิงห์ดังกล่าว มีลักษณะทางศิลปะแบบเขมรสมัยบาปวน (กลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17) และจารึกขนาดเล็ก ที่เมืองโบราณแห่งนี้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 หลักจากกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน ของการอยู่อาศัยของผู้คน ณ ชุมชนแห่งนี้ มีเพียงชิ้นส่วนจารึกขนาดเล็ก ซึ่งมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ดังที่กล่าวมาแล้ว และเครื่องถ้วยเขมร ที่มีอายุค่อนข้างกว้าง อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่หักฐานเด่นชัด ที่จะกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาหลังพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมาแล้ว จะมีคนอยู่อาศัยต่อมา ถ้ามีผู้คนอาศัยอยู่ต่อมา บริเวณชุมชนแห่งนี้คงได้รับอิทธิพลทางการเมืองกษัตริย์เขมร โดยเฉพาะในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656 ถึงหลัง 1688) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761?)

ในรัชกาลของทั้ง 2 พระองค์ ได้แพร่กระจายอำนาจครอบคลุมชุมชนต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่างกว้างขวาง หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณแห่งนี้ คงถูกทิ้งร้างไป เนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัย ในระยะต่อมาเลย จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 คงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณชุมชนแห่งนี้บ้าง เป็นครั้งคราว เนื่องจากได้พบหลักฐานของเครื่องถ้วยสุโขทัย และเครื่องถ้วยเวียดนาม ที่น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนไม่อาจกล่าวได้ว่า มีการอยู่อาศัยที่หนาแน่นอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลายาวนาน

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/csbT9yr-bMY?si=cbr0u6jbvlIhVocz
ตำนาน ปราสาทดงเมืองเตย
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ผัก ผลไม้ วิตามินซีสูง พร้อมคุณประโยชน์อีกมากมายงานบ้านช่วยลดน้ำหนัก สำหรับคนไม่อยากไปฟิตเนส บ้านสะอาด แถมยังได้ออกกำลังกายด้วยสื่อฮ่องกง แฉ “บอสเหล่าดารา” เอี่ยวคดี “ดิไอคอน” โยงนักการเมืองเงินดิจิทัล 10000 บาท คนทั่วไป ได้เงินวันไหน?ประโยชน์ของแสงแดด ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง จิตแจ่มใส
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
disrespectful: ไม่เคารพ ไม่เคารพนับถือ7อันดับ"ทำเลที่ดินกรุงเทพที่มีราคาสูง"(ราคาแรง-ราคาหลักล้าน)พายุ "จ่ามี" จ่อถล่มอีสาน! กรมอุตุฯ เตือน 26-27 ต.ค. นี้ เตรียมรับมือฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง 🌧️🌬️‘ลีน่าจัง’ เมินกระเเส ถูกร้านก๋วยเตี๋ยว ติดป้ายห้ามเข้า คนทำระวังติดคุกในระหว่างการแสดง วาฬเพชฌฆาตอึในน้ำ และกระโดดให้น้ำกระจายโดนผู้ชมเงินดิจิทัล 10000 บาท คนทั่วไป ได้เงินวันไหน?
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิยาย เรื่องเล่า
ไดอารี่ปริศนาเล่มที่ 6 คดีลวงโลกของ "ฆาตกรรม" ที่ไม่มีใครตายมนตราวายสะ ตอนที่ 14 โตขึ้นฉันอยากเป็น... (3)ทองประกายแสด อวสานชีวิตรักน้องทอง ทองเป็นที่พึ่งของทองเองมนตราวายสะ ตอนที่ 14 โตขึ้นฉันอยากเป็น... (2)
ตั้งกระทู้ใหม่