ตำนานพระแม่คงคา พระแม่คงคา เทพผู้รักษาสายน้ำ
โคมุข ซึ่งแปลว่า ปากวัว (cow’s mouth) ตามลักษณะเป็นปากถ้ำ ที่แม่น้ำคงคาไหลออกมาจากใต้ธารน้ำแข็ง ที่เห็นเป็นแผ่นสีฟ้าขนาดมหึมาอยู่ข้างหน้า คือธารน้ำแข็งอายุหลายพันปี มีขนาดใหญ่ กินอาณาบริเวณลึกเข้าไปด้านบน หลายตารางกิโลเมตร
คัมภีร์โบราณของชาวฮินดูบอกว่า เมื่อพระแม่คงคา ปรากฏออกมาจากโคมุข ก็ไหลวนเวียนติดอยู่ภายในเทือกเขาหิมาลัย หาทางออกไม่ได้ ราชาบากิราติ ต้องมาช่วยหันเหสายน้ำ ให้เดินทางออกมาสู่แผ่นดินอินเดีย แต่กระแสน้ำ ก็ยังเชี่ยวกราก และรุนแรงมาก พระศิวะ ก็เลยเอามวยผมมารองรับ เพื่อลดความแรงลง ทำให้มนุษย์ สามารถใช้ประโยชน์จากสายน้ำได้
หริดาวา ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อว่า พระศิวะ นำมวยผมมารองรับพระแม่คงคา ให้บรรเทาความรุนแรงลง หริดาวา จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู เพราะเป็นเมืองพระศิวะ และเป็นเมืองแรก ที่แม่น้ำคงคา ไหลสู่ที่ราบ
พระแม่คงคา พระองค์เป็นพระธิดาของท้าวหิมวัต และพระนางเมนกา มีน้องสาวนามว่า พระอุมาภควตี ซึ่งทรงเป็นพระชายาของพระศิวะ ตามคติความเชื่อของอินเดีย ว่ากันว่า พระองค์ทรงปลาใหญ่ หรือจระเข้เป็นพาหนะ พระองค์เป็นเทวีผู้ให้กำเนิดสายน้ำคงคา ตามความเชื่อของชาวอินเดีย และนอกจากนั้นชาวฮินดูยังเชื่อว่า สายน้ำคงคานั้น สามรถชำระล้างบาปของตนได้ พระนางคงคานั้น ไม่ได้มีปางอันใดเนื่องจากว่า ไม่มีการแบ่งภาคลงมาเกิด แต่มีการร่วมกับองค์พระศิวะ ในปางคงเคศวรนั้นเอง นอกจากนั้น ก็จะคงพบในรูปเคารพของพระศิวะ โดยพระองค์ จะปรากฏในเทวลักษณะ ที่เป็นน้ำไหลจากมวยผมของพระศิวะ
พระแม่คงคา เป็นผู้ดูแลรักษาสายน้ำคงคา ซึ่งถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ไหลมาจากสวรรค์ ซึ่งในอินเดียนั้น มีแม่น้ำหลายสายเช่น
แม่น้ำสรัสวตี (เชื่อว่าไหลมาจากพรหมโลก)
แม่น้ำซันโตชี (พระแม่ซันโตชี ธิดาของพระพิฆเนศเป็นผู้ดูแล)
แม่น้ำคงคา (พระแม่คงคาเป็นผู้ดูแล)
แม่น้ำยมุนาหรือยมนา (เชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ของพระวิษณุเทพ)
น้ำจากคงคานั้นถือว่า เป็นน้ำที่สามารถชำระบาปของมนุษย์ทั้งหลายได้ ซึ่งแม่น้ำที่ใช้ชำระบาปของมนุษย์ได้ จะมีอยู่สองสายคือ แม่น้ำคงคาตลอดสาย แม่น้ำยมนา
บริเวณต้นน้ำ ที่เขายาดาคีรี ของท่านฤาษียาดาชี ซึ่งเป็นที่ประทับ ขององค์ลักษมีนาราซิมฮา แม่น้ำคงคานี้ เมื่อจะประกอบพิธีต่างๆ จะต้องนำน้ำจากพระคงคานี้ ไปร่วมในพิธีด้วย
โดยปกติแล้ว บรรดาฤาษีในอินเดีย จะมีหม้อน้ำติดตัวอยู่เสมอ ซึ่งจะบรรจุน้ำจากแม่น้ำคงคา บริเวณที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ "ตริเวนี" หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า "จุฬาตรีคูณ" ซึ่งมีแม่น้ำคงคา และยมนาไหลมาบรรจบกัน และเชื่อว่า มีแม่น้ำสรัสวตี ไหลมาจากใต้ดิน มาบรรจบกันที่นี่ด้วย ชาวฮินดู นิยมที่จะตักน้ำจากแม่น้ำคงคา ไปใช้ในการสรงน้ำเทวรูปและอาบกิน
ตามตำนานว่า แม่คงคานั้น ไหลเวียนอยู่ที่นิ้วเท้าของพระวิษณุ เหตุที่พระคงคา ต้องไหลลงมาที่โลกมนุษย์นั้น ก็เพราะว่า ท้าวสักราช ได้ทำพิธีอัญเชิญพระแม่คงคา ให้ลงมาส่โลกมนุษย์ สืบต่อมาหลายชั่วคนจึงสำเร็จ ในสมัยของท้าวภคีรถ แต่ด้วยความแรงของพระแม่คงคา ซึ่งอาจจะทำให้โลกล่มสลายไปได้ พระศิวะเจ้า จึงได้รองรับแม่คงคา ด้วยมวยพระเกศก่อน แล้วจึงปล่อยลงมาสู่โลกมนุษย์
อีกตำนานเล่าว่า เดิมทีโลกมนุษย์นั้น บังเกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากการที่พระแม่คงคา ไม่ยอมปล่อยน้ำลงมาสู่โลกมนุษย์ แล้วเสด็จหนีไป จึงทำให้มนุษย์และสัตว์ ล้มตายมากมาย บรรดาเทวะเห็นดังนั้น จึงไปกราบทูลเชิญพระศิวะเจ้า ให้ทรงจัดการเรื่องนี้ พระองค์จึงทรงออกตามหาพระแม่คงคากลับมา แล้วให้พระแม่ คืนสายน้ำให้มนุษย์ แต่พระแม่ไม่ยอม พระองค์จึงทรงใช้พระเกศ รัดพระแม่คงคา จนพระนางยอมปล่อยสายน้ำออกมา
บางตำนานก็ว่า พระศิวะเจ้า ทรงได้พระแม่เป็นภรรยาลับๆ ด้วยความกลัวพระแม่อุมารู้ แล้วจะทรงพิโรธ จึงซ่อนพระแม่ไว้ในมวยพระเกศ ให้พระแม่ ปล่อยน้ำออกมาจากพระเกศของพระองค์ เพื่อล้างบาป ที่พระองค์ได้ทรงทำด้วย
เทวะลักษณะของพระแม่นั้น โดยทั่วไป จะวาดมีสี่กร และทรงจระเข้เป็นพาหนะ มีตรีศูลย์เป็นอาวุธ มีหม้อกลาฮัม และหม้อน้ำ บางครั้งก็จะวาดมีสองกร และทรงอาวุธตรีศูลย์ แต่ส่วนมากที่จะได้เห็นกันก็คือ จะแสดงองค์เป็นสตรี ที่ยื่นหน้าออกมาจากมวยพระเกศ ของพระศิวะเจ้า และมีสายน้ำ พ่นออกมาจากปาก
เจ้าคงคา ตามตำนานประเทศจีน คนจีนเรียกเจ้าคงคาว่า ฮ้อแปะ ฮ้อ แปลว่า แม่น้ำ แปะ คือ อาเปะหรือคุณลุง แสดงว่า เจ้าแม่น้ำหรือเจ้าคงคา เป็นบุรุษไม่ใช่พระแม่คงคาอย่างชาวไทย ตำนานของเจ้าคงคาหรือ ฮ้อแปะ ถูกผูกไว้กับแม่น้ำฮวงโห โยงเรื่องถึงเทพเจ้าผู้เปิดภูเขา ซึ่งสมัยเป็นมนุษย์ท่านคือ กษัตริย์อู๊ จีนกลาง เรียกท่านว่า ต้าหวี่ แต้จิ๋วเรียกว่า หยู,อู๊,อู้ หรือ ไต้อู้ หรือ แฮอู้ มีเรื่องราวเล่าว่า ขณะไต้อู้ ได้กำลังวิเคราะห์สถานการนำท่วมใหญ่ ที่แม่น้ำฮวงโห้ว พลันนั้นมีชายร่างปลากล่าวแก่ไต้อู้ว่า ท่านคือ ฮ้อแปะ อยากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้ใช้แผนที่แม่น้ำที่เรียกว่า ฮ้อโต้ว มาช่วยในการหาสาเหตุที่น้ำท่วม แล้วก็ดำน้ำลงไป ฮ้อแปะเป็นเจ้าคงคา ที่บางแห่งมีชื่อเรียกว่า ปิ่งอี๊ เปียอี๊ ได้เกิดอุบัติเหตุจมน้ำตาย ขณะที่ข้ามแม่น้ำฮวงโห้ว แต่ด้วยความที่เป็นสามัญชน เปี๊ยอี๊เป็นคนใจดีก็ได้เป็นเทวดา เง็กเซียนฮ่องเต้ ได้บัญชาให้เป็นเจ้าคงคา ที่ดูแลแม่น้ำ เพื่อเป็นที่ล่ำลือ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าคงคา ได้มีเรื่องเล่าในราชวงศ์ถังว่า ขุนพลโป่วจื้องี้ ได้ถูกส่งให้ไปดูแลพื้นที่ในลุ่มฮวงโห้ว วันหนึ่งเกิดน้ำท่วม ขุนพลโป่วจื้องี้ ได้ขอพรให้เจ้าคงคาคอยช่วยให้น้ำหายท่วม จะยกลูกสาวของตน ให้เจ้าคงคาแต่งงานด้วย ในไม่ช้าน้ำในแม่น้ำก็หายท่วม และลูกสาวของท่าน ขุนพลโป่วจื้องี้ ก็ได้หลับโดยไม่ตื่น ท่านได้จัดงานศพกับลูกและตั้งหุ่นบูชา
ในตำนานของจีน ได้มีการผนวกพญานาค และพญามังกรของจีน ยกย่องให้เป็นเจ้าแห่งคงคา และเปลี่ยนเล่งอ๋วง มีอำนาจควบคุมแหล่งน้ำทั้งหมด
พระแม่คงคา ในความเชื่อของอินเดีย (ผู้นับถือศาสนาฮินดู) จะเน้นไปด้านการไถ่บาป เครื่องชำระบาป ของแม่น้ำคงคา และยมนา โดยการใช้น้ำอาบ ล้าง และร่วมในพิธีต่างๆ เพื่อบูชาพระแม่ หรือเป็นสื่อกับเทพเจ้าองค์อื่นๆ ในในประเทศจีนจะเป็นเทพเจ้า ผู้ให้ความช่วยเหลือจากปัญหาเรื่องน้ำมาก ความเชื่อในประเทศไทย ในการบูชาพระแม่คงคา กลับเน้นไปในทางที่การขอขมาพระแม่คงคา ในประเพณี ลอยกระทง เนื่องจากการสำนึกในพระคุณแห่งน้ำ และพระแม่คงคา ก็เป็นดังผู้แทนของน้ำ การบูชาพระแม่คงคา นับเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำด้วยอีกทางหนึ่ง จนทำให้ประเพณีลอยกระทง โด่งดังไปทั่วโลก
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/SnfR3qgLHvw?si=wvlICFRB628y4QIX
ตำนานพระแม่คงคา พระแม่คงคา เทพผู้รักษาสายน้ำ
ตำนานโคมุข