'ปลาชะโอนถ้ำ' ปลาน้ำจืดสุดหายาก ที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
ปลาชะโอนถ้ำ (Cave Sheatfish)
หรือ ปลาชะโอนถ้ำวังบาดาล ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Pterocryptis buccata
เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae)
โดยอาศัยอยู่ในน้ำใต้ดินของถ้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ดินแบบคาร์สติก
ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 ในถ้ำวังบาดาล ในอำเภอไทรโยค
จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งลักษณะของปากถ้ำเป็นช่องเขาขนาดเล็กบนเขา
และวนลึกลงไปจนถึงระดับน้ำด้านล่าง ซึ่งเป็นแอ่งน้ำ
ขนาดพื้นที่เท่าสนามเทนนิส ซึ่งคิดเป็นเพียงพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรเท่านั้น
ปลาชะโอนถ้ำ มีขนาดลำตัวยาวเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร
ลำตัวมีสีขาวเผือกอมเหลืองทั้งตัวคล้ายภาวะผิวเผือก ตามีขนาดเล็กมาก
และเป็นสีแดง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่พบ
ในถ้ำวังบาดาล ภายในอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อำเภอไทรโยค
จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลากลุ่มนี้จะมีลักษณะดังที่กล่าวข้างต้น
และกลุ่มที่อยู่นอกถ้ำหรือพบในถ้ำอื่น จะมีลำตัวสีเทาอมน้ำตาลเท่านั้น
ปลาชนิดนี้ถือเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น หรือ Endemism ของประเทศไทย
ซึ่งมีแหล่งอาศัยตามธรรมชาติเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก
แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงมาก โดยถือเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืด
ที่หาได้ยากมากที่สุดในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2543 มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันได้เข้าไปสำรวจ
และจับปลาได้เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น จากนั้นในปี พ.ศ. 2545 ได้มีคณะสำรวจ
ชาวไทยเข้าไปสำรวจและจับปลามาได้ราว 10 ตัว จากนั้นก็ไม่เคยมีใคร
พบเห็นปลาชะโอนถ้ำนี้อีกเลย แม้จะมีความพยายามอื่นจากหลายคณะก็ตาม
ปัจจุบันปลาชะโอนถ้ำมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์น้ำ
ตามประกาศของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2546