ตำนานโยนก (นาคพันธุสิงหนวัติ)
หลังจากแคว้นสุวรรณโคมคำล่มสลายลงไป ได้เกิดแคว้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ ในเวลาต่อมา เรียกว่าแคว้นโยนก อันเป็นต้นเคล้าถิ่นกำเนิด ชาวไทยยวน หรือ ชาวล้านนาในปัจจุบัน
ครั้งนั้นมีพระมหากษัตริย์ไทยองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า "พระเจ้าเทวกาล" เป็นใหญ่กว่าไทยทั้งหลาย (ไทเมืองหรือไทใหญ่ ปลายแม่น้ำเอราวดี พม่าเรียกไทยโม) เสวยราชสมบัติ ณ เมืองนครไทยเทศ คือเมืองราชคฤห์มหานคร (ไม่ใช่ราชคฤห์ในอินเดีย) พระนครนั้นสมบูรณ์ด้วยราชสมบัติอันมั่งคั่ง ประชาพลานิกรต่างสโมสรเกษมสุขยิ่งนัก.....พระมหากษัตริย์เจ้านครไทเทศ มีพระโอรส ๓๐ องค์ พระธิดา ๓๐ องค์ เมื่อโอรสธิดามีพระชนมายุสมควรแล้ว พระบิดาจึงให้อภิเษกให้เป็นคู่ ๆ กันไป แล้วแบ่งปันราชสมบัติให้แยกย้ายกันไปเป็นพระยาปกครองนครต่าง ๆในจตุรทิศ เว้นแต่พระเชษฐโอรสองค์ใหญ่ผู้มีนามว่า "ภาทิยกุมาร" พระบิดาให้เถลิงอุปราชาภิเษก ขึ้นดำรงตำแหน่งอุปราช เพื่อจะให้สืบราชสันตติวงศ์ในนครไทยเทศในกาลข้างหน้า ฝ่ายราชกุมารและกุมารีทั้งหลาย ซึ่งพระบิดาให้ไปปกครองนครต่าง ๆ นั้น ก็กราบขอพรและทูลลาพาบริวารของตนแยกย้ายกันไป
ราชกุมารองค์น้อยทรงพระนาม "สิงหนวัติกุมาร" เหตุด้วยมีกำลังมากดุจราชสีห์ ราชกุมารองค์นี้พาบริวารเป็นคนจำนวนแสนครัว ออกจากนครไทยเทศในเดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ วันพุธ ข้ามแม่น้ำสารยูไปหนอาคเนย์ เพื่อจะแสวงหาภูมิประเทศที่สมควรตั้งพระนคร เสด็จสัญจรรอนแรมโดยอรัญวิถีได้สี่เดือน ถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ก็ลุถึง แม่น้ำขละนทีคือแม่น้ำของ อันเป็นแว่นแคว้นสุวรรณโคมคำขอมเขต ซึ่งเป็นเมืองร้างมานานแต่ครั้งศาสนาพระพุทธเจ้ากัสสปะ สมัยนั้นมีมิลักขุชนชาวป่าชาติละว้า (ลั๊วะ) หรือลาวตั้งเคหสถานเป็นหมู่ ๆ อยู่ตามแนวภูเขา มีหัวหน้าเรียกว่า "ปู่เจ้าลาวจก" เหตุผู้เป็นหัวหน้านั้นมีจก (ขอบก) คือจอบขุดดินมากกว่า ๕๐๐ เล่ม สำหรับแจกจ่ายให้หมูบริวารเช่ายืมไปทำไร่ สถานที่ซึ่งปู่เจ้าลาวจกอยู่นั้นเรียกว่า ดอยสามเส้าหรือสามยอด คือดอยทาอยู่หนเหนือหนึ่ง ดอยย่าเถ้าอยู่ท่ามกลางหนึ่ง ดอยดินแดงหรืออีกนามหนึ่งว่าดอยปู่เจ้าอยู่เบื้องทิศหนใต้
ดอยหมู่นี้ครั้นต่อมาภายหลังเรียกว่า ดอยตายะสะ บัดนี้เรียกว่าดอยตุง มีอยู่หนพายัพเมืองเชียงแสน ระหว่างแดนต่อแดนกับเมืองเชียงตุง แม้นามเมืองเชียงตุงก็ได้มาจากนามดอยนี้เช่นกัน เหตุอันเรียกดอยม่อนเหนือว่าดอยทานั้น เพราะเป็นทางขึ้นลง เป็นท่าซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าพืชไร่ในระหว่างพวกลาวจกกับพวกขอมชาวเมือง จึงเรียกดอยม่อนนั้นว่าดอยท่า กลายมาเป็นดอยทา ส่วนดอยม่อนกลางซึ่งเรียกว่าดอยย่าเถ้า เพราะเป็นบ้านของย่าเถ้าผู้เป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนปู่เจ้าลาวจกอยู่ดอยดินแดงจึงเรียกดอยปู่เจ้า ครั้นภายหลังมาดอยดินแดงเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูป บริเวณพระสถูปนั้นหมายเขตด้วยธงตะขาบใหญ่ คนทั้งหลายจึงเรียกว่าดอยตุง (ธง) บางบางตำนานก็เรียกว่า เกตุบรรพต และนามเมืองเชียงตุงซึ่งมีว่าเขมรัฐโชติตุงบุรี สำแดงความว่าธงอันสุกใสในแว่นแคว้นขอม สถานที่เชิงดอยซึ่งเป็นที่ประชุมซื้อขายพืชไร่นั้น ภายหลังกลายเป็นเมืองไร ที่ตลาดขายบวบ กลายเป็นเมืองบวบ ปรากฏมาจนทุกวันนี้
เมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมารกับหมู่ไทยบริวารได้มาถึงถิ่นประเทศนี้แล้ว ก็ตั้งชมรมพักพลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำละว้านที คือน้ำแม่สายในบัดนี้ ที่ตั้งอยู่นั้นไกลจากน้ำของ ๘๐๐๐ วา หรือ ๓๕๐ เส้น ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีร่วงเป้าฉลู อัฐศก ศักราชขึ้นใหม่เป็นปีที่ ๑๗ (ที่ถูกควรเป็นปีมะแม) มีนาคราชตัวหนึ่ง จำแรงกายเป็นพราหมณ์ เข้ามาสู่สำนักเจ้าสิงหนวัติกุมาร กล่าวคำปฏิสันถารตามสมควรแล้ว ก็แสดงตนเป็นนาคราชผู้อารักขาสถานที่แห่งนี้ มีนามกรว่า "พันธุนาคราช" แล้วกล่าวคำอนุญาตให้ตั้งพระนคร แต่ขอคำปฏิญาณแห่งราชกุมารให้ตั้งอยู่ในศีลสัตย์สุจริตธรรม แล้วนาคพันธุพราหมณ์ก็อำลาพาเอาราชบุรุษ ๗ คนของสิงหนวัติกุมาร ไปยังสถานที่จะให้ตั้งพระนครอยู่หนหรดีไกลประมาณ ๑๐๐๐ วา เมื่อถึงสถานที่นั้นแล้วนาคพันธุพราหมณ์ก็ปลาสนาการหายวับไป ราชบุรุษทั้ง ๗ คนได้เห็นเป็นอัศจรรย์ใจ ก็กลับมาทูลความแก่เจ้าสิงหนวัติกุมาร
ครั้นราตรีกาลในวันนั้น นาคราชก็สำแดงฤทธิ์ขวิดควักพสุธาดล เป็นคูขอบรอบจังหวัดที่อันจะสร้างกำแพงเมือง กว้าง ๓๐๐๐ วา โดยรอบทุกด้าน เสร็จแล้วนาคราชก็กลับคืนสู่ที่อยู่แห่งตน เมืองนี้สำเร็จด้วยนาคานุภาพ ดังกล่าวมานี้ จึงได้มีนามว่า นาเคนท์นคร นาคบุรีก็เรียก อีกนามหนึ่งเรียกตามพันธุนาคราชกับนามเจ้าสิงหนวัติกุมารรวมกันว่า "เมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร" ภายหลังมาเรียกแต่ว่า "โยนกนครหลวง" เจ้าสิงหนวัติกุมารเสด็จตรวจเห็นภูมิสถานที่จะสร้างพระนครแล้ว ก็ทรงปราโมทย์ จึงให้ระดมไพร่พล กะปันหน้าด่าน ให้ทำการสร้างปราการนคร และพระราชนิเวศน์ มนเทียรสถาน ไม่นานก็เสร็จ จึงเสด็จเข้าครองนครเป็นปฐมกษัตริย์ขัติยวงศ์ดำรงโยนกนาคนคร จึงให้เรียกขุนมิลักขุทั้งหลาย มาถวายบังคม ขุนมิลักขุชนทั้งหลายและบริวารก็พากันอ่อนน้อมยอมขึ้นอยู่ในพระราชสมภารทั้งสิ้น เว้นแต่พวกขอมเมือง อุมงคเสลานคร หายอมไม่
ล่วงมาได้ ๓ ปี พระเจ้าสิงหนวัติ ก็ยกพลโยธาไปตีเมืองชาวขอม พวกขอมสู้รบต้านทานกำลังไม่ได้ก็พ่ายแพ้ ตีได้เมืองอุมงคเสลานคร เมืองนี้อยู่หนหรดีปลายน้ำแม่กกนที เป็นที่อยู่ขอมดำทั้งหลาย ตั้งมานานพร้อมกับเมืองสุวรรณโคมคำ คือเป็นเมืองของพาหิรอำมาตย์ (ในตำนานสุวรรณโคมคำ) ครั้นได้เมืองอุมงคเสลานครแล้ว ก็แต่งกองทัพไปเที่ยวปราบปรามหมู่ขอมทั้งหลายในตำบลต่าง ๆ ทั่วแว่นแคว้นล้านนาได้ทุกตำบล เมื่อศักราชล่วงได้ ๒๐ ปี แว่นแคว้นโยนกนาคพันธุนคร ตั้งมั่นมีอาณาจักรแผ่ขยายไปทุกทิศานุทิศ ทิศบูรพาถึงแม่น้ำแท้แม่ม่วงเป็นแดนต่อจุฬนีนคร(ตังเกี๋ย) ทิศปัจจิมถึงดอยรูปช้างฟากตะวันตกแม่น้ำคงเป็นแดน ทิศอุดรถึงปากทางหนองกระแสหลวงพระยากาจก เป็นแดนต่อแดนเมืองมิถิลารัฐมหานคร (คือเมืองตาลีฟู ฮุนหนำ) ทิศใต้ถึงปากน้ำแม่ระมิงค์ (น้ำปิง) เป็นแดนต่อละวะรัฐมหานคร คือว่าเมืองละโว้ (ถ้าเรื่องนี้ก่อนพุทธกาลจริง เมืองละโว้ยังไม่เกิด เพราะพงศาวดารเหนือว่า เมืองละโว้ตั้งเมื่อพุทธกาลล่วง ๑๐๐๒ ปี ตามพงศาวดารจีนว่า เมืองยุนชางหรือโยนก แยกจากน่ำจิ๋วในแผ่นดินถัง ก่อนจุลศักราช ๒๐ ปีเท่านั้นเอง พระเจ้าสิงหนวัติได้ครองราชในโยนกนาคนคร ได้ ๕๒ ปี ศักราชได้ ๖๘ ปี พระบรมโพธิสัตว์ก็มาอุบัติในโลก
ในตำนานเดิมกล่าวถึงพุทธพยากรณ์อยู่หลายที่เกี่ยวข่องกับพระพุทธประวัติ ครั้นพรรษาที่ ๑๖ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จมายังแคว้นโยนกนาคพันธุสิงหนวัตินี้ ประทับสำราญอยู่ ณ ดอยน้อยหนพายัพ ห่างเวียง ๑๐๐๐ วา พระเจ้าสิงหนวัติได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดาและพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย เข้าไปฉันภัตตาหารในพระราชวัง ขณะนั้นพระยาช้างต้นของพระเจ้าสิงหนวัติ ได้เห็นพระพุทธฉัพพรรณรังสีเป็นที่อัศจรรย์ใจ ก็ตื่นตกใจวิ่งออกจากแหล่งโรง แผดเสียงแล่นร้อง "แสน ๆ" ไปทางทิศอุดร แล้วก็ไปหยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำขละนที ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ ตรัสพยากรณ์ว่า ภายหน้าจักมีพระยาตนหนึ่งมาสร้างนคร ณ สถานที่ ๆ ช้างไปหยุดยืน เมืองนั้นจะชื่อว่า เมืองช้างแสน ตามนิมิตอันช้างร้อง แสน ๆ บัดเดี๋ยวนี้เรียก เมืองเชียงแสน พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในสถานที่ต่าง ๆ หลายตำบล ในที่สุดได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ ณ ปราสาทอาฬวกยักษ์ ณ เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา และทรงพยากรณ์ว่า ภายหน้าที่นี้จะได้ชื่อว่า อาฬวีเชียงรุ่ง ครั้นออกพรรษา เสด็จกลับจากเชียงรุ่งมาประทับเมืองโยนกนาคนคร ประดิษฐสถาน ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ตำบลผาเรือแห่งหนึ่ง ตำบลสันทรายหลวงแห่งหนึ่ง แล้วก็เสด็จไปสู่เวฬุวนาราม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร
ฝ่ายพระเจ้าสิงหนวัติได้ครองราชสมบัติ ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๑๘ ปี ศักราชได้ ๑๗ ปี ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๐๒ ปี พระชนมายุได้ ๑๒๐ ปี ลุศักราชได้ ๑๑๙ ปี ก็เสด็จสวรรคต ลำดับนั้น เจ้าคันธกุมารราชโอรส พระชนมายุได้ ๔๒ ปี ได้ครองราชสมบัติในโยนกนครสืบมา ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาสู่ประเทศโยนกอีกครั้ง เพื่อจะโปรดพระยาคันธราชเจ้า ซึ่งได้เสวยราชสมบัติใหม่ ครั้งนี้ได้เสด็จไปโปรดปู่เจ้าลาวจก ณ ดอย ตายะทิศด้วย และทรงพยากรณ์สถานที่ดอยดินแดง คือดอยตุงอันจะเป็นที่ประดิษฐมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายหน้า แล้วเสด็จเลยไปฉันน้ำทิพย์ ณ ถ้ำกุมภคูหา ประดิษฐานพระเกศธาตุ ไว้ ณ ถ้ำเปลวปล่องฟ้า แล้วเสด็จไปประทับไสยาสน์ ณ ผาตูปเมืองกอม แล้วก็เสด็จกลับคือสู่เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ ฝ่ายพระยาคันธราชได้รับพระโอวาทของพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญราชจริยานุวัติตามธรรม สืบมาได้ ๒๙ พรรษา พระชนมายุ ๗๑ ปี ก็เสด็จสวรรคต
พระโอรสพระนามว่า อชุตราชกุมาร ได้ครองราชสมบัติสืบมา พระองค์มีอัครมเหสีพระนามว่า พระนางปทุมาวดี มีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก พระชาชสมภพของนางนั้น ตำนานหนึ่งบอกว่าเกิดในดอกบัว พระกัมโลฤาษีเลี้ยงไว้ จึงชื่อว่าปทุมาวดี อีกตำนานหนึ่งว่า นางเป็นลุมฤคี ณ เชิงเขาดอยดินแดง คือดอยตุง กัมโลฤาษีเลี้ยงเอาไว้ ครั้นเจริญวัยได้เป็นมเหสีพระเจ้าอชุตราชเจ้านครโยนก นางจึงหล่อรูปกวางผู้เป็นมารดาไว้ด้วยทองหนักสี่แสน ประดิษฐานไว้ ณ ที่สมภพของนาง สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า เมืองกวาง ครั้นนานมากลายเป็นเมืองกวานคู่กับเมืองตุม ในรัชสมัยพระเจ้าอชุตราชนั้นโบราณศักราชได้ ๑๔๘ ปี พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ พระมหากัสสปะเถรเจ้ากระทำปฐมสังคายนา แล้วลบศักราชโบราณอันพระเจ้าอัญชนสักกะ และกาฬเทวิฬดาดสตั้งไว้นั้นเสีย ตั้งพุทธศักราชใหม่ในปีมะเส็ง เป็นเอกศก
แต่นั้นมาล่วงได้ ๓ ปี ถึงปีมะแม เพ็ญเดือน ๕ พระมหากัสสปะเถรเจ้า ได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตพระรากขวัญเบื้องซ้าย มาถวายแด่พระยาอชุตราชเจ้าโยนกนคร พระยาอชุตราชพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ก็มีความยินดี กระทำสักการะบูชา เป็นมโหฬารทั้งพระนคร แล้วเลือกหาสถานที่อันอุดมสมควร เพื่อจะสร้างมหาสถูปอันจะประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น พระมหากัสสปะเถรเจ้า จึงเล่าแก่พระยาอขุตราชให้ทราบถึงพุทธพยากรณ์ไว้ ณ ดอยดินแดง หมู่เขาสามเส้า อันเป็นที่อยู่ของปู่เจ้าลาวจก พระยาอชุตราชจึงให้หาผู้เป็นหัวหน้าพวกลาวจกมาเฝ้า แล้วพระราชทานทองคำแสนกหาปณะ ให้เป็นค่าที่ลาวจก ขอซื้อเอาที่แดนของลาวจกเป็นที่สร้างพระสถูป มีอาณาเขตแต่องค์พระสถูปออกไปโดยรอบด้านละ ๓๐๐๐ วา เมื่อจะสร้างพระสถูปนั้นให้ทำธงตะขามใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า หางธงปลิวไปเพียงใด กำหนดหมายเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น เหตุฉะนี้ ดอยนั้นจึงมีนามว่า ดอยตุง ครั้นการก่อพระสถูปเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าบรรจุในมหาสถูปและมีการฉลองสมโภช เสร็จสิ้นแล้วพระมหากัสสปะเถรเจ้าก็ลากลับไป
ฝ่ายปู่เจ้าลาวจกเมื่อได้ทองแสนกหาประแล้วก็แบ่งปันให้แก่บุตร ๓ คน ให้ลาวหม้อบุตรชายคนใหญ่ไปอยู่เมืองกวาน ให้ลาวล้านบุตรคนที่สองไปอยู่เมืองสีทวง ให้ลาวกลิ่นบุตรคนที่สามไปอยู่เมืองเหลือก บุครปู่เจ้าลาวจกได้สืบตระกูลมา และตระกูลลาวจกได้เป็นใหญ่ในล้านนา เป็นต้นตระกูลลั๊วะ ลาว ยวน โดยพุทธพยากรณ์ไว้
พระเจ้าอชุตราชครองราชสมบัติในเมืองโยนกนาคนครได้ ๑๐๐ พระษา พระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษา จึงเสด็จสวรรคต พระโอรสทรงพระนามว่า พระมังรายนกุมารพระชนม์ได้ ๔๖ ปี ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา ครั้งนั้นมีพระอรหันต์องค์หนึ่งขื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถร พร้อมสงฆ์บริวาร ๕๐๐ รูป พากันมาโยนกนาคนครนี้ และนำเอาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ๕๐ พระองค์ มาถวายพระมังรายนราชเจ้านครโยนก ท้าวเธอก็ให้สร้างเจดีบรรจุไว้ ณ เกตุบรรพตดอยตุงในบริเวณมหาสถูปนั้น ส่วนพระมหาวชิรโพธิเรกับสงฆ์บริวาร ก็พากันกลับไปยังเมืองราชคฤห์ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศาสนาได้ ๑๕๐ ปี
พระเจ้ามังรายนมีพระโอรสสองพระองค์ องค์ใหญ่พระนามว่า พระองค์เขือง เมื่อพระชนม์ได้ ๕๕ ปีได้ครองราชแทนพระราชบิดา องค์น้อยมีนามว่า พระองค์ไชยนารายณ์ พระชนม์ได้ ๔๐ ปี เสด็จไปสร้างเมืองที่ตำบลดอนมูล อันเป็นเกาะในแม่น้ำ ปากน้ำแม่กก อยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้เมืองโยนก พระองค์ไชยนารายณ์ได้ครองเมืองนั้น จึงมีนามปรากฏว่า เมืองไชยนารายณ์ ต่อมาภายหลังเป็นเมืองเชียงราย เมืองนี้ได้ตั้งหลักเมืองในวันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุล พุทธศกได้ ๑๕๑ ปี พระองค์ไชยนาราณ์ได้เสวยราชสมบัติ ต่อมาหลายชั่วอายุคน.....แต่ตำนานหิรัญนครเชียงแสนบอกว่า พญาลวจักราชสร้างเมืองเชียงรอยขึ้น เพราะเหตุพบรอยช้างใหญ่ จึงเรียกเมืองเชียงรอย ภายหลังกลายเป็นเชียงราย แต่ในตำนานเชียงใหม่บอกว่า พญามังรายสร้าง จึงชื่อว่าเมืองเชียงรายตามนามพญามังราย ถ้าวิเคราะห์ด้วยเหตุผล อาจมีอยู่ทุกเมืองแต่คนละกาลเวลา เมืองเก่าล่มไป เมืองใหม่สร้างทับแทนที่เดิมก้เป้นได้ จึงมีตำนานกล่าวถึงหลายที่
ครั้นพระพุทธศาสนาได้ ๑๖๒ ปี พระองค์เขืองครองราชสมบัติในโยนกนครได้ ๓๓ ปี เสด็จไปสถาปนาพระสถูปเจดีย์พระเกศาธาตุที่ถ้ำแก้วเวียงสีทวง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ จึงสำเร็จบริบูรณ์ ในวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วให้ขุดเหมืองต่อน้ำแม่สาย ทดน้ำขึ้นเลี้ยงนาแคว้นซ้าย ให้ราษฎรได้ทำนาโดยสะดวก พระองค์เขือง ดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ ๓๓ พรรษา พระชนมายุได้ ๘๖ พรรษาจึงได้เสด็จสวรรคต พระองค์ชินราชบุตรได้ครองราชสมบัติสืบไปได้ ๒๐ พรรษา สิ้นชีพวายชนม์แล้ว พระองค์คำราชบุตรได้ครองเมืองต่อ พระองค์คำสิ้นชีพแล้ว พระองค์เกิง ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา
พระพุทธศาสนาล่วงได้ ๒๑๘ พรรษาพระเจ้าอโศกมหาราชได้ครองเมืองปาตลีบุตร พระโมคคัลลีบุตรติสสะได้กระทำตติยสังคายนา หลังจากนั้นจึงได้ขอให้พระเจ้าอโศกเป็นองค์อุปถัมภ์นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ประดิษฐานในประเทศต่าง ๆ พระมหารักขิตเถร กับพระเถรานุเถระหลายรูปได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนโยนกประเทศนี้ พระมหารักขิตเถรได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ๙ พระองค์มาถวยแด่พระองค์เกิง ท้าวเธอทรงเลื่อมใส จึงแบ่งพระบรมธาตุเป็นสามส่วน ๖ องค์ใหญ่นั้นสร้างพระสถูปประดิษฐานไว้ ณ เกตุบรรพต คือดอยตุง อีกสามองค์นั้นให้อุปราชแสนเมืองนำไปถวายพระยาสม พระราชบิดาผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ พระเจ้าเชียงรายได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมธาตุไว้ ณ ตำบลภูกวาว เหนือเมืองไชยนารายณ์ เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จทั้งสองนครกระทำการฉลองสมโภชพระบรมธาตุพร้อมกัน ในวันพุธ เพ็ญเดือนยี่ ปีมะเมีย พระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๒๒๙ ปี
พระองค์เกิงได้ครองราชสมบัติได้ ๖๐ ปี ก็สวรรคต พระองค์ชาติก็ขึ้นครองราชได้อีก ๑๙ ปี ก็สวรรคต พระองค์เว่าได้ครองราชสมบัติได้ ๑๘ ปี ในสมัยนั้นพระองค์เว่า ได้สร้างพระสถูปเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ณ ดอยเว่า เมื่อพระพุทธศาสนาได้ ๒๙๐ พรรษา นครโยนกได้มีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์มาหลายรุ่น จนกระทั่งถึงรัชกาล พระองค์พังคราช มหาศักราชได้ ๒๗๗ ปี ครั้งนั้นนครโยนกร่วงโรย ราชอำนาจอ่อนแอ
ในรัชกาลพระองค์พังคราชเจ้านครโยนกนาคบุรีนั้น มหาศักาชล่วงได้ ๒๗๗ ปี ครั้งนั้นนครโยนกร่วงโรย ราชอำนาจอ่อนน้อยถอยลง พวกขอมเมืองอุโมงค์เสลานครกำเริบตั้งแข็งเมืองขึ้น เจ้านครโยนกปราบปรามไม่ชนะ ขอมมีกำลังและอำนาจมากกว่า ก็ยกพลโยธาเข้าตีปล้นเอานครโยนกได้ ในวันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๑ ค่ำ พระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๙๐๐ พรรษา พระยาขอมจึงขับไล่พระองค์พังคราชกับราชเทวีไปอยู่ ณ เวียงสีทวง ริมน้ำแม่สาย ทิศตะวันตกเมืองโยนกนคร และขอมเข้าจัดการเมืองเป็นใหญ่ในนครโยนกและแว่นแคว้นทั้งปวง
ฝ่ายพระองค์พังคราชกับราชเทวี เมื่อมาอยู่ ณ ตำบลสีทวงได้ ๑ ปี ราชเทวีก็ทรงพระครรภ์ ประสูติได้ราชกุมารองค์หนึ่ง พระบิดาขนานนามว่าว่า "ทุกขิตะกุมาร เหตุเกิดเมื่อยามทุกข์ยาก ครั้นอยู่ต่อมาอีก ๒ ปี ราชเทวีก็ทรงพระครรภ์อีกครั้ง ครั้นพระครรภ์ครบทศมาส ก็ประสูติราชกุมาร ในวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีกาบไส้ (มะเส็ง) ราชกุมารมีวรรณะผุดผ่อง สิริรูปงดงามดุจพรหม พระบิดาจึงขนานนามว่า "พรหมกุมาร"
ครั้นพรหมกุมารเจริญวัย มีพระชนมายุได้ ๑๓ ขวบ มีน้ำใจกล้าหาญชอบเครื่องสรรพยุทธ์และวิชาการยุทธทั้งปวง ยามกลางคืนก่อนแจ้ง พรหมกุมารทรงสุบินนิมิต เห็นเทพดาลงมาหา แล้วบอกว่าถ้าเจ้าอยากได้ช้างมงคลตัวประเสริฐ รุ่งเช้าวันนี้จงตัดขอไม้ไร่ถือไป และจงไปล้างหน้าที่น้ำแม่ของ เจ้าจักได้เห็นช้างเผือกล่องน้ำมาสามตัว ถ้าจับได้ตัวที่ ๑จะได้ปราบทวีปทั้ง ๔ ถ้าจับได้ตัวที่ ๒ จะได้ปราบชมพูทวีปแต่ทวีปเดียว ถ้าจับได้ตัวที่ ๓ จะได้ปราบแว่นแคว้นล้านนาประเทศขอมดำทั้งมวล เทพดาบอกความแล้วก็กลับไป พรหมกุมารสะดุ้งตื่นก็พอรุ่งแจ้ง จำความฝันนั้นได้แม่นยำ จึงเรียกเด็กบริวาร ๕๐ คนมาสั่งให้ไปตัดขอไม้ไร่ได้แล้วก็พากันไปสู่ท่าน้ำ ณ ฝั่งแม่น้ำขละนที คือน้ำแม่ของ สรงแล้วก็รอคอยคู่หนึ่ง ก็เห็นงูตัวหนึ่งสีเหลืองเลื่อมเป็นมันยับ ใหญ่ยาวยิ่งนัก เลื้อยล่องน้ำมาใกล้แม่น้ำของที่พรหมกุมารอยู่นั้น พรหมกุมารและบริวารก็พากันหวั่นไหวตกใจกลัว มิอาจเข้าไปใกล้ได้ ครั้นงูใหญ่ล่องเลยไปประมาณยามหนึ่งก็มีงูอีกตัวใหญ่เท่าลำตาลเลื้อยล่องมาอีก พรหมกุมารและบริวารพากันนิ่งดู งูนั้นก็ล่องเลยไป สักครู่หนึ่งก็เห็นงูใหญ่เท่าลำตาลล่องน้ำมาอีกตัวหนึ่ง
ครั้นพรหมกุมารได้เห็นงูครบ ๓ ตัวนั้น จึงมารำลึกถึงความฝันอันเทพดาบอกว่า จะมีช้างประเสริฐ ๓ ตัวล่องน้ำมา ครั้นมาดูก็ไม่เห็นช้าง ได้เห็นแต่งูใหญ่ชะรอยช้างนั้นจะเป็นงูนี้เอง เมื่อดำริเช่นนี้แล้ว จึงสั่งให้บริวารช่วยกันเอาขอไม้ไร่เข้าเกาะเกี่ยวจับงูนั้นได้ งูนั้นก็กลับกลายเป็นช้างเผือกบริสุทธิ์ พรหมกุมารมีใจยินดียิ่งนักจึงขึ้นไปขี่บนหลังช้างบังคับให้ช้างขึ้นจากฝั่งช้างนั้นก็ไม่ยอมขึ้นฝั่งเล่นน้ำทวนไปมาอยู่ พรหมกุมารจึงให้คนไปทูลพระบิดาให้ทราบ พระองค์พังคราชจึงปรึกษาโหราจารย์ โหรแนะนำให้เอาทองคำหนักพันหนึ่ง (คือหนึ่งชั่ง) ตีเป็นพาง คือกระดึงไปตีนำหน้าช้างจึงจะขึ้นจากน้ำได้ พระบิดาทำตามโหราจารย์ แล้วสั่งให้เจ้าทุกขิตะกุมารผู้เป็นเชษฐาเอากระดึงทองคำไปตี พญาช้างได้ยินกระดึงจึงขึ้นจากน้ำ ที่ ๆช้างลอยน้ำอยู่นั้นจึงมีชื่อปรากฏว่า ตำบลควานทวน ส่วนพญาช้างมีนามว่า ช้างพางคำ
ครั้นพรหมกุมารได้พญาช้างมาก็มีความวัฒนาการประกอบด้วยกำลังทรัพย์และกำลังพลโยธากล้าแข็งยิ่งขึ้น จึงให้ตั้งค่ายขุดคูทดน้ำแม่สายมาเป็นน้ำในคูเมือง จึงให้ชื่อเมืองนั้นว่า "เวียงพางคำ" ได้ฝึกซ้อมทหาร และตระเตรียมเครื่องสรรพวุธทั้งปวง แล้วก็ตั้งแข็งเมืองไม่ส่งส่วยแก่ขอม ครั้นพรหมกุมารอายุได้ ๑๖ ปี ขาดส่งส่วยขอมมา ๓ ปี พญาขอมจึงเตรียมรี้พลจะมาจับพระองค์พังค์ ฝ่ายพรหมกุมารก็จัดเตรียมกองทัพไว้รอท่าอยู่
มหาศักราชล่วงได้ ๒๙๘ ปีวอก เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ วันอาทิตย์ พญาขอมก็ยกรี้พลมาใกล้ถึงเวียงสีทวง เจ้าพรหมกุมารได้ทราบ ก็ขึ้นทรงช้างเผือกพางคำ ยกรี้พลออกจากเวียงพางคำไปโจมตีทัพพญาขอม ณ ตำบลทุ่งสันทราย ก็ได้ชัยชนะโดยง่าย ด้วยช้างม้ารี้พลพญาขอม ได้เห็นช้างเผือกพางคำก็พากันแตกตื่นพ่ายหนีไป พรหมกุมารก็เดินทัพตามมาตีจนถึงเมืองโยนกนครหลวง เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วตีหักเข้าเมืองได้ขอมทั้งหลายพากันหนีล่องไปทิศใต้ พรหมกุมารได้เมืองโยนกนครแล้วพักพลพอหายอิดโรยก็ยกทัพตามตีขอมต่อไป ได้ตีเมืองขอมน้อยใหญ่ได้อีกหลายเมือง ไม่ว่าขอมจะหนีไปทางไหนก็ถูกตามไปตีถึงที่นั้น ขณะนั้นร้อนไปถึงองค์อมรินทร์ ทรงรำพึงว่าเจ้าพรหมกุมารไล่กำจัดขอมไม่ยอมหยุดยั้ง ชีวิตมนุษย์จะเป็นอันตรายยิ่งนัก จำจะต้องช่วยป้องกันเอาไว้ จึงมีเทวโองการสั่งให้พระวิษณุกรรมเทพบุตร ลงไปเนรมิตรกำแพงศิลากั้นทางที่พรหมกุมารเดินทัพตามไปตีพวกขอม เจ้าพรหมกุมารก็ไม่สามารถเดินทัพผ่านกำแพงศิลาไปได้ เมืองนั้นจึงได้ชื่อว่า "เมืองกำแพงเพชร" ฝ่ายขอมทั้งหลายที่เหลือตายก็พากันล่องแม่น้ำระมิงค์ ลงไปจนถึงฝั่งน้ำสมุทรแดนเมืองอินทรปัตถ์นคร
เจ้าพรหมกุมารก็เลิกทัพกลัพคืนมาโยนกนคร อัญเชิญพระองค์พังคราชผู้เป็นบิดาเข้าครองราชสมบัติในโยนกนครตามเดิม ให้เจ้าทุกขิตกุมารพระเชษฐาเป็นมหาอุปราช ตั้งแต่นครโยนกเสียแก่ขอมเมืองอุโมงค์เสลามานานได้ ๑๙ ปีจึงได้กลับคืนมาเป็นราชธานีดังเก่า จึงมีนามว่า พระนครไชยบุรีสืบมา
ฝ่ายเจ้าพรหมกุมารไม่ไว้ใจเชิงศึก เกรงว่าขอมจะกลับมาอีกจึงไปสร้างเมือง ณ ริมแม่น้ำฝาง ซึ่งไหลมาบรรจบแม่น้ำกกฝั่งใต้อันเป็นต้นทางที่ขอมจะมา ครั้นสร้างสำเร็จจึงขนานนามว่า เมืองไชยปราการ สำเร็จในวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ เมืองนั้นอยู่ห่างเมืองโยนกเชียงแสน ระยะทางคนเดินสองวัน ก็คือเมืองฝางทุกวันนี้ เจ้าพรหมกุมารเสด็จมาครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองไชยปราการ เหตุฉะนั้นแว่นแคว้นโยนกจึงมี ๔ นคร คือ ไชยบุรีโยนกนครหลวงหนึ่ง เวียงไชยนารายณ์แคว้นขวาหนึ่ง เวียงไชยปราการแคว้นซ้ายหนึ่ง เวียงพางคำหนึ่ง ลำดับนั้นพระองค์พังคราชจึงให้สู่ขอนางแก้วสุภา ราชธิดาพระยาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์อันเป็นตระกูลเดียวกันมาอภิเษกแก่เจ้าพรหมกุมารผู้ครองนครไชยปราการ ต่อมาบังเกิดโอรสองค์หนึ่ง ทรงนามว่าไชยศิริกุมาร (พระเจ้าพรหมมหาราช ถือเป็นมหาราชองค์แรกของชนชาติไทย)
พระพุทธศาสนาได้ล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา ยังมีมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อพระพุทธโฆษา เป็นชาวโกศล เมืองสุธรรมวดี ในรามัญประเทศ ท่านได้ออกไปสู่ลังกาทวีป นำคัมภีร์พระไตรปิฎกแต่ลังกาทวีปโพ้นมาสู่รามัญประเทศและพุกามประเทศ แล้วท่านได้้มาสู่แว่นแคว้นโยนกนครไชยบุรีเชียงแสน เมื่อ วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด มหาศักราชได้ ๓๓๕ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๓ ขนาดรวม ๑๖ องค์ มาถวายแก่พระองค์พังคราชเจ้านครโยนก ท่านจึงแบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่หนึ่ง ขนาดกลางสอง รวมสามองค์ส่งไปให้พระยาเรือนแก้วเมืองไชยนาราณ์ พระยาเรือนแก้วพร้อมด้วยพระมหายานเถรได้รับพระบรมธาตุสร้างพระสถูปไว้ ณ ท่ามกลางเมืองไชยนารายณ์ ชื่อว่าธาตุเจ้าจอมทอง ฝ่ายพระองค์พังคราชก็ให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งบนจอมเขาดอยน้อย ซึ่งเรียกว่าดอยจอมกิติ พระเจดีย์นั้นกว้าง ๓ วา สูง ๖ วา ๒ ศอก บรรจุพระบรมธาตุสำเร็จ ในวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ได้มีงานมหกรรมฉลองพร้อมกับกับพระธาตุจอมทอง เมืองไชยนารายณ์ กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมิได้ขาด ลุศักราช ๓๓๓ ปี พระองค์พังค์ได้เสด็จสวรรคต พระอุปราชทุกขิตาได้เสวยราชในเมืองโยนกสืบมาได้ ๑๖ ปี ลุศักราชได้ ๓๔๙ พระเจ้าทุกขิตะราชทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ลำดับนั้นพระองค์มหาวันราชโอรสพระชนม์ได้ ๔๖ พรรษาได้สืบสุริยวงศ์ ดำรงราชสมบัติ
ฝ่ายพระเจ้าพรหมมหาราช อยู่เสวยราชสมบัติในนครไชยปราการได้ ๕๙ พรรษา มหาศักราชได้ ๓๕๕ จึงเสด็จสวรรคต เสนาพฤฒามาตย์จึงพร้อมกันอัญเชิญพระองค์ไชยศิริราชโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อมา ลุศักราชได้ ๓๖๕ พระองค์ไชยซิริดำรงราชสมบัติในนครไชยปราการได้ ๑๑ ปี ยังมีกษัตริย์เจ้าองค์หนึ่งเป็นใหญ่ในสุธรรมวดีมหานคร คือเมืองสะเทิมในรามัญประเทศทิศหรดีฝ่ายฟากแม่น้ำคงฝั่งตะวันตก ยกพยุหโยธามีรี้พลอันมากข้ามแม่น้ำคงมาถึงตำบลโพธิ์ ๔ ต้น มิลักขุทั้งหลายมาแจ้งข่าวศึกยังนครไชยปราการ พระเจ้าไชยศิริทรงทราบข่าวศึกก็บอกไปยังพระเจ้านครไชยบุรีโยนก และพระเจ้านครไชยนารายณ์ให้ทราบ กษัตริย์ทั้ง ๓ นครก็จัดการป้องกันพระนครเป็นสามารถ แล้วแต่งกองทัพไปสู้รบต้านข้าศึก กองทัพได้ยกออกไปจากนครไชยปราการ ณ วันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ไปตั้งค่ายมั่น ณ ตำบลห้วยเป้าและตำบลโป่งน้ำร้อน ช่องเขาแดนเมือง ได้สู้รบกับกองทัพพม่า รามัญ และไทยใหญ่เป็นสามารถ ตั้งแต่เดือน ๗ จนถึงเดือนอ้าย กองทัพพม่ารามัญก็มิถดถอย ยิ่งหนุ่นเนื่องกันหนักมา ฝ่ายกองทัพชาวโยนกอิดโรยอ่อนกำลังก็ถอยล่ามาทุกวัน พระเจ้าไชยศิริราชให้โหราจารย์คำนวนดูชะตาเมือง โหรถวายพยากรณ์ว่าชะตาเมืองขาดตกที่ศูนย์ทั้งสามฐาน เห็นการจะรักษาไว้มิได้ พระเจ้าไชยศิริได้ฟังดังนั้นจึงดำรัสว่าเราไม่ยอมเป็นเชลยใคร เมื่อชาตาเมืองขาดเสียแล้ว เราก็จักทำเมืองให้เป็นป่า ไปหาที่ตั้งเมืองอยู่ใหม่ พระองค์จึงกำหนดให้ป่าวประกาศแก่เสนาอำมาตย์ราษฎรทั้งปวง ให้รวบรวมเสบียงอาหาร ทรัพย์สิ่งของแต่ที่พอจะเอาไปได้ ที่เหลือจากเอาไปมิได้นั้นก็ให้จุดไฟเผาบูชาเพลิงเสียจงสิ้น อย่าเหลือไว้ให้ข้าศึกได้ เสนาอำมาตย์ราษฎรชาวนครไชยปราการก็กระทำโดยพระราชบริหาร
ลุมหาศักราช ๓๖๖ ปีมะเส็ง ฉศก วันพฤหัสบดี เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ พระเจ้าไชยศิริก็ยกรี้พลครอบครัวอพยพออกจากนครไชยปราการ ครั้นจะขึ้นไปทางเมืองไชยบุรีเชียงแสน ทางต้องข้ามแม่น้ำกก เป็นฤดูฝนน้ำหลากข้ามยาก จึงให้ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ทางผาหมื่นผาแสน แล้วไปถึงเขาชมภูคือดอยด้วน ซึ่งภายหลังเป็นที่ตั้งเมืองพะเยา พักพลอยู่ที่ดอยด้วนนั้นพอหายอิดโรยแล้วก็ยกล่วงลงมาทางทิศใต้ เดินทางพักผ่อนรอนแรมมาได้ ๑ เดือนก็บรรลุถึงแดนเฉลี่ยง ซึ่งพระเจ้าพรหมมหาราชพระราชบิดาได้ปราบขอมลงไปถึงถิ่นนั้นตั้งแต่กาลก่อน จึงพักพลอยู่ ณ ที่ใกล้เมืองร้างตรงฟากฝั่งกับเมืองกำแพงเพชร (คือเมืองแปบ) มีปะขาวคนหนึ่งมาชี้ที่ตั้งนครว่า ขอมหาราชจงตั้งพระนคร ณ สถานที่นี้เถิด เป็นชัยภูมิดี บ่มีข้าศึกมาเบียดเบียนได้ แล้วปะขาวก็อันตธานหายไปเฉพาะหน้าพระที่นั่ง พระเจ้าไชยศิริก็แจ้งประจักษ์ในพระทัยว่า องค์อมรินทร์ธิราชเสด็จมาชี้ที่ตั้งพระนคร มีพระทัยโสมนัสปรีดายิ่งนัก จึงให้ตั้งชมรมที่พัก ณ ที่นั้นถ้วน ๓ วัน ถึงณ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ จึงให้ฝังหลักเมืองตั้งพระนคร ล้อมระเนียดค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์ ครั้นสำเร็จจึงขึ้นครองนครขนานนามว่า เมืองกำแพงเพชร เวลานั้นมีคนแสนครัวก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำแม่ระมิงค์ตลอดสบน้ำทั้งสองฟาก มีพระนามปรากฏว่าพระเจ้าไชยศิริเชียงแสน เป็นใหญ่ในแคว้นนั้นสืบมา
ทางด้านนครไชยปราการเมืองฝางนั้น ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยศิริอพยพไพร่พลเมืองมาเสียแล้ว กองทัพชาวสุธรรมวดีก็เข้าเมืองไชยปราการได้ มิได้พบปะผู้คนทรัพย์สิ่งของเสบียงอาหารอันใดนอกจากเถ้าและถ่านเพลิง พระเจ้าสุธรรมวดีก็ให้เลิกทัพกลับคืนนคร
ฝ่ายพระองค์มหาวันครองนครไชยบุรีโยนกได้ ๒๐ พรรษา ถึง ณ ปีวอก มหาศักราชได้ ๔๖๗ ก็เสด็จทิวงคต พระชนมายุได้ ๖๗ พรรษา ลำดับนั้นจึงพระองค์มหาไชยชนะ ราชโอรสได้รับราชาภิเษกทรงราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อมา
ลุศักราช ๔๖๗ ปีเถาะ พระองค์มหาไชยชนะเสวยราชย์ได้ ๑ ปี อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ มีราษฎรคนหนึ่งไปหาปลาในแม่น้ำกุกะนที ได้ปลาไหลเผือกตัวหนึ่งใหญ่เท่าลำตาลยาว ๗ วา ก็พากันทุบตีให้ตาย แล้วผูกเชือกชักลากมาตามลำห้วยซึ่งภายหลังมีชื่อว่า ห้วยแม่ลาก แล้วนำมาถวายพระเจ้านครโยนกมหาวันไชย ๆ ดำรัสสั่งให้แล่เนื้อแจกกินกันทั่วทั้งเมือง ครั้นล่วงเวลาราตรีกาลค่ำวันนั้น ในปฐมยามแผ่นดินสะท้านดังสนั่นครั่นครื้นขึ้นครั้งหนึ่ง ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามก็ดังสนั่นลั่นเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง พอล่วงเข้าปัจฉิมยามก็ดังกึกก้องเป็นคำรบสามเมืองโยนกนครก็ทรุดล่มจมลง กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินและขัติยวงศาเสนาอำมาตย์ราษฎรบรรดาที่อยู่ในนครนั้น ก็ถึงกาลกิริยาไปตามยถากรรม ยังเหลือแต่เรือนหญิงม่ายหลังหนึ่งค้างอยู่ขอบหนอง
ครั้นรุ่งขึ้นเช้า ขุนพันนาและชาวบ้านนอกทั้งหลายพากันไปดู ได้พบหญิงม่ายคนนั้น จึงไถ่ถามก็ได้เนื้อความจากถ้อยคำแห่งหญิงม่ายนั้นว่า เมื่อเวลาพลบค่ำมีมาณพหนุ่มน้อยผู้หนึ่งมาจากที่ใดไม่แจ้ง มาพักอาศัยอยู่ที่เรือนหญิงม่ายนั้น ถามว่าชาวเมืองนี้เอาอะไรมากินกันกลิ่นหอมยิ่งนัก หญิงม่ายนั้นจึงตอบว่า เขาได้ปลาไหลเผือกตัวใหญ่มาถวายพระมหากษัตริย์ ๆ ตรัสให้แจกกันกิน มาณพผู้นั้นถามว่า ป้าได้กินกับเขาด้วยหรือไม่ หญิงม่ายผู้นั้นตอบว่า ป้าเป็นคนชรา เป็นแม่ร้างแม่ม่ายหาลูกหลานมิได้ไม่มีใครให้กิน มาณพนั้นจึงกล่าวแก่หญิงม่ายนั้นว่า ป้าไม่ได้กินก็ดีแล้วอย่าได้พูดจาไป ข้าจะไปเที่ยวยามหนึ่งก่อน ภายหลังมีเหตุการณ์ประการใด ถ้ายังไม่เห็นข้าผู้หลานนี้กลับมาก็อย่าได้ลงจากเรือนก่อนเป็นอันขาด สั่งเช่นนี้แล้ว มาณพหนุ่มก็ลงจากเรือนไป ได้สักครู่ใหญ่ก็ได้ยินเสียงดังมาสนั่นหวั่นไหวแล้วก็สงบไปแล้วก็กลับมาดังอีกเล่า ครั้นดังถ้วน ๓ ครั้ง แลไปในเมืองก็เห็นแต่น้ำ
ขุนพันนาทั้งหลายได้ฟังหญิงม่ายเล่าความดังนั้น จึงได้ทราบเหตุ เขาก็รับเอาหญิงม่ายนั้นไปเลี้ยงไว้ แล้วเขาก็ประชุมกันเลือกสรรเอาโภชก นายบ้านผู้หนึ่งชื่อขุนลัง ยกขึ้นเป็นประธานาธิบดี แล้วจึงสร้างเมืองใหม่ริมแม่น้ำของ ฟากตะวันตก เป็นเบื้องตะวันออกแห่งเมืองเก่าที่ล่มจมเป็นหนองน้ำนั้น ตั้งหลักเมืองในวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีเมิงเม้า คือปีเถาะ มหาศักราชได้ ๔๗๖ สร้างสำเร็จแล้วให้ชื่อว่า "เวียงปฤกษา" (ปรึกษา) แต่นั้นมาก็สิ้นกษัตริย์วงศ์สิงหนวัติ นับได้ ๔๕ ราชวงศ์ แต่ยังเมืองไชยนารายณ์ พระยาสร้อยหล้า ลูกพระยาสร้อยฟ้ายังครองราชสมบัติอยู่ต่อมา แต่ข้างฝ่ายเมืองไชยบุรีมีแต่ไพร่แต่งเมืองสืบ ๆ กันมา
มหาศักราชได้ ๔๗๘ ขุนลังสร้างเจดีย์ธาตุดอยขัน ในวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเส็ง ครั้นต่อมา ลุศักราช ๔๘๖ ขุนลังกินเมืองได้ ๑๑ ปี นายบ้านผ้หนึ่งชื่อว่า ขุนข้าง ได้กินเมืองสืบมา ได้อีก ๗ ปี ศักราช ๔๙๒ ขุนข้างถึงแก่กรรม ขุนลานได้ครองเมืองสืบไป ศักราชได้ ๕๐๐ ปี ขุนลานป่วยถึงแก่กรรม ขุนถานได้แทนที่เจ้าเมือง ศักราชได้ ๕๐๗ ปี ขุนถานกินเมืองได้ ๘ ปี ถึงแก่กรรม ขุนตามได้แทนที่เจ้าเมือง มีเจ้าเมืองสืบต่อกันมาอีกหลายคน คือ ขุนตง ขุนติม ขุนแต่ง ขุนจันทร์ ขุนคง ขุนจวงขุนทรง ขุนชิต ขุนอินทิ ขุนสุทธิ ขุนศุกขะ จนถึงศักราช ๕๙๙ ปีจอ รวม ๑๕ ชั่วเจ้าเมือง ตั้งแต่พุทธกาลล่วงได้ ๑๑๑๐ พรรษา จนมาถึงพุทธกาลได้ ๑๑๘๑ พรรษา รวมเป็นเวลาที่ขุนแต่งเมือง หรือประธานาธิบดีเวียงปฤกษามานานได้ ๙๓ ปี จึงถึงสมัยกาลที่พระเจ้ากรุงภุกาม ผู้ทรงนามอนุรุธธัมมิกราช ลบมหาศักราช ตั้งจุลศักราช เอกศกขึ้นใหม่ในปีกุน วันอาทิตย์เดือน ๕ แรม ๑๓ ค่ำ ข้อความในตำนานสิงหนวัติก็ยุติเพียงเท่านี้
อ้างอิงจาก: ตำนานโยนก (นาคพันธุสิงหนวัติ)
https://youtu.be/tmZINIqnBcM?si=_GswMcryF7GS-txu