พระนางศุภยาลัต ทรราชหญิงแห่งกรุงมัณฑะเลย์
พระนางศุภยาลัต (พม่า: စုဖုရားလတ် ซุพะยาละ) เป็นพระอัครมเหสีพระองค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์คองบอง พระราชธิดาในพระเจ้ามินดง ที่พระราชสมภพ แต่พระนางอเลนันดอช้างขาว ด้วยความทะเยอทะยาน ของพระนางศุภยาลัต พระนาง จึงได้เป็นพระอัครมเหสี ในพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
พระนางศุภยาลัต มีพระเชษฐภคินี คือพระนางศุภยาจี และมีพระขนิษฐา คือเจ้าหญิงศุภยากเล อุปนิสัยของพระนางศุภยลัต มีลักษณะเหมือนพระราชมารดา คือมีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง เชื้อสายดั้งเดิมเป็นสามัญชน เนื่องจากยายของพระนาง เป็นแม่ค้าขายของในตลาดมาก่อน โดยพระเจ้าจักกายแมง ทรงรับเอามาเป็นนางสนม ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าจักกายแมง ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า
พระเจ้ามินดง พระราชบิดาของพระนาง มีเจ้านครญองย่าน กับเจ้านครญองโอ๊ะ เป็นพระราชโอรสที่พอจะมีความสามารถขึ้นครองราชย์ เพราะทั้งสองพระองค์ เรียนจบโรงเรียนฝรั่ง มีความฉลาด และเข้มแข็งพอสมควร แต่พระนางอเลนันดอและขุนนางเห็นว่า จะคุมได้ยาก จึงเลือกเจ้านครสีป่อที่อ่อนแอกว่า ซึ่งผนวชเป็นพระมาตลอด นิสัยเชื่องช้า หัวอ่อน และพระเจ้ามินดงเอง ก็เกรงพระทัยมเหสีรอง จึงไม่ได้ตั้งเจ้าชายพระองค์ใด เป็นรัชทายาทอย่างชัดเจน
เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรหนัก พระนางอเลนันดอ จึงเรียกพวกเสนาบดี ประชุมในที่รโหฐาน และประกาศตั้งเจ้านครสีป่อ เป็นรัชทายาท ไล่จับกุมบรรดาเจ้าชาย และขุนนางในฝ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเอง ใส่คุกไปมากมาย ต่อมา เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ให้เจ้านครสีป่อ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า พอขึ้นครองราชย์ได้ พระมเหสีและมารดากับกลุ่มขุนนาง ก็จัดการสังหารบรรดาพี่น้องตัวเอง และบริวาร รวมกันถึงราว 500 กว่าคน เจ้าชายพระองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระญาติและบรรดาลูก ๆ รวมทั้งเจ้าน้ององค์หญิงเจ้าฟ้าองค์นั้น ซึ่งมีทั้งผู้เฒ่าชรา และแม้แต่เด็กจนถึงทารกไร้เดียงสา ก็ถูกสังหารจนสิ้น ด้วยสารพัดวิธีอันหฤโหด ขุนนางที่เคยรับใช้ หรือญาติทางฝ่ายจอมมารดา ก็จับฆ่าเสียสิ้นเหมือนกัน ด้วยพิธีที่พิสดาร และตามแต่เพชฌฆาตจะเห็นสนุก
การสังหารหมู่ดังกล่าว ใช้เวลาอยู่สามวัน จึงสังหารได้หมด เพราะต้องฆ่าที่วังแต่เวลากลางคืน เพื่อไม่ให้พวกชาวเมืองรู้ พระนางศุภยาลัต ทรงให้จัดงานปอยตลอดสามวันนั้น ให้ชาวเมืองเที่ยวงานให้สนุก พระเจ้าธีบอ ก็จัดให้ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามาย เพื่อไม่ให้สนใจการสังหารครั้งนั้น เมื่อสังหารแล้ว ก็จับโยนใส่หลุมใหญ่ข้างวังรวมกัน แล้วเอาดินกลบ แต่พอพ้นสามวัน ศพเหล่านั้นเริ่มขึ้นอืด จนเนินหลุมที่ฝังพูนขึ้น ก็เอาช้างหลวงมาเหยียบย่ำ ให้ดินที่นูนขึ้นมานั้น แบนราบลง แต่สุดท้าย ก็ไม่สามารถปิดบังหลุมใหญ่นั้นได้ เพราะจำนวนศพมีมาก จนดันเนินดินให้นูนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้าย ก็ต้องให้ขุดศพใส่เกวียนไปฝังบ้าง ทิ้งน้ำบ้าง เล่ากันว่า คืนนั้นสุนัขเห่าหอนทั้งคืน จนชาวเมืองผวา ไม่เป็นอันหลับอันนอน พระนางจัดให้เอาวงดนตรีปี่พาทย์ การแสดงต่าง ๆ มาบรรเลงในวัง ตลอดเวลาที่ทำการสำเร็จโทษพวกเจ้านาย เพื่อให้เสียงดนตรีปี่กลอง กลบเสียงกรีดร้องขอชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ในประวัติศาสตร์พม่านั้นเชื่อว่า พระนางอเลนันดอ และเกงหวุ่นเมงจี อยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าโอรสธิดา
พระนางศุภยาลัต และแตงดาวุ่นกี้ไม่พอใจ ที่อังกฤษ ให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศส ทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่า ประกอบกับมีการกล่าวหาว่า อังกฤษ ลอบตัดไม้เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี อังกฤษก็ไม่พอใจ ยื่นประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้น พระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเอง มีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่ต่อมาเกิดเรื่องจริง ๆ ฝรั่งเศส ก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษ ก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด และพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้า การเดินเรือของพม่าทั้งหมด ฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า ซึ่งขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าทางใต้ได้แล้ว จากสนธิสัญญายันดาโบ
พระเจ้าธีบอ ตามพระทัยมเหสี จึงสั่งให้เตรียมพลไปรบ อังกฤษก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหาร ทั้งฝรั่งและอินเดีย เคลื่อนพลเข้ารบ จากย่างกุ้ง บุกไปตามแม่น้ำอิรวดี ถึงมัณฑะเลย์ ใช้เวลาแค่ 14 วัน ก็ยึดเมืองหลวงได้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่า อย่างเทียบไม่ติด แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือ ราษฎร ไม่คิดจะต่อสู้ เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอ โดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมือง จึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก เนื่องจากกษัตริย์และมเหสี ไม่เคยทำตนให้เป็นที่รัก ของประชาชนพม่าของพระองค์เอง พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัต จึงถูกเชิญให้ไปยังเมืองรัตนคีรี ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเอกราชของพม่า และการปกครอง โดยราชวงศ์คองบอง ที่มีอย่างยาวนาน
พระราชธิดาทั้งสี่ ของพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต คือเจ้าหญิงเมียะพยากเล เจ้าหญิงเมียะพยาจี เจ้าหญิงเมียะพยา และเจ้าหญิงเมียะพยาลัต หรือเจ้าหญิงมยะพะยาละ ก็ถูกเชิญออกนอกประเทศด้วย เช่นกัน
เมื่อถูกถอดจากบัลลังก์ อังกฤษ ก็ได้เชิญพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัต ไปประทับยังบริติชราช ทั้งสองพระองค์ ประทับที่เมืองมัทราส ราว 2-3 เดือน ภายหลัง จึงถูกส่งไปประทับถาวร ที่เมืองรัตนคีรี เมืองเล็ก ๆ ทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) พระนางศุภยลัต เกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอ จนพระนางอเลนันดอ ต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับ คุมตัวไว้ที่เมืองเมาะลำเลิง จนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าธีบอ กับพระนางศุภยลัต ถูกเนรเทศอยู่ที่บริติชราช นาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์ ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง พระนาง จึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ย่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้น ฝังไว้ที่อินเดีย
ต่อมาพระนาง ได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง ทรงเคียดแค้นขุนนางพม่า ที่ไปเข้ากับอังกฤษ ตรัสบริภาษอยู่เป็นประจำ มีฝรั่งเขียนเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า เมื่อพระนางแก่ตัวเข้า และรู้สำนึกในชีวิตแล้ว ทรงสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร ทรงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน และเสียพระทนต์ทั้งหมด พระนางอยู่ในตำหนักที่อังกฤษจัดถวายให้ ในเมืองย่างกุ้ง 10 ปี จึงสวรรคตเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระบรมศพ ก็เป็นไปตามยถากรรม ไม่ได้มีพิธีรีตองมากมาย ไม่ต่างจากคนทั่วไป ปัจจุบัน ยังมีที่ฝังพระบรมศพอยู่ในย่างกุ้ง โดยรัฐบาลอังกฤษ จัดการพระบรมศพให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระบรมศพ ขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑป บรรจุพระบรมอัฐิเท่านั้น ปัจจุบันนี้ อยู่ที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ ของพระเจดีย์ชเวดากอง มาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระบรมศพ ของพระเจ้ามินดง ในกรุงมัณฑะเลย์ ที่ฐานล่าง มีแผ่นจารึกแผ่นเล็ก ของตอปยากะเล (Taw Payar Kalay) หรือออง ซาย (Aung Zay) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาคนสุดท้าย ของพระเจ้าสีป่อ ที่เสียชีวิต เมื่อ พ.ศ. 2549 และนำอัฐิ มาฝังไว้ในกู่เดียว กับพระนางศุภยาลัต โดยพระนาง มีศักดิ์เป็น "พระอัยยิกา" ของพระราชนัดดาคนนี้
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/i1_GG_dLTFo?si=pech9ucOXzwvtaVw
พระนางศุภยาลัต ทรราชหญิงแห่งกรุงมัณฑะเลย์
wikipedia