ปิดตำนาน เจ้าของบทเพลงดังอันลือลั่น #ผู้ใหญ่ลี
พ.ศ. สองพันห้าร้อยสี่
ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม
มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี
ท่อนขึ้นต้นของบทเพลง ผู้ใหญ่ลี ที่โด่งดังกลายเป็นเพลงอมตะ มาตราบเท่าทุกวันนี้ และเพลงผู้ใหญ่ลี ยังได้รับเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่น จากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2534 ขับร้องโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เกิดที่ย่านวัดป่าน้อย หรือวัดมณีวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2480 เป็นลูกคนที่ 2 ของนางผ่องจิต และนายทองคำ ศรีอักษร โดยมีพี่น้อง 3 คน เป็นหญิง 2 และชาย 1 โดย นวลพรรณ ศรีอักษร น้องสาวคนเล็ก ก็ดำเนินรอยตามพี่สาว โดยการเป็นนักร้อง และใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า พริ้ว แพรชมพู เจ้าของบทเพลง รักน้องจริง อย่าทิ้งน้องนะ ซึ่งเป็นเพลงดังในสมัยนั้น
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิไลวัฒนา พ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง เทพีงานแห่ต้นเทียนพรรษา หลังจบการศึกษาชั้นต้น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เข้ากรุงเทพฯ ด้วยหวังที่จะศึกษาต่อ ที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร แต่เมื่อได้ศึกษาหลักสูตรของโรงเรียน และเห็นว่า เธอต้องกลับมาเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานใหม่ จึงเดินทางกลับบ้าน โดยไม่ทันได้เขียนใบสมัคร
เมื่อจบการศึกษาชั้นต้นจากอุบลฯ "ศักดิ์ศรี" เข้ากรุงเทพฯ ศักดิ์ศรีมาเป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่ง เมื่อได้ข่าวทราบว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน ลงประกาศแจ้งความต้องการรับสมัครนักร้อง เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัครและโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อนเพื่อเอาชนะใจครู
ในที่สุด ครูไพบูลย์ ก็ให้เธอไปฝึกร้องเพลงอยู่กับ พิพัฒน์ บริบูรณ์ หรือ "อิง ชาวอีสาน" สักระยะหนึ่ง ซึ่ง "พิพัฒน์" นั้น เป็นหุ้นส่วนในการสร้างนักร้องกับครูไพบูลย์ และในระหว่างรอการบันทึกแผ่นเสียงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสาวอุบลฯ กับนักธุรกิจทำแผ่นเสียงก็สุกงอม จนถึงขั้นแต่งงานกันในที่สุด
ปี 2500 "ศักดิ์ศรี" บันทึกเสียงเพลงชุดแรก 3 เพลง คือ "กระถินบนถระถาง" "เหนือฟ้าฝั่งโขง" และ "สาวฝั่งโขง" ซึ่งเป็นผลงานของครูไพบูลย์ และหลังจากนั้นเธอก็เดินสายร้องเพลงไปกับ วงดนตรี พิพัฒน์ บริบูรณ์ ซึ่งในยุคนั่นมีนักร้องในวงหลายคน อาทิ ชัยชนะ บุญนะโชติ, เพชร พนมรุ้ง, ชาย ชาตรี, นํ้าผึ้ง บริบูรณ์ และดาว มรกต หรือ สรวง สันติ
ระหว่างเดินสายร้องเพลง สองสามีภรรยา ได้เก็บประสบการณ์จากการแสดงลำกลอน ซึ่งมีนำเอาเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาเล่นล้อเลียน ทำให้พิพัฒน์นำพล็อตนี้มาเขียนเป็นเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ในภายหลัง
จากปี พ.ศ. 2502 - 2504 ทุกครั้งที่วงพิพัฒน์ บริบูรณ์ เปิดวิกทำการแสดงที่ใด "ศักดิ์ศรี" ก็จะออกมาร้องเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และได้รับการตอบรับจากแฟนกันล้นหลาม โดยเฉพาะข้าราชการสายปกครองที่ถูกพูดถึงในเนื้อหาของเพลงดังกล่าว
เมื่อหยั่งกระแสจนมั่นใจแล้ว พิพัฒน์จึงให้ภรรยาบันทึกแผ่นเสียงเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และตัวเขาใช้นามปากกา "อิง ชาวอีสาน" ในการแต่งคำร้อง ตอนแรกเขาสั่งตัดแผ่นออกขาย 300 แผ่น ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว
เพลงนี้ก็ทำให้ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร กลายเป็นตำนาน และปรากฏการณ์ ของวงการเพลงลูกทุ่งไทย มาจวบจนถึงปัจจุบัน มันก็ทำให้เธอเป็นสาวอีสานคนแรก ที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่ง และก็กลายเป็นภาพพจน์ประจำตัวของเธอ ไปตลอดชีวิต เพราะเมื่อใครได้ฟังคำว่า “หมาน่อยธรรมดา“ คนที่รู้จักก็คงจะนึกถึงเธอ และยิ้มกันออกทุกครั้งไป ความดังของเพลง ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อวง จากวงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ เป็น วงดนตรีศักดิ์ศรี ศรีอักษร
"เพลงผู้ใหญ่ลี" โด่งดังในช่วงประมาณปี 2504 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สะท้อนให้เห็นถึง การสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้าน อย่างมีอารมณ์ขัน ซึ่งดัดแปลงมาจาก "รำโทน" เนื้อหาเป็นเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางวง เคยนำมาร้องล้อเลียน และได้รับความนิยมมากมาย
"ผู้ใหญ่ลี" คือสัญลักษณ์ในชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของ อิง ชาวอีสาน หรือ ครูพิพัฒน์ บรืบูรณ์ สามารถนำข้อเท็จจริงในสังคมยุคสมัยนั้น สะท้อนผ่าน "ดนตรี" ฉายให้เห็นภาพอดีตที่สังคมไทย มีการประกาศใช้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรก 2503" มีการปรับปรุงแก้ไขปี 2504 ในสมัยนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้พันธกิจ "ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย" โดยมุ่งนำความเจริญสู่พื้นที่ชนบท จนชาวบ้านพูดติดปากว่า "ยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"
"ทักษ์ เฉลิมเตียรณ" เขียนบันทึกเรื่อง "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" เนื้อหาช่วงหนึ่งได้ยกสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ สะท้อนการเมือง "ยุคผู้ใหญ่ลี" ว่า "ท่านคงจะได้เห็น หรืออาจจะรู้สึกรำคาญ ที่ข้าพเจ้าสนใจเรื่องพัฒนาการอยู่ทุกวันทุกเวลา ข้าพเจ้าทำในสิ่งที่เคยมี บางท่านทักท้วงว่าไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เช่น ความสะอาด ถนนหนทาง ร้านตลาด แม่น้ำลำคลอง ความเป็นไปในหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องส้วม"
ทว่าสาระสำคัญ และความยิ่งใหญ่ของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ไม่ใช่ถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอก หากเป็น "ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์" ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทของรัฐและกลไกของรัฐ
ที่สำคัญ "สะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร" อีกทั้งยัง "สะท้อนการศึกษาที่ล้าหลัง ของประชาชนในภาคอีสาน" ตลอดจนสะท้อนความเข้าใจที่ต่างระดับ ระหว่าง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" กับ "ผู้นำชาวบ้าน" และ "ชาวบ้าน" ได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม
"สิ่งที่ควรยกย่อง และสดุดีบุคคลทั้งสอง พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร (คนร้อง) เฉพาะหน้า ณ เวลานี้ และควรยกย่องได้อย่างสนิทใจ คือความกล้าหาญ ที่คนทั้งสองได้นำเอาเพลงผู้ใหญ่ลีออกเผยแพร่ จนเป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป นอกจากนี้ ทั้งสองยังเป็นผู้ริเริ่มเอาเพลง และศิลปะการร้อง-ลำ ของชาวอีสาน ในรูปแบบต่างๆ ออกเผยแพร่ และบันทึกไว้เป็นแผ่นเสียง ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและซาบซึ้ง"
ความโด่งดังของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ทำให้ไนต์คลับชื่อดังของกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ นักร้องลูกทุ่งอย่าง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ได้เข้าไปร้องขับกล่อมแขก ไม่ว่าจะเป็นที่ "มอนติคาร์โล", "แมนดาริน" หรือ "โลลิต้า" แต่เธอร้องอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็ต้องเลิกราไป เพราะแพ้ควันบุหรี่
นอกจากนี้ นักร้องสาวชาวอุบลฯ ก็ได้รับบทเป็นนางเอกหนังไทยให้กับ "อุษาฟิล์ม" ในปี 2507 เรื่อง "ลูกสาวผู้ใหญ่ลี" โดยเธอแสดงเป็นลูกสาวผู้ใหญ่ลี และมี ดอกดิน กัญญามาลย์ รับบทเป็น "ผู้ใหญ่ลี"
หลายปีต่อมา กระแสผู้ใหญ่ลีซาความนิยมลง พิพัฒน์ก็ได้เปลี่ยนทำนองเพลงโดยใช้จังหวะวาทูซี่ ชื่อเพลง "ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่" และศักดิ์ศรีเป็นผู้ขับร้องเช่นเคย และอีกไม่กี่ปีถัดมา ถึงจุดอิ่มตัวของชีวิตการร้องเพลง พิพัฒน์และศักดิ์ศรีจึงยุบวงดนตรี
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ในวัย 68 ปี เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตและโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยครอบครัว ได้นำศพไปประกอบพิธี ที่วัดสะพานใหม่ ฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 16.00 น.ปิดตำนานต้นฉบับเพลง ผู้ใหญ่ลี
อ้างอิงจาก: ปิดตำนาน เจ้าของบทเพลงดังอันลือลั่น #ผู้ใหญ่ลี
ตำนานเพลง ผู้ใหญ่ลี