เปิดตำนาน ประวัติความเป็นมา ของเสาชิงช้า
เสาชิงช้า เป็นสถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้น เพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ของ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยทั่วไปหมายถึงเสาชิงช้า ที่ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และลานหน้า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ลานคนเมือง) ใกล้กับ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในพื้นที่แขวงเสาชิงช้า และแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ของ กรุงเทพมหานคร แม้พิธีโล้ชิงช้าได้เลิกไปแล้ว ตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ตาม
นอกจากนี้ ในประเทศไทย ยังมีเสาชิงช้าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ หน้าหอพระอิศวร เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการประกอบพิธีโล้ชิงช้ามาแต่โบราณเช่นกัน แต่ได้เลิกไป ก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าที่ กรุงเทพมหานคร
เสาชิงช้า ที่กรุงเทพมหานครแห่งนี้ มีลักษณะเป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ สูง 21.15 ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ฐานกลมประมาณ 10.50 ม. ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน ตามแนวโค้งของฐาน ติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้ เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ติดสายล่อฟ้า จากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็น โบราณสถาน สำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2327 จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 222 ปี
จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเสาชิงช้าในพระนครขึ้นตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ บริเวณลานด้านเหนือ ของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันพุธ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง [ในความเป็นจริง วันแรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง ที่บันทึกไว้ตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดีไม่ใช่วันพุธ ดังนั้น วันพุธตามปฏิทินที่ถูกต้อง อาจเป็นวันพุธ เดือน 5 แรม 3 ค่ำ หรือวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ อย่างใดอย่างหนึ่ง] ต่อมาย้ายมาสร้างใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันบริเวณหน้าวัดสุทัศน์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่
พิธีโล้ชิงช้า เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวร ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อกันว่า พระอิศวร จะเสด็จลงสู่โลก ในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้น จะมีการแห่พระเป็นเจ้า ไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลก มนุษย์ ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่นๆ มาเฝ้า และมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี พราหมณ์ จะแกะรูปสัญลักษณ์ของเทวดาแต่ละองค์ เป็นเทวรูป ลงในไม้กระดานสามแผ่น เพื่อทำการบูชาในเทวสถาน แล้วจากนั้น จะนำไปปักในหลุม หน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดาน เข้าหาตำแหน่งที่มีพระยายืนชิงช้านั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุม ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่
พระราชพิธีตรียัมปวายนี้ จะกระทำในเทวสถาน สำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้า และนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวาย และรับน้ำเทพมนตร์ด้วย
แต่เดิมนั้น พระราชพิธีตรียัมปวาย จะจัดในเดือนอ้าย (ประมาณเดือนธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (ประมาณเดือนมกราคม) พิธีนี้ ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ ซึ่งในหนึ่งปี พระอิศวร จะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์ จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรต ชำระกายสระเกล้า เตรียมรับเสด็จพระอิศวร
ตำนานพระราชพิธีตรียัมปวาย พิธีโล้ชิงช้า มีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพ กล่าวไว้ว่า พระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลก จะถึงกาลวิบัติ พระนาง จึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตน ระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาค แกว่งไกวตัว โดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียว ในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลง แสดงว่า โลกที่ทรงสร้างนั้น มั่นคงแข็งแรง พระอิศวร จึงทรงชนะพนัน
ดังนั้น พิธีโล้ชิงช้า จึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น "ต้นพุทรา" ช่วงระหว่างเสาคือ "แม่น้ำ" นาลิวันผู้โล้ชิงช้าคือ "พญานาค" โดยมีพระยายืนชิงช้า นั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ
พิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี ได้ยกเลิกไป ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปัจจุบัน การประกอบพระราชพิธีนี้ จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น
ล่วงสู่สมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 บริษัทหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ ได้มอบซุงไม้สัก สำหรับสร้างเสาชิงช้าใหม่ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 นับเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก และบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2502 ครั้งนั้น เสาชิงช้า มีส่วนสูงทั้งสิ้น 21.15 เมตร
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2490 เกิดไฟไหม้เสาชิงช้าเนื่องจากมีผู้จุดธูปกราบไหว้ ไฟจากธูปตกลงในรอยแตกและลามจนไหม้ จึงต้องบูรณปฏิสังขรณ์ชั่วคราว จนถึง พ.ศ. 2513 เสาชิงช้าชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องเปลี่ยนเสาใหม่ โดยการบูรณะ ได้พยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ
กระทั่งวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2539 มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง โดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ใช้สายเหล็ก รัดเป็นโครงเหล็กประกับ คล้ายลักษณะเข้าเฝือกไม้ ยึดโครงสร้างหลัก
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 พบว่า เสาชิงช้า มีความชำรุดทรุดโทรมมาก ปรากฏรอยผุแตก เป็นร่องลึกตลอดแนวยาว โดยเฉพาะรอยต่อเสากลาง กทม. จึงได้ทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยการเปลี่ยนเป็นเสาใหม่ทั้งหมด เน้นการแก้ไขการผุกร่อนในระยะยาว เนื่องจากสาเหตุที่เสาชิงช้า ผุกร่อนได้ง่ายนั้น เป็นเพราะเสาหลักทั้งสองต้น ใช้ไม้ยาวท่อนละประมาณ 7 เมตร ทำสลักเดือยต่อกันถึง 3 ท่อน ทำให้น้ำซึมเข้าในรอยต่อ จนไม้ผุได้ง่าย ทางกทม. ตั้งเป้าไว้ว่า เสาชิงช้าใหม่ หากได้รับการดูแล บำรุงรักษาอย่างดี จะมีความมั่นคง แข็งแรงต่อไปได้ถึง 100 ปี เมื่อเทียบกับการบูรณะครั้งก่อนหน้า ที่ทำให้เสาชิงช้า มีอายุการใช้งานเพียงมากกว่า 35 ปี
การรื้อถอนเสาชิงช้าคู่เดิม เมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นโอกาสที่ทำให้มีการศึกษาทางโบราณคดี ของเสาชิงช้ามากขึ้น โดยเฉพาะร่องรอยแนวถนนและท่อน้ำเดิม เนื่องจากการรื้อถอน หรือก่อสร้างโบราณสถาน ในเขตเมืองพระนคร ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่นั้นๆ
นักโบราณคดี ได้ทำการขุดแต่ง ในระดับแนวพื้นเดิม ที่ยังเหลือร่องรอย และแต่งด้านหน้าติดกันด้านทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) และทิศเหนือ (ด้านศาลาว่าการ กทม.) ในการตรวจสอบชั้นดินเบื้องต้น ได้เชิญนายชาติชาย ร่มสน ผู้เชี่ยวชาญชั้นดินทางวัฒนธรรม มาช่วยในการวิเคราะห์ สรุปรายละเอียดเบื้องต้นได้ดังนี้
ชั้นดินด้านทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) ปรากฏลักษณะร่องรอยกิจกรรม 3 สมัย กล่าวคือ
สมัยที่ 1 เป็นชั้นแนวอิฐขนาดใหญ่ เรียงสลับตามแนวนอน ก่อซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น และมีการก่ออิฐในแนวตั้งยกเป็นขอบ ใต้ชั้นแนวอิฐเป็นชั้นดินเหนียว
สมัยที่ 2 เป็นชั้นพื้น ปรากฏเป็นแนวในแกนตะวันออก-ตะวันตก ลักษณะเป็นหินกรวดหลายขนาดผสมปูนขาว เทปูเป็นพื้น ใต้ลงไปเป็นชั้นอิฐบดวางทับอยู่บนชั้นดินเหนียว
สมัยที่ 3 เป็นท่อน้ำเหล็กที่วางอยู่ในชั้นอิฐสมัยที่ 1 เป็นลักษณะเจาะชั้นอิฐลงไปเพื่อวางท่อเหล็ก
ชั้นดินด้านทิศเหนือ(ด้านศาลาว่าการ กทม.) ปรากฏร่องรอยกิจกรรม 2 สมัย คือ
สมัยที่ 1 (ตรงกับสมัยที่สองของชั้นดินด้านทิศเหนือ) เป็นชั้นพื้น ลักษณะการเรียงตัวของชั้นดิน คล้ายสมัยที่สองด้านเหนือ คือชั้นบนสุด เป็นหินกรวดผสมปูนรองลงไปเป็นชั้นปูนขาว ใต้ชั้นปูนขาวเป็นอิฐก่อสอปูนวางแนวเหนือ-ใต้ ประมาณ 9-11 ชั้น
สมัยที่ 2 (ตรงกับสมัยที่สามของชั้นดินด้านทิศเหนือ) เป็นส่วนของท่อน้ำเหล็ก ปรากฏลักษณะการตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมลงไปในชั้นดินสมัยที่หนึ่ง เพื่อวางท่อน้ำ
ในรายงานดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พบแนวอิฐด้านนอก วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก 1 แผ่น โดยแนวดังกล่าวจะเว้นช่องว่าง จากนั้น จึงก่อแนวอิฐอีก 1 ชั้น วางตัวในลักษณะเดียวกัน โดยชั้นบนสุด จะใช้อิฐก่อตะแคง ปิดด้านบนของช่องดังกล่าว
สรุปชั้นดินเบื้องต้นได้ว่า แนวอิฐในสมัยที่ 1 (ด้านวัดสุทัศน์) น่าจะเป็นแนวถนนเดิม ที่มีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนแนวพื้นสมัยที่ 2 (ด้านวัดสุทัศน์) น่าจะเป็นแนวถนน ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีรางระบายน้ำอยู่ขอบถนน อาจมีการปรับพื้นที่ ด้วยการอัดดินเหนียว เพื่อให้ได้ระดับ แล้วจึงเทชั้นถนน ส่วนท่อเหล็กสมัยที่สาม น่าจะเป็นท่อประปา ที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง คือสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นหลังจากมีการสร้างถนนแล้ว
ช่วงท้ายของรายงานชี้แจงว่า ได้มีการบันทึกภาพถ่าย พร้อมทั้งรายละเอียดทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังได้ทำแผนผังหลุม แผนผังชั้นดิน ลายเส้นแนวอิฐ รวมถึงเก็บตัวอย่างดินในแต่ละชั้นและอิฐ เพื่อนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้น จึงจะนำผลวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ มาวิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานอื่น เช่น เอกสาร แผนผังและรูปถ่ายโบราณ เพื่อจะประมวลเป็นรายงานเบื้องต้นต่อไป
การค้นพบร่องรอยแนวถนนโบราณ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 และท่อน้ำเหล็กสมัยรัชกาลที่ 5 อันเนื่องมาจากการรื้อถอนเสาชิงช้า เมื่อปี พ.ศ. 2549 จึงเป็นผลดี สำหรับการเพิ่มเติมข้อมูลวิชาการโบราณคดีเมือง และหากเป็นไปตามเป้าประสงค์ของ กทม. โอกาสที่ผืนดินนี้ จะถูกขุดแต่งทางโบราณคดีอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษข้างหน้า