รีวิวหนังสือ คุณคือพลาซีโบ ทำความคิดให้ออกฤทธิ์กับสุขภาพ (You are the Placebo)
Placebo (พลาซีโบ) คือ ยาหลอก มักใช้ในการวิจัยในการทดลองประสิทธิภาพของยา เมื่อมีการผลิตยาตัวใหม่ออกมาย่อมต้องมีการทดลองวิจัยในมนุษย์ กล่าวคือ ผู้วิจัยจะแบ่งการทดลองเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรก ได้รับยาจริง
กลุ่มที่สอง ได้รับยาหลอก โดยเข้าใจว่าเป็นยาจริง
บ่อยครั้งที่การวิจัยจะให้ผลลัพธ์ออกมาว่ากลุ่มที่สองจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกลุ่มแรก มันจะเป็นไปได้อย่างไร ?
สำหรับคนที่เคยเรียนแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเห็นปรากฎการณ์นี้ในงานวิจัยบ่อยครั้งมาก ซึ่งมันเป็นความจริง คนที่เข้ารับการทดลองหากมีความเชื่อหรือศรัทธาว่า Placebo คือยาจริง การรักษาก็จะได้ผล...โดยกลไกของร่างกายจะปรับให้โน้มเอียงไปตามความเชื่อ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการรักษาเชิงไสยศาสตร์จึงมักได้ผลในบางคน
ดร.โจ ดิสเพนซา (Dr.Joe Dispenza) จะมาไขความลับของร่างกายในเรื่องนี้
ความรู้ความประทับใจที่ได้ในมุมมองของครีเอเตอร์
- ได้เรียนรู้ว่าทุกครั้งที่เรามีความคิด นอกจากจะมีการสร้างสารสื่อประสาทแล้ว สมองยังสร้างสารเคมีอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่เรียกว่า นิวโรเพปไทด์ (neuropeptide)ที่มีหน้าที่ส่งข้อความไปยังร่างกาย หลังจากนั้นร่างกายจะตอบสนองด้วยการสร้างความรู้สึก และเมื่อสมองรับรู้ว่าร่างกายมีความรู้สึก สมองจะสร้างความคิดที่สอดคล้องกับความรู้สึกนั้น ซึ่งก็จะสร้างข้อความทางเคมีเดิมมากขึ้น เพื่อให้เราคิดไปในทิศทางเดียวกับความรู้สึกนั้น
- ได้เรียนรู้ว่าความคิดของเราคือความรู้สึกของเรา และความรู้สึกของเราคือความคิดของเรา ประสบการณ์ของเราเป็นเหมือนการผสมผสานระหว่างความคิดและความรู้สึก การที่เราติดอยู่ในวงจรนี้ ร่างกายของเราในฐานะจิตไร้สำนึก (unconscious mind) จึงเชื่อจริงๆ ว่าเรากำลังอยู่ในประสบการณ์ที่เหมือนกับในอดีตตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ และ 365 วันต่อปี จิตใจและร่างกายของเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะคล้อยไปตามชะตากรรมที่ถูกกำหนดโดยโปรแกรมในจิตไร้สำนึกของเรา ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องอยู่เหนือกว่าร่างกายและความทรงจำทางอารมณ์ การเสพติด หรือนิสัยที่เรามีโดยไม่รู้ตัว หรือพูดได้ว่า จิตใจต้องไม่ถูกกำหนดโดยร่างกายอีกต่อไป
- ได้เรียนรู้ว่าแนวคิดที่ว่า ยีนเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในความเป็นมนุษย์ (genetic-determinism) ยังคงอยู่ในใจของคนทั่วไป ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อในความคิดผิดๆ ที่ว่าชะตากรรมทางพันธุกรรมของเราถูกกำหนดเอาไว้แล้ว และหากเราได้รับยืนของมะเร็งบางชนิด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคอื่นๆ เราจะไม่สามารถควบคุมสิ่งนั้นได้
- ได้เรียนรู้ว่าคนส่วนใหญ่เจอเหตุการณ์คับขันจะทำให้เรามีการตอบสนองแบบหรือหนี และอยู่ในภาวะไม่สมดุลเกือบตลอดเวลา การโดนคนขับรถตัดหน้าอาจไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตที่คุณเผชิญทุกวัน แต่การเดินทางไปทำงานในการเตรียมการนำเสนอผลงานครั้งใหญ่ การทะเลาะกับคนที่รัก ใบเรียกเก็บเงินบัตรเครดิต คอมพิวเตอร์พัง และผมหงอกเส้นใหม่ที่คุณสังเกตเห็นในกระจก จะทำให้ฮอร์โมนแห่งความเครียดไหลเวียนในร่างกายของคุณเกือบตลอดเวลา
- ได้เรียนรู้ว่าการรำลึกประสบการณ์อันตึงเครียดจากอดีต จนถึงการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเครียดระยะสั้นที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ล้วนแล้วแต่หลอมรวมกันจนกลายเป็นความเครียดระยะยาว นี่คือการใช้ชีวิตในภาวะเอาตัวรอดแบบศตวรรษที่ 21 แต่หากไม่มีการกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล (เพราะเราสัมผัสถึงภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา) พลังงานที่สำคัญจะสูญเสียไปในระบบ เราจะมีพลังงานหลงเหลือในสิ่งแวดล้อมภายในน้อยลง เซลล์ทำงานร่วมกันจะเสียหาย ระบบภูมิคุ้มกันและระบบต่อมไร้ท่อ (และระบบอื่นๆ) จะอ่อนแอลง
- ได้เรียนรู้ว่าร่างกายกำลังอยู่ในอนาคตใหม่ เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่า ร่างกายไม่สามารถแยกแยะระหว่างอารมณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์จริง และอารมณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากความคิดเพียงอย่างเดียวได้ ภาวะอารมณ์ที่ยกระดับที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความคิดใหม่ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการนี้ เพราะมันคือข้อมูลใหม่ที่มาจากภายนอกเซลล์ และสำหรับร่างกายแล้ว ประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมภายในนั้นไม่แตกต่างกันเลย
- ได้เรียนรู้ว่าความซาบซึ้งเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่มีพลังมากที่สุดในการเพิ่มระดับการคล้อยตามสิ่งชี้นำของคุณ ความซาบซึ้งจะสอนร่างกายของคุณในเชิงอารมณ์ว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งได้เกิดขึ้นแล้วที่พึงประสงค์เกิดขึ้น เพราะเรามักจะกล่าวคำขอบคุณหลังจากเรื่องดีๆเกิดขึ้นแล้วหากเรานำอารมณ์แห่งความซาบซึ้งมาใช้ก่อนที่เหตุการณ์จริงเกิดขึ้น ร่างกายของเรา (ในฐานะจิตไร้สำนึก) จะเริ่มเชื่อว่าเหตุการณ์อนาคตได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ หรือกำลังเกิดขึ้นกับเราอยู่ในขณะปัจจุบัน
- ได้เรียนรู้ว่าเบตา คือ สภาวะที่เราตื่นตามปกติ เวลาที่เราอยู่ในเบตา สมองส่วนที่ทำหน้าที่คิดหรือคอร์เทกซ์ใหม่จะประมวลข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่เข้ามาทั้งหมด และสร้างความหมายระหว่างโลกภายนอกและโลกภายใน เบตาไม่ใช่สภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการทำสมาธิเพราะเวลาที่เราอยู่ในเบตา โลกภายนอกจะดูสมจริงกว่าโลกภายใน
- ได้เรียนรู้ว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำสมาธิมีอยู่ 2 ช่วงต่อวัน ได้แก่ ก่อนที่คุณจะเข้านอนในตอนกลางคืน และทันทีที่คุณตื่นนอนในตอนเช้า นั่นเป็นเพราะว่า เวลาที่คุณนอนหลับ สมองของคุณจะมีการเคลื่อนผ่านทุกช่วงของสภาวะคลื่นสมอง จากเวลาที่คุณตื่นคลื่นสมองของคุณจะอยู่ในสภาวะเบตา และเข้าสู่สภาวะอัลฟาที่ช้าลงเวลาที่คุณหลับตาไปสู่สภาวะช้ากว่าเดิมในอีตา เมื่อคุณกึ่งหลับกึ่งตื่น และไปจนถึงสภาวะเดลตาเมื่อคุณหลับลึกและเวลาที่คุณตื่นนอนในตอนเช้า คุณก็จะทำสิ่งเดียวกัน
- ได้เรียนรู้ว่าแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกความเจ็บป่วย หรือโรคทั้งหมดจะเริ่มต้นจากจิตใจของเรา อย่างเช่น ทารกที่เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องและโรคทางพันธุกรรมนั้น ไม่มีทางที่จะถูกกระตุ้นจากความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ และความเชื่ออย่างแน่นอน และการได้รับบาดเจ็บและอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ นอกจากนั้น การสัมผัสกับสารพิษในสิ่งแวดล้อมก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับร่างกายมนุษย์ได้อย่างแน่นอน ประเด็นก็คือ มันไม่ใช่ความผิดของเราเวลาที่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นความจริงที่ร่างกายของเราสามารถอ่อนแอลงได้จากฮอร์โมนความเครียด และไวต่อโรคมากขึ้นเวลาที่ระดับภูมิคุ้มกันของเราหยุดทำงานไม่ว่าการเจ็บป่วยของเราจะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม มันก็เป็นไปได้ที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาวะเจ็บป่วยของเรา
- ได้เรียนรู้ว่าระยะเวลาในการทำสมาธิของคุณโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่เผื่อเวลาเอาไว้เยอะๆ และถ้าหากเป็นไปได้ ควรทำจิตใจให้นิ่งก่อนที่จะเริ่ม หากจำเป็นต้องหยุดการทำสมาธิในเวลาที่กำหนด ควรตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ 10 นาทีก่อนถึงเวลาที่จะต้องจบการทำสมาธิ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องหยุดการทำสมาธิอย่างฉับพลัน อย่าให้เวลาเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจของเรา
- ได้เรียนรู้ว่าเราต้องเริ่มจากการทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ นั่นก็คือ การให้ในยามวิกฤติเวลาที่ทุกคนรู้สึกขาดแคลนและยากจน การรักในเวลาที่ทุกคนโกรธแค้นและตัดสินผู้อื่น, การแสดงความกล้าหาญและความสงบในเวลาที่ทุกคนตกอยู่ในความหวาดกลัว การแสดงความอ่อนโยนในเวลาที่คนอื่นๆ แสดงความไม่เป็นมิตรและความก้าวร้าว,การยอมจำนนต่อความเป็นไปได้ในเวลาที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้แก่งแย่งที่จะเป็นที่หนึ่ง พยายามควบคุมผลลัพธ์ และแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่ออยู่เหนือคนอื่น การรู้จักยิ้มในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจถึงการโน้มน้าวจิตใจของเราเองให้เชื่อในสิ่งที่เอื้อให้เราไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการและประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง โดยมีเหตุผลรองรับที่พิสูจน์ได้ มันมีนัยยะที่หากว่าเราดูถูกตัวเอง บ่นกับเรื่องกลัดกลุ้มที่เรากำลังเผชิญ มันอาจช่วยให้โล่งอกขึ้น แต่ไม่ช่วยให้เราหาทางออกเจอ แถมยังพบกับเรื่องกลัดกลุ้มมากขึ้นไปอีกก็ได้
นี่คือแนวคิดที่เรานำไปปฏิบัติเพื่อปฏิวัติความเป็นอยู่ของตัวเอง กล้าที่บอกกับตัวเองว่าเราปรารถนาให้ชีวิตเป็นไปทางไหน ไม่ใช่ว่าเราต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นอย่างเดียว เราต้องยอมรับความจริง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ควบคู่กับการทำความฝันของเราให้เป้นจริงด้วย