การประหารชีวิตราชวงศ์โรมานอฟ
ราชวงศ์โรมานอฟแห่งจักรวรรดิรัสเซีย (จักรพรรดินิโคลัสที่ 2, จักรพรรดินีอะเลคซันดรา เฟโอโดรอฟนา พระมเหสี และพระราชโอรสทั้ง 5: โอลกา, ตาตยานา, มารีเยีย, อะนัสตาซียา, อะเลคเซย์) ถูกยิงและถูกแทงด้วยดาบปลายปืนจนเสียชีวิต โดยนักปฏิวัติบอลเชวิค ภายใต้การนำของยาคอฟ ยูรอฟสกี ตามคำสั่งของคณะกรรมการบริหารอูราล ในเยคาเตรินบุร์ก ในคืนของวันที่ 16–17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 และผู้ที่ถูกประหารในคืนนั้น ยังเป็นข้าบริพาร ที่ติดตามราชวงศ์โรมานอฟ ประกอบด้วย: ดร. อูจีน บอตคิน แพทย์ประจำราชวงศ์, อันนา เดมีโดวา นางสนองพระโอษฐ์, อเล็กเซ ทรุปป์ ข้ารับใช้ และอีวาน ฮารีโตนอฟ หัวหน้าคนทำครัว ศพของราชวงศ์ถูกนำไปที่ป่าคอปตยากี ที่ซึ่งศพของราชวงศ์ถูกปล้นทรัพย์สิน ฝัง และถูกทำลายด้วยระเบิด เพื่อป้องกันการพิสูจน์รูปพรรณ
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2000 ศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย ประกาศให้สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟเป็นนักบุญ สำหรับ "ความถ่อมพระองค์ ความอดทนและความนอบน้อม" อย่างไรก็ตาม บิชอปไม่ได้ยกย่องสมาชิกราชวงศ์เป็นมรณสักขี (martyr) แต่เป็น "ผู้แบกรับกิเลส" (passion bearer) แทน อันสะท้อนให้เห็นถึงการโต้เถียงกันอย่างเข้มข้นก่อนหน้า เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2008 ศาลสูงสุดแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย มีคำพิพากษาให้จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และราชวงศ์ เป็นเหยื่อของการปราบปรามทางการเมือง และได้รับการกอบกู้ชื่อเสียง
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1917 นิโคลัส ผู้มิได้เป็นพระมหากษัตริย์อีกต่อไป และได้ถูกทหารยามเรียกอย่างดูถูกว่า "นิโคลัส โรมานอฟ" กลับมารวมกับครอบครัวอีกครั้ง ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ในซาร์สกอเย เซโล เขาถูกขังไว้ในบ้าน ตามหมายกักกันของรัฐบาลเฉพาะกาล พร้อมกับครอบครัว สมาชิกราชวงศ์ ถูกสอบสวนอย่างหยาบคาย ในคืนแรกที่นิโคลัสกลับมาถึงบ้าน ในคืนเดียวกันนั้น ได้มีทหารกลุ่มหนึ่งบุกรุกเข้าไปในหลุมศพของเกรกอรี รัสปูติน และยกศพที่กำลังเปื่อยเน่าขึ้นมาด้วยแท่งไม้ แล้วขว้างศพนั้นไปบนกองฟืนแล้วราดด้วยน้ำมัน ร่างนั้นถูกเผาเป็นเวลาหกชั่วโมง จนเถ้าถ่านลอยไปกับสายลม อดีตซาร์ยังคงสงบและมีภูมิฐาน กระทั่งยืนกรานให้บุตรธิดา มารับการสอนวิชาประวัติศาสตร์กับภูมิศาสตร์กับตนด้วย เขายังสนใจติดตามข่าวความเป็นไปของสงคราม ทางหนังสือพิมพ์อย่างกระตือรือร้น ซึ่งในนั้นก็มีทั้งวิธีที่สื่อปัจจุบัน ตีพิมพ์เรื่องราวอันน่าตื่นตกใจ ระหว่างรัสปูตินกับจักรพรรดินี "การสารภาพ" ของอดีตข้าราชบริพารและชีวิตส่วนตัวของผู้อ้างตนเองเป็น "คนรัก" ของธิดาของซาร์ทั้งสี่
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1917 รัฐบาลเฉพาะกาลของอเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี ย้ายสมาชิกราชวงศ์ไปยังโตโบลสก์ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสมาชิกราชวงศ์จากกระแสการปฏิวัติที่เพิ่มสูงขึ้น พวกเขาอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของอดีตผู้ว่าการด้วยความสะดวกสบายพอสมควร หลังจากพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐรัสเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 สภาพการถูกคุมขังก็ได้เข้มงวดขึ้นและการอภิปรายเพื่อนำตัวนิโคลัสมาพิจารณาคดีมีบ่อยครั้งขึ้น นิโคลัสถูกห้ามสวมอินทรธนู และทหารยามวาดรูปลามกหวัด ๆ บนรั้วเพื่อล่วงเกินธิดาของเขา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1918 ราชวงศ์ถูกจัดให้ดำรงชีพด้วยอาหารปันส่วนของทหาร ซึ่งหมายถึงการแยกจากข้าราชบริพาร 10 คน และการยกเนยเหลวและกาแฟให้เป็นของฟุ่มเฟือย
เมื่อบอลเชวิคมีกำลังกล้าแข็งขึ้น นำไปสู่การต่อต้านเต็มรูปแบบเมื่อถึงฤดูร้อน นิโคลัส อะเลคซันดรา และธิดา มารีเยีย ถูกย้ายไปยังเยคาเตรินบุร์กในเดือนเมษายน อะเลคเซย์ป่วยเกินกว่าจะร่วมเดินทางไปกับพ่อแม่และอยู่กับพี่สาว โอลกา ตาตยานาและอะนัสตาซียา โดยไม่ออกจากโตโบลสก์จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918 ราชวงศ์ถูกคุมขังโดยมีผู้ติดตามที่เหลืออยู่ไม่กี่คนในบ้านอีปาเตียฟในเยคาเตรินบุร์ก ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น บ้านจุดประสงค์พิเศษ (รัสเซีย: Дом Особого Назначения)
พรรคบอลเชวิค ต้องการนำตัวซาร์มาพิจารณาคดี แต่สถานการณ์แวดล้อมได้นำไปสู่การตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะสังหารราชวงศ์อย่างรวบรัด ราชวงศ์โรมานอฟถูกจับกุมโดยกองทัพแดงในเยคาเตรินบุร์ก เมื่อสงครามกลางเมืองดำเนินไปและกองทัพขาว (อันเป็นพันธมิตรของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหลวม ๆ) คุกคามที่จะยึดเมืองดังกล่าว ความกลัวที่ว่าราชวงศ์โรมานอฟจะตกอยู่ในการควบคุมของฝ่ายรัสเซียขาว ซึ่งพรรคบอลเชวิครับไม่ได้ด้วยเหตุผลสองประการคือ ซาร์หรือสมาชิกราชวงศ์สามารถถูกใช้เพื่อระดมการสนับสนุนอุดมการณ์ของฝ่ายขาว และอย่างที่สอง ซาร์หรือสมาชิกราชวงศ์คนใดหากซาร์เสียชีวิตแล้ว จะถูกชาติยุโรปอื่นพิจารณาว่าเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมของรัสเซีย ซึ่งจะหมายความว่าผู้นั้นจะสามารถเจรจาให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงมากขึ้นในนามของฝ่ายขาว ไม่นานหลังจากราชวงศ์ถูกประหารชีวิต เมืองก็ตกเป็นของฝ่ายรัสเซียขาว
วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 กองทัพเช็กกำลังรุกเข้าใกล้เยคาเตรินบุร์ก ซึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าสมาชิกราชวงศ์รัสเซียกำลังถูกคุมขังอยู่ตามหมายกักกัน พรรคบอลเชวิคซึ่งเชื่อว่าทหารเช็กกำลังอยู่ในระหว่างภารกิจช่วยเหลือราชวงศ์รัสเซีย ตื่นตระหนกและประหารชีวิตยามรักษาการณ์ เหตุผลที่แท้จริงที่ทหารเช็กถูกส่งมายังเยคาเตรินบุร์กนั้นเพื่อป้องกันทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย ซึ่งฝ่ายขาว มีการควบคุมสมบูรณ์ สถานการณ์แวดล้อม มีผลอย่างมาก ต่อการประหารชีวิตราชวงศ์รัสเซีย
โทรเลขลงคำสั่งกวาดล้างนักโทษ ในนามของสภาโซเวียตสูงสุดในมอสโก ลงนามโดยยาคอฟ ซเวิร์ดลอฟ ราวเที่ยงคืน คาคอฟ ยูรอฟสกี ผู้ดูแลบ้านจุดประสงค์พิเศษ สั่งให้แพทย์ประจำราชวงศ์โรมานอฟ ดร. ยูจีน บอตคิน ให้ปลุกสมาชิกราชวงศ์ที่กำลังหลับใหลและให้พวกเขาแต่งตัว สมาชิกโรมานอฟได้รับคำสั่งให้เข้าไปในห้องกึ่งห้องพักใต้ดินขนาด 6 × 5 เมตร นิโคลัสขอเก้าอี้สามตัวสำหรับตัวเขาเองกับภรรยา และบุตรธิดา ชุดยิงมาถึงอันดับต่อไปและยูรอฟสกีประกาศว่า
นิโคไล อเล็คซานโดรวิช เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกพ้องของคุณกำลังดำเนินการโจมตีโซเวียตรัสเซียอย่างต่อเนื่องแล้ว คณะกรรมการบริหารอูราลจึงตัดสินใจประหารชีวิตคุณ
จากนั้นยูรอฟสกีเริ่มต้นอ่านการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารอูราล และนิโคลัสถามว่า "อะไรนะ" ตามการระลึกความทรงจำของทหารยาม เมื่ออาวุธถูกยกขึ้น จักรพรรดินีและแกรนด์ดัชเชสโอลกา พยายามจะทำเครื่องหมายกางเขน แต่ถูกยิงก่อนที่จะทำเสร็จ ยูรอฟสกีตามรายงาน ได้ชี้ปืนที่นิโคลัสแล้วยิง นิโคลัสเสียชีวิตทันที เพชฌฆาตคนอื่น ๆ เริ่มต้นยิงจนกระทั่งเหยื่อที่วางแผนไว้เสียชีวิตทั้งหมด และมีการยิงต่อไปอีกหลายนัด ประตูถูกเปิดเพื่อปล่อยควันที่คละคลุ้งออกไป ยังมีผู้รอดชีวิตบางคน ดังนั้น พี. แซด. เยียร์มาคอฟจึงแทงพวกเขาเหล่านั้นด้วยดาบปลายปืน เพราะเสียงตะโกนอาจได้ยินไปถึงข้างนอก บุคคลสุดท้ายที่เสียชีวิตคือ อะนัสตาซียา ตาตยานา โอลกา และมารีเยีย ผู้พกพาเพชรหนักกว่า 1.3 กิโลกรัมในเสื้อผ้า จึงช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกแทงด้วยดาบปลายปืนเช่นกัน โอลกาถูกปืนยิงเข้าที่ศีรษะ กล่าวกันว่าอะนัสตาซียาและมารีเยียหมอบอิงกับกำแพงและเอามือปิดบังศีรษะของตนด้วยความกลัวจนกระทั่งมารีเยียถูกยิงล้มลง และอะนัสตาซียาถูกสังหารด้วยดาบปลายปืน ตัวยูรอฟสกีเองเป็นผู้สังหารตาตยานาและอะเลคเซย์ ตาตยานาเสียชีวิตจากกระสุนที่ถูกยิงเข้าด้านหลังศีรษะ อะเลคเซย์ถูกกระสุนสองนัดที่ศีรษะ ตรงหลังหูพอดี อันนา เดมิโดวา สาวรับใช้ของอะเลคซันดรา รอดชีวิตจากการประหารรอดแรกแต่ถูกแทงจนเสียชีวิตติดกับกำแพงหลังขณะพยายามป้องกันตนเองด้วยหมอนใบเล็กที่เธอพกซึ่งบรรจุไปด้วยอัญมณีและเครื่องประดับมีค่า
ประกาศอย่างเป็นทางการ ปรากฏในสื่อแห่งชาติในอีกสองวันให้หลัง โดยรายงานว่าพระมหากษัตริย์ถูกประหารชีวิต ตามคำสั่งของอูราลิสปอลคอม (คณะกรรมการบริหารอูราล) อันมีสาเหตุมาจากการมาถึงของพวกเชโกสโลวัก ถึงแม้ว่าบันทึกอย่างเป็นทางการของโซเวียตจะระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของอูราลิสโปลคอม เลออน ทรอตสกีได้ระบุในบันทึกประจำวันของเขาว่า การลอบสังหารเกิดขึ้นตามอำนาจของเลนิน ทร็อตสกีเขียนไว้ว่า
การเดินทางเยือนมอสโกครั้งต่อไปของผม เกิดขึ้นหลังจากเยคาเตรินบุร์กเสียแก่ข้าศึก ระหว่างที่คุยกับสเวิร์ดลอฟ ผมถามเขาตามปกติ "เออ ใช่ แล้วซาร์อยู่ที่ไหนล่ะ" "มันจบแล้ว" เขาตอบ "เขาถูกยิง" "แล้วครอบครัวเขาอยู่ไหน" "และครอบครัวก็อยู่กับเขาด้วย" "หมดเลยหรือ" ผมถาม ชัดเจนว่ารู้สึกประหลาดใจ "หมดเลย" ยาคอฟ สเวิร์ดลอฟตอบ "ถามทำไม" เขารอเพื่อดูปฏิกิริยาของผม ผมไม่ตอบอะไร "แล้วใครเป็นคนตัดสินใจ" ผมถาม "เราตัดสินใจที่นี่ อิลลิช [เลนิน] เชื่อว่า เราไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายขาวได้ธงมีชีวิต เพื่อระดมคนไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ยากลำบากนี้
ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อมีข่าวลือแพร่กระจายในเยคาเตรินบุร์กเกี่ยวกับจุดที่นำศพไปทิ้ง ทำให้ยูรอฟสกีเคลื่อนย้ายศพแล้วไปซ่อนไว้ที่อื่น (56.942222°N 60.473333°E) เมื่อพาหนะซึ่งบรรทุกศพมาเกิดเสียกลางทางที่จะไปถึงจุดที่เลือกใหม่ ยูรอฟสกีก็ได้จัดการใหม่อีก โดยฝังร่างส่วนใหญ่ในหลุมที่ผนึกและอำพรางไว้ (56.9113628°N 60.4954326°E) บนถนนคอพท์ยาคี ถนนลูกรังซึ่งปัจจุบันไม่ใช้แล้วห่างออกไป 19 กิโลเมตรทางเหนือของเยคาเตรินบุร์ก ร่างที่เหลืออยู่ของราชวงศ์และผู้ติดตาม ยกเว้นเด็กสองคน ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1991 และถูกฝังใหม่โดยรัฐบาลรัสเซียหลังจากมีการจัดรัฐพิธีศพ ส่วนร่างของเด็กสองคนนั้นถูกระบุเอกลักษณ์ในปี ค.ศ. 2008 มีการจัดพิธีการฝังแบบคริสต์ในปี ค.ศ. 1998 ศพถูกฝังอย่างสมเกียรติในวิหารเซนต์แคเธอรีนในมหาวิหารปีเตอร์และพอลในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก อันเป็นที่ฝังพระศพของอดีตพระมหากษัตริย์รัสเซียตั้งแต่ซาร์ปีเตอร์มหาราช ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน และภริยาเข้าร่วมงานศพพร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์โรมานอฟ รวมทั้งเจ้าชายไมเคิลแห่งเคนท์ ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ประกาศให้ราชวงศ์โรมานอฟเป็นนักบุญด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 2010 ศาลรัสเซียมีคำสั่งให้อัยการเปิดการสอบสวนการฆาตกรรมจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และราชวงศ์อีกครั้ง แม้ข้อเท็จจริงที่ว่า ทหารบอลเชวิคซึ่งเชื่อกันว่ายิงพวกเขาในปี ค.ศ. 1918 จะเสียชีวิตไปนานแล้วก็ตาม หน่วยสืบสวนหลักของอัยการสูงสุดรัสเซียว่า ทางหน่วยได้ปิดการสอบสวนทางอาญาต่อการสังหารจักรพรรดินิโคลัสไปแล้วอย่างเป็นทางการ เพราะเวลาล่วงเลยมานานแล้วนับตั้งแต่เกิดอาชญากรรม และผู้รับผิดชอบได้เสียชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ศาลบัสมันนีมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยว่า ศาลสูงสุดซึ่งประณามรัฐว่าเป็นผู้ฆ่าทำให้การตายของมือปืนที่แท้จริงนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ตามทนายความของผู้สืบสกุลของซาร์และสำนักข่าวท้องถิ่น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีหลายคนซึ่งอ้างว่า เป็นพระบรมวงศานุวงศ์โรมานอฟที่รอดชีวิต กระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์ของศพนั้น เป็นไปอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตัวอย่างถูกส่งไปยังอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเพื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ผลทดสอบสรุปว่า โครงกระดูกจำนวนห้าโครงเป็นสมาชิกของครอบครัวหนึ่งและอีกสี่โครงนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน โครงกระดูกสามจากห้าโครงวิเคราะห์แล้วเป็นลูกของบิดามารดาคู่หนึ่ง แม่นั้นมีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งน่าจะเป็นจักรพรรดินีอะเลคซันดรา เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระนัดดา (หลานชาย) ของพระเชษฐภคินี (พี่สาว) คนแรกสุดของอะเลคซันดรา เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเฮสส์และไรน์ มีตัวอย่างดีเอ็นเอเข้ากันกับของโครงกระดูกนั้น ส่วนพ่อวิเคราะห์แล้วเกี่ยวข้องกับแกรนด์ดยุคจอร์จ อะเลคซันดราวิช พระอนุชา (น้องชาย) ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 นักวิทยาศาสตร์อังกฤษกล่าวว่า พวกเขามั่นใจมากกว่า 98.5% ว่า โครงกระดูกนี้เป็นของซาร์ ราชวงศ์และผู้ติดตาม[20][21] เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2008 โครงกระดูกดังกล่าวได้รับการพิสูจน์เอกลักษณ์ขั้นสุดท้ายว่าเป็นของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 โดยนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและอเมริกันโดยใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/E9zcWVrbt34?si=sukODLf9vfjI5ggv
วิกิพีเดีย
การประหารชีวิตราชวงศ์โรมานอฟ