สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 1 ทรราชย์แห่งมาดากัสการ์
พระนางรานาวาโลนาที่ 1 หรือ รันฟาลูนาที่ 1 (Ranavalona I) ประสูติ 1778 - 1861) เดิมทรงมีพระนามว่า เจ้าหญิงรามาโว (Ramavo) หลังจากกษัตริย์ราดามาที่ 1 มหาราช (Radama I the Great) สวรรคต ได้ไม่นานโดยไม่มีทายาท พระราชชนนีในอดีตกษัตริย์คือ พระนางรามโบลามาโซอันโดร พระพันปีหลวงจึงพยายามผลักดันให้เจ้าชายราโกโตเบ (Rakotobe) เด็กน้อยผู้เฉลียวฉลาดและอัธยาศัยดี อีกทั้งศึกษาในสมาคมมิชชันนารีลอนดอนขึ้นครองราชย์ แต่เหล่าขุนนางเกรงว่า สถาบันกษัตริย์จะมีอำนาจกดหัวขุนนางอีก จึงหักหลังสมเด็จพระพันปีหลวง และชิงอำนาจ ขุนนางพยายามหาราชวงศ์มาเป็นหุ่นเชิดซึ่งก็ได้ อดีตพระราชินีรามาโว (Queen Ramavo) มเหสีผู้โดดเดี่ยวและดูหัวอ่อนของอดีตกษัตริย์ ให้มาเป็นผู้สืบบัลลังก์
การรัฐประหารวังหลวงจึงสิ้นสุดด้วยชัยชนะของรามาโว พระนางเลือกใช้พระนามรัชกาลว่า สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 1 และทรงดำเนินตามประเพณีโบราณทันทีในการฆ่าล้างวงศ์ที่กระด้างกระเดื่อง ทั้งสมเด็จพระพันปีหลวง ผู้เป็นแม่สามี เจ้าหญิงพี่สาวของอดีตกษัตริย์ และเจ้าชายน้อยราโกโตเบต่างถูกสั่งประหารตามบัญชาของสมเด็จพระราชินีนาถ ทรงทำเช่นนี้เพราะต้องการล้างแค้นกษัตริย์ราดามาที่ 1 ที่สั่งประหารครอบครัวของพระนาง การรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นรัชสมัยที่โหดเหี้ยมที่สุดของมาดากัสการ์ ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1829
พระนางรานาวาโลนาที่ 1 ทรงเป็นพระประมุขสตรีองค์แรก ของมาดากัสการ์ยุคใหม่ และเป็นประมุขสตรีของชาวเมรีนาพระองค์แรก นับตั้งแต่ตั้งอาณาจักรเมรีนาในปีค.ศ. 1540 พระนางทรงขึ้นมามีอำนาจภายใต้สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ที่ผู้ชาย มีบทบาทในวงการเมืองมากกว่าผู้หญิง ตลอดรัชสมัย 33 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 1 ทรงพยายามเสริมสร้างอำนาจภายในประเทศมาดากัสการ์ให้เหนือกว่าอำนาจของเจ้าแว่นแคว้นต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะทางการปกครองแบบดั้งเดิมของแอฟริกา ที่แต่ละแคว้นปกครองด้วยคนต่างชนเผ่า และตลอดรัชสมัยนี้ทรงพยายามรักษาอำนาจอธิปไตยทางการเมืองและวัฒนธรรมของมาดากัสการ์ด้วยวิธีการที่รุนแรง
นโยบายเหล่านี้ มาจากการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลมหาอำนาจยุโรป ภายในราชอาณาจักร และเกิดการแข่งขันด้านอิทธิพลกันระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเหนือเกาะแห่งนี้ ทรงผลักดันนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยวและนโยบายพึ่งพาตนเอง ลดทอนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับมหาอำนาจยุโรป ทรงขับไล่การโจมตีของมหาอำนาจฝรั่งเศสที่เมืองมาฮาเวโลนา บริเวณชายฝั่งของอาณาจักร และต่อต้านนโยบายของอดีตพระสวามีที่ให้มีการเผยแพร่ศาสนา พระนางทรงฆ่าล้างชาวมาลากซีที่เปลี่ยนเป็นคริสต์ จากนั้นพระนางทรงดำเนินศาสนาตามจารีตเดิมอย่างเข้มข้น
สมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 1 ทรงก่อศึกสงครามบ่อยครั้งที่สุด มีโรคระบาด มีการบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ และระบบยุติธรรมที่รุนแรงโหดร้ายในการไต่สวน อันเป็นผลให้อัตราการมรณะของประชากรมาดากัสการ์มีการเสียชีวิตสูงที่สุดทั้งทหารและพลเรือน เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองในราชสำนักที่ต้องการให้พระโอรสของพระนางขึ้นครองราชย์แทนและชาติมหาอำนาจได้ใช้ช่องทางนี้ในการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มราชินี
ฝรั่งเศสมีความกระตือรือร้นที่จะเร่งให้เจ้าชายราโกโต (Prince Rakoto) พระโอรสเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระราชินีนาถรานาวาโลนาที่ 1 ขึ้นครองราชสมบัติ โดยทรงเป็นพระโอรสที่ประสูติแต่ชู้รักของพระนางในช่วงหลังที่พระเจ้าราดามาที่ 1 สวรรคต เจ้าชายราโกโตทรงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างลับๆ พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากตัวแทนจากฝรั่งเศสคือ โฌเซฟ-ฟรังซัวส์ แลมแบร์ (Joseph-François Lambert) ในปีค.ศ. 1857 แลมแบร์ ร่วมกับชาวต่างชาติที่สนับสนุนฝรั่งเศสในประเทศพยายามก่อการรัฐประหารวังหลวงเพื่อปลดสมเด็จพระราชินีนาถออกจากราชบัลลังก์ และอัญเชิญเจ้าชายราโกโตที่สนับสนุนฝรั่งเศสขึ้นครองราชย์ อังกฤษและชาติยุโรปปฏิเสธที่จะทำตามแผนการของฝรั่งเศสจึงทำให้แลมแบร์ต้องดำเนินการเพียงลำพัง ตามบันทึกของไอดา ไฟเฟอร์ (Ida Laura Pfeiffer) นักท่องเที่ยวหญิงชาวออสเตรียที่อยู่ในราชสำนักมาดากัสการ์ขณะนั้นและกลายเป็นผู้ร่วมก่อการโดยไม่ตั้งใจ ได้บันทึกว่า เจ้าชายราโกโตและแลมแบร์พยายามโค่นบัลลังก์สมเด็จพระราชินีนาถในวันที่ 20 มิถุนายน โดยเชื่อว่าทหารและรัฐมนตรีจะสนับสนุนเจ้าชายราโกโต แต่ฝ่ายอังกฤษมองว่าที่การรัฐประหารล้มเหลวก็เพราะเจ้าชายราโกโตทรงส่งสัญญาณเตือนพระราชมารดาถึงแผนการ และที่ต้องทรงร่วมมือด้วยก็เพราะทรงใช้อุบายซ้อนดักจับผู้สมรู้ร่วมคิดและทรยศพระราชมารดา หลังจากเหตุการณ์นั้นชาวต่างชาติหลายคนถูกขับไล่ออกจากประเทศ และบางคนต้องหลบอยู่ในเคหสถาน ส่วนชาวมาลากาซีที่ร่วมแผนการถูกประหารอย่างทารุณ
พระนางฉลาด พอที่เอาตัวรอดได้ จากกลการเมืองนี้ และสังหารผู้ก่อการอย่างโหดร้าย รวมถึงขับไล่ชาวต่างชาติ ชาวยุโรปร่วมสมัยประณามนโยบายของพระนาง และระบุว่าพระนางทรงเป็นจอมเผด็จการและบ้าคลั่งอย่างเลวร้าย แต่ในสายตาของนักชาตินิยม พระนางกลายเป็นราชินีผู้รักชาติที่ต้องการขยายดินแดนและปกป้องอธิปไตย แม้ว่าจะฆ่าล้างประชาชนที่ต่อต้านอย่างโหดร้าย กลียุค 33 ปีได้สิ้นสุดลงเมื่อพระนางสวรรคตในปี 1861 สิริพระชนมายุ 82 พรรษา
รัชสมัยที่ยาวนาน 33 ปีที่โหดร้ายของพระนาง ได้ก่อรูปให้อำนาจของกองทัพ มีความเข้มแข็งอย่างมาก และการดำรงซึ่งอำนาจอธิปไตยที่เข้มแข็ง การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ที่รัฐบาลในพระราชวังรูวาแห่งอันตานานาริโว แต่อย่างไรก็ตามรัชสมัยต่อๆมา มาดากัสการ์ต้องประสบกับภัยอาณานิคมอย่างหนัก และสถาบันกษัตริย์ที่อ่อนแอลงอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลขุนนาง อีกทั้งขาดแรงสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจที่จะสามารถเข้ามาคานอำนาจชาติที่คุกคามประเทศได้
อ้างอิงจาก:
https://en.wikipedia.org/wiki/Ranavalona_I
Pfeiffer, Ida (1861). The last travels of Ida Pfeiffer: inclusive of a visit to Madagascar. London: Harper.
https://youtu.be/-NOLUu1B9AI?si=yLlfKOsQ0qdaP4gj