แหล่งมรดกโลกทิยา (Tiya World Heritage Site)
ทิยา (Tiya) เป็นแหล่งโบราณคดีในภาคกลางของเอธิโอเปีย ตั้งอยู่ในเขตโซดโด (Soddo) ภายในโซนกูราเก (Gurage Zone) ของเขตชาติพันธุ์และประชาชนภาคใต้ (Southern Nations, Nationalities, and Peoples Region) ทางตอนใต้ของกรุงแอดดิสอาบาบา แหล่งนี้มีชื่อเสียงจากเสาหินขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งหลายต้นมีลวดลายสลักอยู่ เนื่องจากความพิเศษ ของอนุสรณ์สถานหินขนาดมหึมาเหล่านี้ ทิยา จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ในปี ค.ศ. 1980
ภาพรวม
จากการศึกษาของโจซซอม (Joussaume) ในปี ค.ศ. 1995 ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการขุดค้นทางโบราณคดีที่ทิยา พบว่าแหล่งนี้มีอายุค่อนข้างใหม่ ถูกกำหนดให้อยู่ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 13 อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ภายหลังชี้ว่าการสร้างเสาหินอาจเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึง 15 กระนั้น การก่อสร้างอนุสรณ์สถานหินขนาดใหญ่ในเอธิโอเปีย ถือเป็นประเพณีโบราณ ที่มีอายุย้อนกลับไปก่อนยุคคริสต์ศักราช
เสาหินหรือแท่งหินที่ทิยา "จำนวน 32 ต้น มีสัญลักษณ์ลึกลับสลักอยู่ โดยเฉพาะเครื่องหมายดาบ" ซึ่งน่าจะเป็นจุดกำหนดของสุสานโบราณขนาดใหญ่ นักสำรวจชาวเยอรมันเคยเดินทางไปยังสถานที่นี้เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1935 และพบว่าห่างจากจุดตั้งค่ายของคาราวานไปทางใต้ราวหนึ่งชั่วโมง มีเสาหินที่มีสัญลักษณ์ดาบ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกพบโดยเนอวิลล์ (Neuville) และเปเร อาซาอิส (Père Azaïs)
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า มีเครื่องมือหินยุคหินกลาง (Middle Stone Age) ถูกค้นพบที่ทิยา ซึ่งมีลักษณะทางเทคโนโลยีคล้ายกับเครื่องมือที่พบในแหล่งกาเดโมตตา (Gademotta) และกุลคูเล็ตติ (Kulkuletti) นอกจากนี้ การผลิตเครื่องมือเหล่านี้มีเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "tranchet blows" ซึ่งอาจบ่งบอกว่าเครื่องมือเหล่านี้มีอายุใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ที่กล่าวถึง อีกทั้งการขุดค้นที่ทิยายังพบร่องรอยของสุสานด้วย
เสาหินกูราเก
ทิยาเป็นหนึ่งในเก้าแหล่งเสาหินขนาดใหญ่ ในโซนกูราเก จนถึงปี ค.ศ. 1997 มีรายงานว่ามีเสาหินในพื้นที่นี้ถึง 118 ต้น เช่นเดียวกับเสาหินที่พบในโซนฮาดิยา (Hadiya Zone) โครงสร้างเหล่านี้ถูกชาวบ้านเรียกว่า "เยกราญ ดิงไก" (Yegragn Dingay) หรือ "หินของกราน" ซึ่งอ้างอิงถึงอิหม่ามอะห์หมัด อิบน์ อิบราฮิม อัล-ฆอซี (Ahmad ibn Ibrahim al-Ghazi) หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะห์หมัด "กูเรย์" หรือ "กราน" ผู้ปกครองแห่งสุลต่านอาดาล (Adal Sultanate)
เสาหินกูราเกสามารถจำแนกออกเป็นสามประเภท ได้แก่
- เสาหินที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์
- เสาหินที่มีลักษณะเป็นแท่งสูงรูปทรงกระบอก
- เสาหินที่ไม่จัดอยู่ในสองประเภทข้างต้น
เสาหินประเภทแรกและประเภทที่สาม มีลักษณะแบน ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้เฉพาะในภูมิภาคตอนใต้ของเอธิโอเปีย เสาหินส่วนใหญ่ รวมถึง 46 ต้นที่ทิยา ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ มีลวดลายตกแต่งที่โดดเด่น โดยสัญลักษณ์เหล่านี้ประกอบด้วย ดาบ สัญลักษณ์รูปต้นไม้ และภาพมนุษย์ยืนกางแขน นอกจากนี้ สัญลักษณ์ต้นไม้และดาบมักปรากฏร่วมกันบนเสาหินเดียวกัน รายงานระบุว่ารูปดาบที่พบสลักบนเสาหินเป็นแบบดาบของชาว "กัลลา" (Galla) หรือโอะโรโม (Oromo) อีกทั้งยังพบสัญลักษณ์รูปตัว "T" บนแผ่นหินที่ทิยาบ่อยครั้ง
เสาหินที่ทิยาและพื้นที่อื่นในภาคกลางของเอธิโอเปีย มีความคล้ายคลึงกับเสาหิน ที่พบในเส้นทางระหว่างเมืองจิบูตี (Djibouti City) และโลยาดา (Loyada) ในประเทศจิบูตี ซึ่งเสาหินในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งเสาหินที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์และเสาหินรูปทรงกระบอก โดยมักพบร่วมกับสุสานรูปสี่เหลี่ยมที่มีแผ่นหินตั้งอยู่ด้านข้าง อย่างไรก็ตาม อายุที่แน่นอนของเสาหินในจิบูตียังไม่สามารถระบุได้ และบางต้นมีสัญลักษณ์รูปตัว "T" เช่นเดียวกับที่พบที่ทิยา
การวิจัย
มีการศึกษาที่ทิยาค่อนข้างน้อย และยังคงมีอุปสรรคหลายประการ ในการทำความเข้าใจแหล่งโบราณคดีประเภทนี้ ประการแรก คือความยากลำบากในการระบุว่า ผู้สร้างเสาหินเหล่านี้เป็นใคร เนื่องจากไม่มีหลักฐานอื่นนอกจากเสาหินเอง ประการที่สอง นักโบราณคดี มักพยายามสร้างประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ขึ้นใหม่ผ่านการเล่าขานของชาวพื้นเมือง อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ มักขาดแคลน หรือให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ในหลายกรณี
อ้างอิงจาก:
https://shorturl.asia/6JBCH
https://shorturl.asia/gNjOT
https://shorturl.asia/3OoJ8












