แนวปะการังที่เป็นมรดกโลก เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี
แนวปะการังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 2 แห่งของออสเตรเลีย - นิงกาลูบนชายฝั่งตะวันตกและแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์บนชายฝั่งตะวันออก - ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวพร้อมๆ กัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังกล่าวว่าเป็น ช่วงเวลาที่น่ากังวลใจอย่างมาก
ทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองฝั่งได้เฝ้าติดตามและวิเคราะห์ภาวะเครียดจากความร้อนและการฟอกสีที่ลุกลามไปทั่วถิ่นที่อยู่อาศัยในทะเลเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน
ในแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์ ตรวจพบการฟอกสีตั้งแต่บริเวณเมืองทาวน์สวิลล์ไปจนถึงปลายแหลมเคปยอร์ก ซึ่งห่างออกไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร
ในแนวปะการังนิงกาลูอันโด่งดังของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีความยาว 300 กิโลเมตรและเป็นหนึ่งในแนวปะการังแนวชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อเสียงในเรื่องปะการังสีสันสดใสและฉลามวาฬที่มักอพยพไปบริเวณใกล้เคียง พบว่าน้ำมีปริมาณความเครียดจากความร้อนสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในช่วงคลื่นความร้อนทางทะเลที่แผ่ขยายไปทั่วทั้งแนวชายฝั่งที่กว้างใหญ่ของรัฐ
มีรายงานว่าเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปะการังในบริเวณนั้นจะถูกบังคับให้ขับไล่สาหร่ายสีสันต่างๆ ที่ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อออกไป ส่งผลให้เกิดภาวะฟอกขาว
การฟอกขาว (สำหรับปะการัง) เป็นโรค แม้ว่าจะไม่ได้หมายถึงความตายโดยตรง แต่เมื่อสถานการณ์แย่ลงถึงระดับหนึ่ง ปะการังจะไม่สามารถอยู่รอดได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นเหตุการณ์ฟอกขาวหมู่ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว อาการฟอกสีได้แพร่กระจายลึกลงไปในแนวปะการังและไม่จำกัดอยู่แค่บริเวณด้านบนของแนวปะการังอีกต่อไป และปะการังหลายประเภทกำลังประสบกับอาการฟอกสี
ที่มา: theguardian/IG@minderoofoundation















