สุสานชาวยิวในเมืองวอร์มส์ หรือที่เรียกว่า Heiliger Sand ในเมืองวอร์มส์ ประเทศเยอรมนี
สุสานชาวยิวในเมืองวอร์มส์ หรือที่เรียกว่า Heiliger Sand ในเมืองวอร์มส์ ประเทศเยอรมนี มักถูกกล่าวถึงว่า เป็นสุสานชาวยิวที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป แม้ว่าการฝังศพของชาวยิว ในส่วนที่เป็นสุสานยิวของสุสานใต้ดินโรมัน จะมีมาก่อนหน้านั้นเป็นพันปี ชุมชนชาวยิวในเมืองวอร์มส์ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 11 และศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังสามารถอ่านได้มีอายุย้อนไปถึงปี 1058/59 สุสานแห่งนี้ถูกปิดในปี 1911 เมื่อมีการเปิดสุสานแห่งใหม่ อย่างไรก็ตาม การฝังศพของบางครอบครัวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปลายทศวรรษที่ 1930 ส่วนที่เก่ากว่าของสุสานยังคงมีศิลาจารึกประมาณ 1,300 แผ่น ในขณะที่ส่วนที่ใหม่กว่า (ตั้งอยู่บนกำแพงป้อมปราการเมืองเดิม ซึ่งได้มาหลังปี 1689) มีศิลาจารึกมากกว่า 1,200 แผ่น
สุสานแห่งนี้ ได้รับการอนุรักษ์และดูแลโดยเมืองวอร์มส์ ชุมชนชาวยิวในไมนซ์-วอร์มส์ และสำนักงานอนุรักษ์มรดกแห่งรัฐไรน์แลนด์-พาลาทิเนต สถาบันซาโลมอน แอล. สไตน์ไฮม์เพื่อประวัติศาสตร์ชาวยิวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัยดุยส์บูร์ก-เอสเซิน ได้ดำเนินการบันทึกและวิจัยเกี่ยวกับสุสานแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2005 เนื่องจากความสำคัญทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ สุสานชาวยิวแห่งนี้ (ร่วมกับแหล่งมรดกยุคกลางของชาวยิวอื่น ๆ ในเมืองวอร์มส์ สเปเยอร์ และไมนซ์) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 2021
ภูมิศาสตร์
Heiliger Sand ครอบคลุมพื้นที่รูปสามเหลี่ยมประมาณ 1.6 เฮกตาร์ เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองยุคกลางสูง ในศตวรรษที่ 14 เมื่อมีการสร้างป้อมปราการชั้นที่สองล้อมรอบเมืองวอร์มส์ สุสานจึงอยู่ระหว่างป้อมปราการทั้งสองชั้น จำนวนศิลาจารึกในสุสานถูกประมาณว่ามีอยู่ราว 2,500 แผ่น
เนื่องจากการขยายตัวของเมือง ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ปัจจุบัน สุสานตั้งอยู่บริเวณขอบศูนย์กลางเมือง มีทางรถไฟสายไมนซ์–ลูทวิกส์ฮาเฟนอยู่ทางทิศตะวันตก ถนน Willy-Brandt-Ring อยู่ทางทิศตะวันออก และถนน Andreasstraße อยู่ทางทิศเหนือ
ประวัติการพัฒนา
ภาพมหาวิหารวอร์มส์จากสุสาน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "ทัศนียภาพของมาร์ติน บูเบอร์" บูเบอร์เคยเขียนเกี่ยวกับมุมมองนี้ โดยสะท้อนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและชาวยิว รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวและศาสนาคริสต์
ศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุด ที่ยังคงอยู่มีอายุย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 11 อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการใช้สุสานหรือว่าสุสานมีอายุเก่าแก่กว่านั้น แม้ว่าจะมีการคาดเดาเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ แม้ชื่อของผู้เสียชีวิต (ซึ่งเป็นบุคคลเพศชาย) จะไม่สามารถอ่านได้เนื่องจากความเสียหาย แต่จากการศึกษาพบว่ามีอายุอยู่ในช่วงปี 1058/59 เป็นเวลานานที่เชื่อกันว่าศิลาจารึกของยาโคบ ฮาบาคูร์ ซึ่งมีอายุในช่วงปี 1076/77 เป็นศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุด
ราวปี ค.ศ. 1260 สุสานแห่งนี้ได้รับการล้อมรั้วด้วยกำแพงที่มั่นคง ในช่วงศตวรรษที่ 15 หรือ 16 ในระหว่างการสร้างป้อมปราการชั้นนอก มีการขุดอุโมงค์ลอดใต้สุสานเพื่อเชื่อมต่อประตู Andrea ชั้นในและชั้นนอก ในระหว่างการก่อสร้าง ศิลาจารึกจำนวนมากถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพง อุโมงค์นี้มีความยาว 36 เมตร สูง 1.50 เมตร และกว้าง 80 เซนติเมตร ต่อมาในปี 1930 ได้มีการขุดค้นอุโมงค์และนำศิลาจารึกที่ถูกฝังไว้กลับคืนมา นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่ศิลาจารึกถูกขโมยไปในโอกาสต่าง ๆ
เส้นทางของขบวนแห่ศพ ผ่านครึ่งหนึ่งของตัวเมือง โดยเริ่มจากมุมตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นที่ตั้งของย่านชาวยิว เลียบกำแพงชั้นในไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองจนถึงสุสาน ตั้งแต่ปลายยุคกลาง ตระกูลขุนนางดาลเบิร์ก (Dalberg) มีสิทธิ์และหน้าที่ในการคุ้มกันขบวนแห่ศพระหว่างย่านชาวยิวไปยังสุสานชาวยิว ซึ่งชุมชนชาวยิวต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการคุ้มกันนี้ โดยในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 80 Malter Korn[13] มีเรื่องเล่าขานถึงที่มาของการคุ้มกันนี้ ซึ่งถ่ายทอดโดย Juspa Schammes ตามตำนานเล่าว่า—อย่างน้อยในศตวรรษที่ 17 จะต้องมีเจ้าหน้าที่จากตระกูลดาลเบิร์กสองคน เข้าร่วมขบวนแห่ศพเสมอ
ความเสียหายและการบูรณะ
หลังจากการทำลายเมืองในปี 1689 ภาพวาดแสดงให้เห็นสุสานที่ได้รับความเสียหาย โดยทางขวาของภาพคือหอคอย "Luginsland" ของกำแพงเมืองชั้นในที่ถูกทำลาย
ในช่วงการกวาดล้างชาวยิวในปี 1615 สุสานเป็นเป้าหมายของการทำลายล้าง ศิลาจารึกถูกโค่นและเสียหาย ชุมชนชาวยิวอ่อนแอลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว และในปี 1618 สงครามสามสิบปีปะทุขึ้น ต่อมาในปี 1620 มุมตะวันตกเฉียงใต้ของป้อมปราการเมือง ได้รับการเสริมความแข็งแกร่ง โดยมีรายงานว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่สุสานถูกครอบคลุมด้วยแนวป้องกัน[16] หลังจากการแทรกแซงครั้งนี้ มีการบูรณะสุสานอย่างครอบคลุมในปี 1625 โดยได้รับการสนับสนุนจาก David Oppenheim ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญในการบูรณะโบสถ์ยิว Worms Synagogue ที่ถูกทำลายในปี 1615 ในช่วงเวลานั้น ทางเข้าสุสานได้รับการปรับปรุงโดยสร้างประตูทางเข้าซึ่งยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงอาคาร Taharahaus นอกจากนี้ กำแพงล้อมรั้วก็ได้รับการซ่อมแซม แต่ในปี 1661 กำแพงก็ได้รับความเสียหายอีกครั้ง
การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 18 และ 19
ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 ส่วนที่ได้รับการบันทึกไว้บ่อยที่สุดคือส่วนของสุสานใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงขึ้น ส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่หลงเหลือจากป้อมปราการเมืองชั้นนอก ซึ่งถูกทำลายโดยกองทัพของกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี 1689 ระหว่างสงครามเก้าปี ในศตวรรษที่ 19 ศิลาจารึกของสุสานเริ่มมีลักษณะคล้ายกับศิลาจารึกของสุสานคริสเตียนมากขึ้น และข้อความจารึกบนศิลาก็มักจะถูกเขียนเป็นสองภาษา ได้แก่ ภาษาฮีบรูและภาษาเยอรมัน
การปิดสุสานและการใช้งานในช่วงสุดท้าย
ในปี 1902 เมืองวอร์มส์ได้เปิดสุสานหลักแห่งใหม่ที่เรียกว่า Hochheimer Höhe และในปี 1911 ก็มีการเปิดสุสานชาวยิวแห่งใหม่ เนื่องจาก "Heiliger Sand" ไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการฝังศพเพิ่มเติม และไม่สามารถขยายได้เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่
การฝังศพครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในปี 1940 ปัจจุบันสุสานแห่งนี้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนชาวยิวจากทั่วโลก
















