ลูกจะมีแฟน จำนวนพอกันกับที่แม่เคยมี และ คู่รักมักหน้าคล้ายกัน 5 เหตุผลตามหลักจิตวิทยาที่คู่รักมีความเหมือนกัน
งานวิจัยเผย แม่เคยมีแฟนมาแล้วกี่คน ลูกก็จะมีแฟนจำนวนพอกันกับแม่
จากการศึกษาของ Ohio State University พบว่า แม่อาจส่งผ่านบุคลิกภาพ หรือ ทักษะด้านความสัมพันธ์บางอย่างจากรุ่นสู่รุ่น
Dr.Claire Kamp Dush ผู้ริเริ่มการศึกษา กล่าวว่า แม่แต่ละคนมีลักษณะนิสัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการแต่งงาน และความสัมพันธ์ ลักษณะนิสัยเหล่านั้น จะกลายเป็นมรดกส่งต่อถึงรุ่นลูก โดยอาจเป็นตัวกำหนดว่าลูกจะได้แต่งงานช้า หรือเร็ว และมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงหรือไม่
ใครเคยคุยเรื่องความรักกับแม่บ้าง แล้วเคยนึกสงสัยรึเปล่า ว่าแม่ของเราเคยมีแฟนมาแล้วกี่คน? รู้ไหมว่าถ้าลองถามดูดี ๆ อาจพบว่า จำนวนแฟนที่แม่เคยมี นั้นพอ ๆ กับเราเลยนะ
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 7,152 คนในระยะเวลา 24 ปี พบว่า ครอบครัวที่หย่าร้าง หรืออาศัยร่วมกันโดยไม่แต่งงาน ทายาทในครอบครัว มักจะได้รับแรงจูงใจในการสร้างครอบครัวที่คล้ายคลึงกัน
“ผู้หญิงบางคนที่เปลี่ยนคนรักบ่อย ๆ อาจเกิดจากทักษะด้านความสัมพันธ์ที่ไม่ดีพอ ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หรือมีปัญหาด้านจิตใจ ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุไหน ก็สามารถส่งต่อไปสู่รุ่นลูกได้ และมีโอกาสทำให้ความสัมพันธ์ของลูก ๆ ไม่มั่นคงเช่นกัน”
‘เนื้อคู่มักหน้าคล้ายกัน’
หลักจิตวิทยา อธิบายความเชื่อดังกล่าวว่า การใช้เวลาอยู่กับใครสักคนเป็นเวลานาน อาจจะเปลี่ยนมุมมองความคิด และพฤติกรรมของคุณ จนบางครั้งคุณและคนรัก อาจจะมีความคล้ายคลึงกันแบบที่ไม่ทันรู้ตัว
โจชัว วูล์ฟ เชงก์ (Joshua Wolf Shenk) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับ ‘การมีความคิดร่วมกัน’ (shared mind) ในหนังสือ Power of Two ไว้ว่า “ความสัมพันธ์ใกล้ชิดอาจจะทำให้ความคิด หรือพฤติกรรมการกระทำของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง”
สิ่งที่คู่รักมักมีความเหมือนกัน
1.โค้ดลับที่เข้าใจกันอยู่สองคน
เชงก์ บอกว่า “ภาษาที่พวกคุณรู้กันอยู่สองคนนี่แหละ คือ สัญญาณแรกที่กำลังสื่อว่าคุณสองคนเริ่มมีสิ่งที่เหมือนกันแล้ว”
งานวิจัยของ โรเบิร์ต ฮูเปอร์ (Robert Hooper) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทกซัสออสติน (University of Texas at Austin) บอกว่า การใช้ภาษาลับช่วยสร้างความสัมพันธ์ ความโรแมนติก มิตรภาพที่ลึกซึ้ง ช่วยสร้างเอกลักษณ์ร่วมกันของพวกคุณสองด้วย
แครอล บรูส (Carol Bruess) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต เขียนในงานวิจัยเกี่ยวกับความโรแมนติกของคู่รักไว้ว่า “ภาษาลับที่พูดถึงมีความหมายครอบคลุมหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่มุกตลกไปจนถึงชื่อเล่นที่พวกเขาสองคนใช้เรียกกัน และยิ่งพวกเขาใช้ภาษาลับพวกนี้คุยกันมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมีความสุขและพอใจในความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น”
2.เป็นตัวของตัวเองเต็มที่เวลาอยู่ด้วยกัน
คนส่วนใหญ่จะมี ‘กระบวนการการตรวจสอบตัวเอง’ (Self-Monitoring) หรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้วยการพยายามทำให้คนรอบข้างพึงพอใจ
เชงก์ กล่าวว่า “แต่เมื่อเราสนิท หรือใกล้ชิดกับคู่ของเรา เราจะไม่พยายามทำอะไรเลย แต่กลับพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นตัวเอง” พูดอีกนัยหนึ่งคือ “ถ้าเราหยุดตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะพูด เราจะยิ่งเปิดเผยและตรงไปตรงมามากขึ้น”
เดเนียล คาห์เนมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) บอกกับเชงก์ว่า “เราค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยความคิด หรือตัวตนที่แท้จริงเหมือนกับคนส่วนใหญ่” แต่หลังจากที่เขาใช้เวลา 2-3 ปี ในการศึกษางานวิจัยกับคู่หูนักจิตวิทยาอย่าง เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) พวกเขาก็พบว่าความระมัดระวังดังกล่าวหายไปอย่างสิ้นเชิง
3.เรื่องบางเรื่องก็มีแค่พวกคุณเท่านั้นที่รู้
ผลงานวิจัย พบว่า คู่รักมีแนวโน้มจะเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่าย ทำให้ทั้งคู่เริ่มมีท่าทางเหมือนกัน ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าทั้งคู่กำลังทำตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งคู่ยอมเปิดเผยต่อกันเท่านั้น รวมไปถึงประสบการณ์และความทรงจำต่าง ๆ ที่ทั้งคู่มีร่วมกันด้วย บางเรื่องจึงมีแค่พวกเขาสองคนเท่านั้นที่เข้าใจ
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ (University of California, Santa Cruz) ในปี 2007 ที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะของการสื่อสาร พบว่า “คนเรามักจะรีบหันมามองหน้ากัน หากพวกเขาได้ยินเรื่องที่พวกเขารู้ ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกัน”
4.วิธีในการพูด และ การสื่อสารไม่ต่างกัน
เชงก์ อธิบายว่า “คู่ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวจะเริ่มมีวิธีการพูด และ น้ำเสียงที่คล้ายกัน”
นักจิตวิทยา บอกว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้นเนื่องจาก ‘การระบาดทางอารมณ์’ (emotional contagion) หรือความรู้สึกที่กระตุ้นซึ่งกันและกัน มีระดับรุนแรง จนส่งอิทธิพลเป็นวงกว้าง เพราะโดยปกติ คนที่ใช้เวลาร่วมกันมากพอ พวกเขามักจะเลียนแบบ หรือปรับวิธีการพูดให้เข้ากัน โดยจะเลียนแบบทุกอย่าง ตั้งแต่วิธีการพูดของอีกฝ่าย หรือแม้กระทั่งจังหวะการหยุดระหว่างคำหรือประโยค
งานวิจัยปี 2010 เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ระหว่างคู่รัก ศึกษาจากข้อความที่พวกเขาใช้คุยกันแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนวิธีการพูดอาจจะชี้ให้เห็นถึงระยะเวลาที่ทั้งคู่จะอยู่ด้วยกันได้ จากตัวอย่าง พบว่า “คู่ที่เริ่มใช้ภาษาคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือส่งข้อความ มีแนวโน้มที่พวกเขาจะยังคงสานความสัมพันธ์ต่อไปอีก 3 เดือน”
5.เริ่มมีคนทักว่าพวกคุณมีใบหน้าคล้ายกัน
งานวิจัยที่ศึกษาในหัวข้อ ‘คู่สามีภรรยาที่แต่งงานมานานจะเริ่มมีลักษณะคล้ายกัน’ ของนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงในปี 1987 ‘โรเบิร์ต ซาจอนก์ (Robert Zajonc)’ พบว่า มีหลายเหตุผลที่ยืนยันว่าคู่รักที่แต่งงานแล้ว จะเริ่มดูคล้ายกันมากขึ้น นั่นเพราะพวกเขามักจะเคลื่อนไหวเหมือน ๆ กัน ใช้กล้ามเนื้อส่วนเดียวกัน จ้องมองสิ่งต่างๆ หรือกระทั่งมีอากัปกิริยาและสำนวนการพูดจาคล้ายกัน (ตามหลักจิตวิทยาเรียกว่า ‘shared coordinative structure’)
การที่พวกเขามักเผชิญสถานการณ์ร่วมกันบ่อย ๆ จึงทำให้ทั้งคู่เกิดความรู้สึกเหมือน ๆ กันไม่ว่าจะดีใจ โกรธ หรือเสียใจ กล้ามเนื้อบนใบหน้าจึงทำงานคล้ายกัน จนอาจจะเกิดเป็นริ้วรอยในตำแหน่งเดียวกัน และดูราวกับว่าพวกเขามีใบหน้าคล้ายกันนั่นเอง
















