เรื่องของ “ความอิจฉา” และ วิธีจัดการกับความอิจฉาของตัวเองที่มีต่อผู้อื่น
ความอิจฉา คือ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการประเมิน แข่งขัน เปรียบเทียบทางสังคม ระหว่างตัวเองและผู้อื่น ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ไม่มีความสุข โดยส่วนมากเป็นอารมณ์ที่เป็นไปในทางลบ และ มักเป็นอารมณ์ที่แม้แต่เจ้าของความรู้สึกยังคิดว่ามันไม่เหมาะสม บางคนอาจรู้สึกผิดที่ไปอิจฉาคนอื่น ดังนั้นส่วนมากความอิจฉาจึงมักเป็นอารมณ์ที่ถูกเก็บซ่อนไว้อยู่ภายใน โดยไม่ได้แสดงออกไปให้ใครเห็น
ทำไมถึงอิจฉา?
1.เมื่อคิดเปรียบเทียบ เกิดจากการรับรู้ตีความของบุคคลนั้นเอง ในลักษณะว่าตนเองมีความด้อยกว่า คิดว่าคนอื่นเหมือนจะมีดีกว่าตนเอง
2.เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ภายใน มีความอ่อนไหวเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-esteem) มีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อตนเอง (Self-concept)
3.กำลังคิดว่าตัวตนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถเป็นตัวตนในอุดมคติ (Ideal self) ที่น่าพึงพอใจ ส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบกับ คนอื่น สังคม
4.ตีความว่าคนอื่นดีกว่าตัวเอง เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบ
เรามักอิจฉาคนอื่นรึเปล่า? ลองประเมินดูว่า ตัวเองมีความคิดเห็นสำหรับข้อคำถามต่อไปนี้อย่างไรบ้าง
1.เราชื่นชมคนอื่นบ่อยแค่ไหน?
2.รู้สึกว่าการชมคนอื่นเป็นเรื่องง่ายหรือเรื่องยาก?
3.เราสามารถแสดงความรู้สึกดี ๆ ต่อผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด?
4.เวลาคนอื่นได้รับสิ่งดี ๆ ตัวเรารู้สึกอย่างไรบ้างที่เห็นแบบนั้นหรือรับรู้เรื่องนั้น? มีการตอบสนองทางอารมณ์อย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น?
5.เราเป็นประเภทไหนระหว่าง ประหม่าเมื่ออยู่ในสายตาคนอื่น หรือ ไม่สนใจกับมุมมองของคนอื่นที่มีต่อเรา
6.เราบอกตัวเองได้มั้ยว่า เรามีข้อดีอะไรบ้าง? เพื่อแสดงถึงการตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ หรือ แง่มุมดี ๆ ที่มีต่อตนเอง
จัดการกับความอิจฉาอย่างไร?
เนื่องจากความอิจฉาเกิดจากความคิดและความรู้สึก มันเป็นสิ่งที่เกิดอัตโนมัติ ควบคุมได้ยาก ดังนั้นการจะห้ามไม่ให้เกิดเลยคงจะยาก ความอิจฉาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อรู้สึกขึ้นมาสิ่งที่เราพอทำได้ คือ
1.การตระหนักรู้ตัว (Awareness) ว่าเรากำลังอิจฉา กำลังเกิดอารมณ์นี้ขึ้น แล้วควรตอบสนองอย่างไรกับความอิจฉานี้ จากนั้นให้กลับมาทบทวนถึงความพึงพอใจในตนเองที่มีอยู่ ให้เวลากับตนเองในการสำรวจสิ่งดี ๆ หรือ จุดแข็งในตัวเอง ทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดี มีคุณค่าอย่างสร้างสรรค์
2.ควรหยุดเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น การเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย มีแต่ยิ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรให้เกิดขึ้น เป็นการสร้างความคิดลบว่า โลกนี้ไม่ยุติธรรม หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หยุดแข่งขันกับคนอื่น แต่ควรแข่งขันกับตัวเองในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ให้เป็นคนที่ดีกว่าเมื่อวานที่เคยเป็นมา เพราะชีวิตของคนแต่ละคนมีบริบท ปัจจัย ที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
3.ควรหยุดพักจาก Social media การส่องชีวิตคนรู้จัก ที่มีความหรูหรา มีความสุข มีเงินทองมากมาย ไปท่องเที่ยวบ่อย ๆ สุขภาพดี หน้าตาสวยงามดูดี อาจยิ่งกระตุ้นความรู้สึกขี้อิจฉาให้เพิ่มมากขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ควรหยุดพักจาก Social media
4.หากไม่ควบคุมความอิจฉา อาจนำตัวเองไปสู่การกระทำอื่น ๆ ที่สร้างความเสียหายได้ เช่น อาจเสียเงิน หรือ หมดเวลาไปกับการทำตัวให้เหมือนคนอื่นที่กำลังอิจฉาอยู่ โดยลืมไปว่าเราควรมีความสุข และ ชื่นชมกับชีวิตในแบบที่เราเป็น พอใจกับสิ่งที่มี
5.ต้องไม่เอาตัวเองเป็นมาตรฐานวัดความยุติธรรม บางครั้งอาจรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้ไม่สมควรได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือ โลกนี้ก็เป็นเช่นนี้ ไม่ได้มีความเท่าเทียม ความยุติธรรม ในมุมมองของเราเพียงเท่านั้น ดังนั้นอย่าไปเสียเวลาใส่ใจในสิ่งที่ควบคุมอะไรไม่ได้ แต่จงมุ่งมั่นทำชีวิตให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง ทำมันให้ดีที่สุด
6.สร้างนิยามความสำเร็จของตัวเอง ควรกำหนดนิยามความสำเร็จของตัวเอง โฟกัสที่เป้าหมาย ทำมันให้เต็มที่ ความสำเร็จที่ผู้อื่นมีไม่สามารถทำแทนเราได้ เช่น ทักษะ ความสามารถเฉพาะตัว หันมามุ่งมั่นทำให้ดีที่สุดในเส้นทางของตัวเอง คนเดียวเท่านั้นที่เราควรเปรียบเทียบคือ ตัวเราเองในเมื่อวาน พยายามทำหน้าที่ในวันนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกวัน การที่เรามีการพัฒนาเพิ่มขี้นในทุกวันจะสามารถนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้อย่างแน่นอน















