กฎหมายจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง 2568 ข้อควรรู้สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ใน กทม.
อัปเดต กฎหมายจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง 2568
ปัจจุบันคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสัตว์เลี้ยงหลายตัวจะได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัตว์บางตัวที่ไม่มีเจ้าของ อย่างเช่น สุนัขหรือแมวจรจัด มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา นอกจากนี้หลายคนยังแอบเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่อนุญาต เช่น ห้องเช่า คอนโดมิเนียม อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นต้องจัดระเบียบโดยใช้กฎหมายควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กรุงเทพมหานคร ถูกจัดให้เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมวเกินจำนวนที่กำหนด เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2568 โฆษกของกรุงเทพมหานครได้ประกาศใช้ ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2569 ซึ่งถ้าหากเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นๆ ไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นผู้เลี้ยงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดข้อบัญญัติดังกล่าวก่อนที่จะมีผลบังคับใช้
ประเภทสัตว์ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนด
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- สัตว์ปีก
- สัตว์น้ำ
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
- สัตว์เลื้อยคลาน
- สัตว์มีพิษหรือสัตว์ดุร้าย
การควบคุมจำนวนการเลี้ยงสัตว์ประเภทต่างๆ ตามพื้นที่
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ กวาง ม้า สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว/พื้นที่ 50 ตารางวา
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น สุกร แพะ แกะ ม้าแคระ สามารถเลี้ยงได้ 3 ตัว/พื้นที่ 50 ตารางวา
- สัตว์ปีก ได้แก่ ไก่ เป็ด และห่าน สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว/พื้นที่ 4 ตารางเมตร
- นกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ สามารถเลี้ยงได้ 1 ตัว/พื้นที่ 50 ตารางเมตร
- นกขนาดเล็ก เช่น นกแก้ว นกหงส์หยก นกคอกคาเทล สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 5 ตัว/พื้นที่ 1 ตารางเมตร
หมายเหตุ : ห้ามเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ยกเว้นในกรณีเลี้ยงเพื่อรักษาพยาบาล การย้ายที่อยู่ของเจ้าของ ปล่อยสัตว์เพื่อการกุศลหรือจารีตประเพณี
การควบคุมจำนวนการเลี้ยง "สุนัข" และ "แมว" ตามพื้นที่
ในกรณีเลี้ยงสุนัขและแมว เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำใบรับรองไปจดทะเบียน ณ สถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด อาทิ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย หรือสำนักงาน ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่นำสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับการเลี้ยงสุนัขและแมวในพื้นที่ต่างๆ จะกำหนดจำนวนการเลี้ยงไว้ ดังนี้
1.พื้นที่อาคารชุด หรือห้องเช่า
- ขนาด 20-80 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงได้ 1 ตัว
- ขนาดตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
2.เนื้อที่ดิน
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 50 ตารางวา สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 100 ตารางวา สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
- เนื้อที่ดินตั้งแต่ 100 ตารางวาขึ้นไป สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
ข้อบัญญัติฯ เพิ่มเติม
- ต้องฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขและแมว ภายใน 120 วัน หลังการเกิด หรือ 30 วัน หลังจากที่นำมาเลี้ยง
- สุนัขที่จัดอยู่ในกลุ่มควบคุมพิเศษ หรือสุนัขอันตราย ได้แก่ พิบูลเทอร์เรียร์ บูลเทอร์เรียร์ สแตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอร์เรีย ร็อตไวเลอร์ และฟิล่าบราซิเลียโร ในกรณีที่มีประวัติทำร้ายคน หรือพยายามทำร้ายคน ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเปลี่ยนสาระสำคัญในบัตรประจำตัวสัตว์
เหตุผลที่ต้องฝังไมโครชิปสุนัข-แมว
สุนัขและแมวจำเป็นต้องฝังไมโครชิปเพื่อให้ทราบจำนวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลและรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สัตว์เลี้ยงไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น สำนักอนามัยจะดำเนินการช่วยเหลือโดยมีหน่วยงานสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัดลง ส่วนสุนัขที่มีความดุร้าย หน่วยงานจะนำไปไว้ที่ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขของกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงเป็นคู่ผสมพันธุ์สัตว์หรือประกอบธุรกิจสามารถขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง
1.เอกสารสำหรับใช้แสดง
- บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง
- ทะเบียนบ้านที่สัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่
2.เอกสารแนบ
- หนังสือยินยอมจากผู้เช่า (กรณีเป็นผู้เช่า)
- ใบรับรอง (คสส.1)
- หนังสือรับรองการฉีดวัคซีน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมันจากสัตวแพทย์ (ถ้ามี)
- หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
ข้อปฏิบัติเมื่อสัตว์เลี้ยงอยู่ในที่สาธารณะ
- เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องควบคุมสัตว์เลี้ยงของตนไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
- เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องเก็บอุจจาระหรือสิ่งปฏิกูลของสัตว์ในที่สาธารณะ
- เมื่อพาสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านหรือสถานที่เลี้ยง ต้องใช้สายจูงที่มีความแข็งแรง หรือใช้กระเป๋า คอก กรง หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เหมาะสม สำหรับสุนัขที่อยู่ในกลุ่มควบคุมพิเศษ มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เช่น พิทบูล ร็อตไวเลอร์ ต้องใช้อุปกรณ์ครอบปาก สายจูงที่แข็งแรงและมั่นคง โดยเจ้าของต้องจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตร ตลอดเวลา
8 คลินิกสัตวแพทย์ กทม. สำหรับนำสุนัขและแมวฝังไมโครชิป
- กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง (โทร 0-2248-7417)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 1 สี่พระย เขตบางรัก (โทร 0-2236-4055 ต่อ 213)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 2 มีนบุรี เขตมีนบุรี (โทร 0-2914-5822)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา (โทร 0-2392-9278)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 4 บางเขน เขตจตุจักร (โทร 0-2579-1342)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ (โทร 0-2472-5895 ต่อ 109)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 6 ช่วงนุชเนตร เขตจอมทอง (โทร 0-2476-6493 ต่อ 1104)
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย (โทร 0-2411-2432)
สำหรับใครที่เป็นคนรักสัตว์ เลี้ยงสัตว์ หรือมีสัตว์ไว้ในครอบครอง ก็อย่าลืมศึกษาและเตรียมการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะหากรอให้ถึงวันที่มีการบังคับใช้อาจจะทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากปริมาณคนที่เลี้ยงสัตว์มีจำนวนมาก และความไม่สะดวกในการเดินทาง การรอคิว ทางที่ดีสำหรับคนรักสัตว์อย่างเราๆ ขอแนะนำให้เตรียมการไว้ล่วงหน้าจะเป็นการดีที่สุดครับ และสุดท้ายนี้ เพื่อนๆ เลี้ยงสัตว์อะไรเอาไว้บ้าง ทำไมถึงเลี้ยง น้องมีความน่ารักยังไง คอมเมนต์บอกกันหน่อยครับ
Tag
#กฎหมายจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง2568 #จดทะเบียนสัตว์เลี้ยง













