ปราสาทแห่งราชวงศ์โฮ (Citadel of the Hồ Dynasty)
ปราสาทราชวงศ์โฮซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 ตามหลักฮวงจุ้ย แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของแนวคิดขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ในเวียดนาม และการแพร่กระจายของแนวคิดนี้ไปยังภูมิภาคอื่นในเอเชียตะวันออก ตัวปราสาทตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีความงดงามตามธรรมชาติ บนแกนระหว่างภูเขาเทืองเซิน (Tuong Son) และดอนเซิน (Don Son) บนที่ราบระหว่างแม่น้ำมา (Ma) และแม่น้ำบ๊วย (Buoi) อาคารต่าง ๆ ในปราสาท สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบใหม่ของเมืองหลวงจักรวรรดิ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณค่าโดดเด่นสากล
ปราสาทราชวงศ์โฮสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1397 ประกอบด้วย ปราสาทชั้นใน (Inner Citadel), กำแพงลาถัญ (La Thanh Outer Wall) และแท่นบูชานำเกียว (Nam Giao Altar) ครอบคลุมพื้นที่ 155.5 เฮกตาร์ ล้อมรอบด้วยเขตกันชนขนาด 5,078.5 เฮกตาร์ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ยในภูมิประเทศที่งดงามระหว่างแม่น้ำมาและบ๊วย ในอำเภอวินห์ล็อก จังหวัดแถ่งฮว้า ประเทศเวียดนาม ปราสาทชั้นในซึ่งสร้างจากก้อนหินปูนขนาดใหญ่เป็นตัวอย่างใหม่ของเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและการปรับใช้หลักฮวงจุ้ยในบริบทของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ โครงสร้างและการจัดพื้นที่ แสดงถึงแนวคิดอำนาจของราชสำนักที่มีพื้นฐานจากปรัชญาขงจื๊อ ซึ่งผสมผสานกับวัฒนธรรมพุทธเป็นหลัก
ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของเวียดนามในช่วงปี 1398 ถึง 1407 และศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเวียดนามตอนเหนือในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 18 ปราสาทนี้เป็นพยานที่สำคัญของช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์เวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อระบอบราชาธิปไตยแบบดั้งเดิมและค่านิยมทางพุทธศาสนาค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยแนวโน้มใหม่ทางเทคโนโลยี การค้า และการปกครองแบบรวมศูนย์
เกณฑ์ (ii):
แสดงอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อของจีน ต่อสัญลักษณ์ของอำนาจราชสำนักที่รวมศูนย์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 และเป็นตัวอย่างของการพัฒนาใหม่ ทางสถาปัตยกรรมในด้านเทคโนโลยี รวมถึงการปรับใช้หลักฮวงจุ้ยที่มีอยู่ในบริบทของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ และผสมผสานองค์ประกอบของเวียดนาม เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงในอนุสรณ์สถานและภูมิทัศน์
เกณฑ์ (iv):
ปราสาทราชวงศ์โฮ เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม ของกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรม ที่ตั้งอยู่ในภูมิทัศน์ ซึ่งสะท้อนการรุ่งเรืองของแนวคิดขงจื๊อใหม่ แบบปฏิบัตินิยม ในปลายศตวรรษที่ 14 ในเวียดนาม ในช่วงที่แนวคิดนี้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกจนกลายเป็นอิทธิพลทางปรัชญาหลักต่อการปกครองในภูมิภาค การใช้หินขนาดใหญ่ในการก่อสร้างสะท้อนถึงพลังการจัดการของรัฐแบบขงจื๊อ และการเปลี่ยนแกนกลางของแผนผังปราสาทแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากแบบแผนจีน
ความครบถ้วน (Integrity)
ความครบถ้วนของทรัพย์สินนี้ รับรองได้จากพื้นที่ขององค์ประกอบหลักทั้งสาม ได้แก่ ปราสาทชั้นใน แท่นบูชานำเกียว และบางส่วนของกำแพงลาถัญ ซึ่งแสดงลักษณะของราชวงศ์โฮได้อย่างชัดเจน องค์ประกอบเหล่านี้ยังคงปรากฏในสภาพแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีกำแพงหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิทัศน์ที่ยังคงจดจำได้ นอกจากนี้ การขุดค้นทางโบราณคดียังแสดงให้เห็นถึงหลักฐานทางวัฒนธรรมที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีใต้พื้นดินภายใต้พื้นที่ปลูกข้าวและพืชอื่น ๆ ภายในขอบเขตขององค์ประกอบทั้งสาม เขตกันชนยังรวมถึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น วัด หมู่บ้านโบราณ ศาลา ถนนโบราณ ตลาด ท่าเรือ และจุดชมวิว ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม ของคุณค่าทางวัฒนธรรมของทรัพย์สินนี้
ความแท้จริง (Authenticity)
สภาพความแท้จริง ในด้านทำเลภูมิศาสตร์และภูมิทัศน์ ยังคงอยู่เกือบไม่เปลี่ยนแปลง แผนผัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม และวัสดุก่อสร้างของกำแพงปราสาทชั้นใน ประตูทั้งสี่ คูน้ำบางส่วน และกำแพงลาถัญ รวมถึงซากโบราณสถานของแท่นบูชานำเกียว ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ ยังเผยให้เห็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับยุคราชวงศ์โฮ ที่ยังอยู่ในสภาพดี
ข้อกำหนดด้านการปกป้องและการจัดการ
ปราสาทชั้นในและแท่นบูชานำเกียว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ เมื่อปี 1962 โดยคำสั่งของกระทรวงวัฒนธรรม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม และได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายว่าด้วยมรดกวัฒนธรรม ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2001 ส่วนที่ได้รับเสนอชื่อของกำแพงลาถัญ อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อได้รับการคุ้มครองเช่นกัน เขตกันชนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2005 มาตรา 31 หมวด 4
ทรัพย์สินนี้ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ โดยคณะกรรมการประชาชนระดับตำบล ของพื้นที่ที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับของคณะกรรมการบริหารปราสาทราชวงศ์โฮ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งที่ 2264/QĐ-UBND ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2007
แผนบริหารจัดการห้าปีอย่างครอบคลุม ของทรัพย์สินนี้ ได้ถูกเสนอในเดือนพฤศจิกายน 2010 การควบคุมการพัฒนาเมืองใกล้ปราสาทชั้นใน โดยเฉพาะในเมืองวินห์ล็อก ตามแนวแกนระหว่างปราสาทชั้นในและภูเขาดอนเซิน รวมถึงโดยทั่วไปในเขตกันชนควรได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องทัศนียภาพตามแนวแกนระหว่างลักษณะภูมิประเทศ และมุมมองภายในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงนอก แม่น้ำมา และแม่น้ำบ๊วย
ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับการพัฒนา แผนการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงและยุทธศาสตร์ การมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่น ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าว โดยหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในการดำเนินการอนุรักษ์ และคุ้มครองทรัพย์สิน ผ่านการฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน
อ้างอิงจาก:
https://shorturl.asia/frBye
https://whc.unesco.org/en/list/1358/





















