ทำไมต้องจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า
บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีตามฮีต (จารีต) ที่ 6 ในบรรดาฮีต 12 ซึ่งถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาลของชาวอีสาน เป็นประเพณีบุญเดือน 6 ที่ขาดเสียไม่ได้ เพราะเป็นความเชื่อที่บรรพบุรุษได้อนุรักษ์สืบต่อกันมา แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับกับสภาพดินฟ้าอากาศอันแห้งแล้งของท้องถิ่นอีสาน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีไหนไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฝนฟ้าในปีนั้นก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล
จุดประสงค์หลักของประเพณีบุญบั้งไฟ สรุปได้ ดังนี้
1.เพื่อบูชาพระยาแถน ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฝน ให้ท่านดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จะได้มีน้ำในการทำนา ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
2.เพื่อบูชาเทพารักษ์ มเหศักดิ์หลักเมือง เพื่อขอฝนเช่นกัน และยังขอให้ท่านประทานพรให้ท้องถิ่นนั้น ๆ มีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข จะเห็นได้จากการได้นำบั้งไฟไปคารวะเจ้าพ่อหลักเมือง หรือศาลเทพารักษ์ก่อนจะนำไปจุด
3.เพื่อเป็นการสักการะพระพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อว่าเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกนัยหนึ่ง บุญเดือนหกตรงกับเดือนที่มีวันวิสาขบูชา คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า และมีวันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้ ชาวพุทธจึงได้พร้อมเพรียงกันสักการะบูชา ถวายความเคารพต่อพระพุทธเจ้า การทำบุญบั้งไฟก็เหมือนการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าอีกทางหนึ่ง
4.เพื่อเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งเชื่อว่า ถ้าบั้งไฟขึ้นสูง ปีนี้นั้นฝนฟ้าจะดี พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรญ์ ถ้าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือแตกคาฐานจุด ปีนั้นฝนจะไม่ดี ให้เตรียมรับความขาดแคลนนำ้
5.เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ประสานสามัคคีของคนในชุมชน ได้ร่วมกันทำกิจกรรม และยังได้สนุกสนาน ฟ้อนรำทำเพลงในงานบุญบั้งไฟ วันจุด ถ้าบั้งไฟใครจุดแล้วไม่ขึ้น หรือแตกคาฐาน (ฮ่าน) ผู้นั้นจะถูกเพื่อน ๆ หามลงตม (โคลนตม)
บุญบั้งไฟ ถือว่าเป็นประเพณีประจำปีของพี่น้องชาวอีสาน เป็นวัฒนธรรมที่ถือสืบทอดกันมาช้านาน สมควรรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป ชั่วลูกชั่วหลาน ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา





















