ศูนย์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองแอก (ทุ่งสังหาร)
การเรียนรู้เรื่องราวที่ผ่านมา มองย้อนกลับเข้ามาในปัจจุบัน
การสูญเสียที่ยากจะลืมเลือน เหมือนฟันเฟืองที่ยังคงทำหน้าที่ของมัน
ทุกครั้งที่กล่าวถึง ยังมีกลิ่นอายของความสูญเสียอย่างประมาณไม่ได้
ครั้งนี้จะมาเล่าถึงสถานที่แห่งหนึ่งทุกครั้งที่เล่าหรือนึกถึง ความรู้สึกที่ยากจะอธิบายจะวนเวียนมาเสมอ การเรียนรู้ในสถานที่ที่เราไปอยู่เรื่องราวที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เราต้องออกไปเรียนรู้ สถานที่แห่งนี้เคยได้ยินมาบ้างตอนที่อ่านนิยายเรื่องหนึ่งที่ค้นพบในบ้าน ตอนนั้นไม่เข้าใจในความหมายเหมือนกันว่า ในโลกของความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างนั้นหรือ
การฆ่ามนุษย์ด้วยกันจะเรียกว่าทารุณก็ยังไมให้ความหมายที่ชัดเจน คงมากกว่านั้น คนคนหนึ่งสามารถที่จะสั่งฆ่าคนทั้งประเทศเกือบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นของประชากรทั้งหมด หากแต่ว่ายังเหลือเพราะว่ามีการหยุดก่อน คนที่เกิดในสมัยนั้นที่มีชีวิตรอดที่เราได้เจอนั้นเขาอยู่อย่างไร อาหารแม้จะยาไส้ยังทำไม่ได้ ผู้คนต้องทำงานหนักแต่อาหารที่ได้คือน้ำต้มข้าวที่ไม่ได้มีสารอาหารอะไรให้ เด็กสตรี ครอบครัว ต้องพรากจากกัน โดยเรียกว่าตายจากกันไป
ใบผ่านทาง ในการเข้าชมทุ่งสังหารเจืองแอก ที่คนที่นี่เขาเรียกกัน ที่เข้าในนามของคนต่างชาติเพราะว่าจะได้ฟังเรื่องราวจากหูฟังในทุกจุดที่เราเดินเข้าไป ในหูของเราจะเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดเสมือนว่าเรานั้นกำลังเป็นคนที่เดินเข้ามาที่นี่เพื่อทำการสังหาร ถูกปิดตาเข้ามาเดินตามกันมาที่นี่
การเข้าชมที่นี่หากว่าเป็นคนต่างชาติราคา สามดอลล่า แต่หากเป็นคนกัมพูชาเข้าฟรี ได้มาสามบัตร พร้อมเครื่องบันทึกเสียงเล่าเรื่องราว เวลาเดินเข้ามาที่นี่ไม่มีเสียงคุยกันเพราะว่าต่างคนต่างฟังในหูของตนเอง ภาษาที่เลือกมีสองภาษา ภาษาอังกฤษและภาษาเขมร
สถานที่แห่งนี้อยู่ห่างจากเมืองประมาณสิบกว่ากิโลจากบ้านแต่ถือว่าไม่ไกลนั่งรถมาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง ห่างจากคุกตรวนแสลงไม่มาก
จุดแรกที่เดินทางมาพบ คือสถานที่เก็บหัวกะโหลกส่วนหนึ่งในจำนวนคนเสียชีวิต ซึ่งนับไม่ได้ว่าเสียชีวิตจำนวนมากเท่าไหร่ มากกว่าล้านล้านคนหรือนับไม่ได้ กองดินที่อยู่บริเวณที่แห่งนี้แม้กระทั่งดินที่เราเหยียบไปนั้นกระจายเกลื่อนไปด้วยเศษกระดูกของมนุษย์ เพราะฉะนั้นให้เราเดินตามทางหากออกนอกเส้นทางอาจจะเหยียบหลุมศพ หดหู่มากสำหรับการมาที่นี่
เรียงรายไปด้วยหัวกะโหลกศรีษะมนุษย์ คนที่นี่เล่าว่าเป็นหัวกะโหลกของผู้เสียชีวิตที่นำมาเก็บไว้สูงทะลุฟ้า มองดูภาพแล้วนี่คนเราทำกันได้ขนาดนี้เชียวหรือ เรื่องราวเป็นมาอย่างไรไม่รู้แต่แค่คิดว่าทำไมต้องฆ่ากันขนาดนี้
มองดูหัวกะโหลกแล้วคิดในใจ ล้างเผาพันธุ์มนุษย์กันเลยหรือ คงเหลือไว้แต่คนทำงาน ทำนา และคนที่ไม่มีทางสู้ ครั้งนั้นได้อ่านหนังสือของคนที่รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะว่าเขานั้นได้ไปช่วยงานกลุ่มเขมรแดง ในการวาดภาพของคนทุกคนที่จะทำการสังหาร เลยทำให้รอดมาได้ คนที่มีความรู้ในเรื่องอื่นส่วนมากจะไม่มีชีวิตรอดมากเท่าใดนัก การใช้ชีวิตก็จะลำบากหน่อยต้องทำทุกอย่างตามที่เขาสั่ง ด้วยความกลัวตาย
จุดที่สามหลังเดินออกจากที่เก็บเดินมาทางด้านขวามือมาเจอจุดที่สาม ซึ่งที่นี่ได้เล่าว่าจุดนี้จะเป็นจุดของการรายงานตัวเพื่อที่จะเข้ารับการสังหารในรูปแบบต่างๆ เสียงโหยหวนดังกลิ่นเลือดฟุ้ง เสียงร่ำไห้ของเด็กๆ ที่หิวโหยและหาแม่ดังกังวาน
นั่งฟังมุมไหนก็ได้เพราะว่าในแต่ละจุดจะมีการเล่ามากกว่าสองสามนาที สถานที่แห่งนี้เงียบมาก หากว่าในเวลาตอนเย็นนั้นจะไม่มีใครกล้ามาที่นี่ เพราะว่าจะได้ยินเสียงร้องไห้ และเห็นสิ่งที่ลึกลับที่จบชีวิตลงที่นี่ยังไม่ได้ไปสู่สุคติ
ที่แห่งนี้จำได้เพราะว่าตอนที่เรามองดูต้นตาลนี้คิดเหมือนกันว่าทำไมไม่ตัดออกมีอยู่ต้นเดียว จริงๆ แล้วในวีดีโอเล่าว่า ศพมีจำนวนมากกองจนท่วมต้นตาลต้นนี้ ซึ่งต้นตาลต้นนี้สูงมากกว่าสิบเมตร คิดจินตนาการว่าศพจะเยอะขนาดไหน ครั้งแรกที่ไปสถานที่แห่งนี้ตอนนั้นยังเกิดเรื่องยังไม่นาน ยังได้กลิ่นของสาบ คาวเลือด ในตอนแรกนั้นทางการยังไม่ให้มีการล้างหรือทำความสะอาดอะไรทั้งสิ้น ให้คงอยู่แต่กลิ่นนั้นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณจนต้องมีการทำความสะอาด
ตรงนี้จะเป็นกล่องที่ใส่อาวุธในการสังหารคน ว่าใช้อะไรบ้างในการสังหาร มีร่องรอยสิ่งต่างๆ ที่เก็บไว้อย่างเรียบร้อย
เดินมาถึงตรงนี้เราจะเห็นกองดินที่กองเรียงรายกัน บางที่สูงใหญ่ บางที่เล็กแต่เห็นได้ชัดเจนว่าดินมีความไม่เสมอกัน เหล่านี้คือกองศพที่ถูกฝังดินซึ่งในการฝังนั้นไม่ได้มีจำนวนน้อย ขุดเป็นหลุมฆ่าแล้วก็โยนลงไปฝังในดิน หนึ่งหลุมไม่รู้ว่าทั้งหมดกี่ศพ ดูแล้วฟังแล้วสงสารหากว่าเป็นคนในครอบครัวเราคงทำใจยาก
ให้ดูอีกครั้งต้นตาลมรณะ ศพกองสูงกว่าต้นตาลต้นนี้ ลองคิดดูว่าจะมีทั้งหมดเท่าไหร่ ในสมัยนั้นมีการฆ่ากันเกือบทั้งประเทศเหลือไว้เพียงคนโง่ ชาวบ้านทำนา เพราะมีการกล่าวว่า คนเก่งนั้นควบคุมยากคนที่โง่ไม่มีการศึกษาควบคุมง่าย จะให้ทำอะไรก็ทำ เก่งมีสมองคิดนั่นคิดนี่ ไม่ดีต้องฆ่าเสียให้หมด
มุมนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ฟังแล้วน้ำตาซึม ในต้นไม้แห่งนี้ที่รวบรวมไปด้วยฝ้ายผูกแขนจำนวนมาก เกาะและคล้องอยู่แสดงถึงจำนวนของการจากไปที่มาก และเป็นจำนวนศพของเด็ก เริ่มจากเด็กทารกไปจนถึงเด็กโต ที่ถูกนำมาแล้วแยกออกจากพ่อแม่ นำมาใช้มือจับขาแล้วฟากใส่กับต้นไม้ทีละคน แล้วโยนศพไว้ แต่ก่อนที่จะทำการสังหาร จะให้ถอดฝ้ายผูกแขนออก คล้องไว้ที่นี่ ดูแล้วเห็นภาพเด็กที่เพิ่งเกิดไม่รู้อะไรจะต้องมาจบชีวิตลง
ตอนนี้เดินมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว มานั่งฟังต่อให้จบ ความรักความเมตตาไหนบอกว่าคือ สัตว์ประเสริฐแต่ฆ่ากันยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน เพื่อต้องการซึ่งอำนาจและความยิ่งใหญ่ เด็กน้กเรียนคนหนึ่งบอกว่า พ่อของเขาก็ถูกฆ่าตายที่นี่เช่นกัน แต่บางคนที่มีการเรียกให้กลับประเทศแล้วไม่ได้มาก็ใช้ชีวิตต่ออยู่ที่นั่นไปเลย เพราะตอนที่จะมีการฆ่านั้นจะมีหนังสือเชิญให้คนที่ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศกลับมารับรางวัลเป็นกลอุบายที่จะหลอกล่อมาฆ่า
สุดท้ายเมื่อเราเดินมาเรื่อยๆ ก็จะมาถึงทางออกจากทุ่งสังหาร ในระหว่างที่เดินนั้นฟังใครฟังเรา ใช้เวลาในการเดินชมประมาณชั่วโมงครึ่งตอนนั้นไปโดยรถตุ๊กๆ หน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นเพื่อนยามหน้าบ้านมาพา เพราะตอนนั้นยังไม่ได้รู้จักกับรถที่จะพาไปไหนมาไหน ได้บองนี่แหละพาไปตรงนั้นตรงนี้เลิกสอนดึกมาไม่มีอาหารทาน สามทุ่มบองก็พาขับหาอาหารกิน แต่สำหรับคนกัมพูชาจะไม่นิยมเข้าไปที่นี่ เพราะว่าไม่อยากกลับไปเจอบรรยากาศและความรู้สึกหดหู่ ชาติพันธุ์ของตนที่ถูกสังหารอยู่ในสถานที่แห่งนี้
การแต่งกายในการเข้าทุ่งสังหารเนื่องจากว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เราควรจะสำรวม การแต่งกายจึงควรเป็นกางเกงขายาวหรือขาสามส่วน เสื้อนั้นควรเป็นเสื้อแขนยาวหน่อยเพราะว่าอากาศร้อน อารมณ์เหมือนเรามาสุสานหรือป่าช้าบ้านเรา ในการเดินไม่กว้างมากนักประมาณ เจ็ดร้อยเมตรก็ถึงทางออก
การเดินทางท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติเลยก็ว่าได้ เราไปอยู่ที่ไหนเราจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจ แต่ไม่ใช่การนำมาย่ำยีหรือตอกย้ำในสิ่งที่เขาเองก็ไม่อยากนึกถึง มาเพื่อรู้ แล้วปลงว่าสิ่งที่ผ่านมาแล้วยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกนึกถึง และไม่ซ้ำรอยเดิม

















