“ยศช้าง ขุนนางพระ” หมายความว่าอย่างไร ?
คำว่า “ยศช้าง ขุนนางพระ” เป็นคำสำนวน หมายถึง ยศ ของช้าง กับ ขุนนาง (สมณศักดิ์) ของพระ มีความคล้ายกัน คือ เป็นเรื่องสมมุติทางโลก ไม่สำคัญจริงจัง ไม่สามารถให้คุณ หรือให้โทษแก่ใครได้
ยศของช้าง ที่ได้รับพระราชทาน เช่นเป็น พระ,พระยา,เจ้าพระยา อย่าง พระเศวตอดุลยเดชพาหน (ช้างสำคัญในสมัย ร.9) พระยาเศวตกุญชร (ช้างสำคัญ ในสมัย ร.2). เจ้าพระยาปราบไตรจักร (ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) เป็นต้น ช้างเหล่านี้ ถึงจะมียศสูงส่งเพียงใด ก็ยังคงเป็นช้างเหมือนเดิม
ขุนนาง (สมณศักดิ์) ของพระก็เช่นกัน พระภิกษุที่ได้รับการสถาปนาหรือตั้งสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึงชั้น รองสมเด็จพระราชาคณะ สมเด็จพระราชาคณะ หรือสมเด็จพระสังฆราช ท่านก็ยังคงเป็นพระภิกษุ มีจริยาวัตรดำรงอยู่ในสมณเพศเช่นเดิม ในเรื่องยศนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ยะโส ลัทธา นะ มัชเชยยะ (ได้ยศแล้วไม่ควรเมา)