ความฝันคืออะไร ? มีกี่ประเภท ? ประเภทไหนเป็นจริง ประเภทไหนไม่จริง?
"ความฝัน" คือการแสดงออกของความนึกคิด ความรู้สึกและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในสมอง ในขณะที่เรากำลังนอนหลับอยู่ เป็นภาวะที่สมองฉายภาพของสิ่งต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่มีอยู่จริง และสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ ความฝันมีหลายรูปแบบ บางครั้งฝันร้าย บางครั้งฝันดี
บางทีหลังจากฝันแล้วไม่นานก็เกิดเหตุการณ์เหมือนกับในความฝัน ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งสาเหตุแห่งความฝันไว้ 4 ประเภทคือ
1." จิตนิวรณ์ หรือ จิตอาวรณ์ " คือ เมื่อเราตรึกตรองเรื่องอะไรอยู่เป็นเวลานาน พอหลับก็เก็บเอาไปฝัน หรือตอนกลางวันหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอะไร ทั้งเรื่องเรื่องดี เรื่องร้าย ตอนกลางคืนก็เก็บเอาไปฝัน ความฝันประเภทนี้ไม่เป็นความจริง
2." เทพสังหรณ์ " คือ เทวดามาเข้าฝันดลใจ ผู้รู้ท่านว่า คนเราทุกคนมีเทวดาประจำตัว คอยปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะคนที่ทำความดีมาก ๆ เทวดาจะปกป้องคุ้มครอง หรือมาเข้าฝัน เพื่อเตือนให้ระวังตัวในเรื่องร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ความฝันประเภทนี้จะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
3. " บุพนิมิต" คือ ความฝันที่มักจะเกิดกับผู้มีบุญ ซึ่งมีความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ความฝันของพระนางสิริมหามายา ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จเข้าสู่พระครรภ์ พระนางฝันว่ามีช้างเผือกมาเวียนประทักษิณรองปราสาท แล้วเข้าไปในพระครรภ์ของพระนาง ซึ่งเป็นบุพนิมิตว่าจะมีผู้มีบุญมหาศาลมาถือกำเนิด แล้วก็เป็นความฝันที่เป็นจริงในเวลาต่อมา
4. " ธาตุพิการ หรือธาตุกำเริบ" เวลาเจ็บป่วย เป็นไข้ไม่สบาย มักฝันร้าย เช่นฝันว่าตกเหว หรือถูกคนทำร้าย ความฝันประเภทนี้ ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นความฝันที่เกิดจากสภาวะร่างกายไม่ปกติ
สรุปแล้ว ความฝันประเภท " จิตนิวรณ์ และธาตุพิการ " เชื่อถือไม่ได้ ส่วนประเภท "เทพสังหรณ์ " เชื่อถือได้แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเภท " บุพนิมิต " เป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์