Saint Joan of Arc วีรสตรีที่ "ถูกเผาทั้งเป็น" ข้อหาว่าเป็น "แม่มด"
ในบรรดาสตรีที่อยู่ในประวัติศาสตร์โลกคงจะต้องมีชื่อของ "ฌาน ดาร์ก" (Jeanne d'Arc) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นักบุญโจนออฟอาร์ก" (Saint Joan of Arc หรือ Sainte Jeanne d’Arc ในภาษาฝรั่งเศส) ที่คงเป็นที่น่าจดจำอีกบุคคลหนึ่ง ในฐานะนักบุญของศาสนาคริสต์ ที่เป็นวีระสตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศสที่เคยมีมา เธอมีชีวิตราวกับละครเรื่องยาวที่แสนจะน่าผกผัน..งั้นเรามาตามอ่านกันเลยดีกว่า
Saint_Joan_of_Arc_By Wikimedia Commons
ประวัติส่วนตัวของเธอ
เธอเป็นสาวชาวเกษตรกรรม เป็นบุตรสาวของ "ฌาคส์ ดาร์ก" และ "อิสซาเบลลา โรเม" เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1412 ทางตะวันออกของฝรั่งเศส ณ หมู่บ้าน "โดมเรมี" (Domremy) ประเทศฝรั่งเศส มีสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการทำสงครามกับอังกฤษในสงครามที่เรียกกันว่า "สงครามร้อยปี"
Jeanne d' Arc_Jehanne Darc (1412-1431)
Domremy_Joan of Arc_Credit by Jeanne-darc.info
การแย่งชิงบัลลังก์ของฝรั่งเศส
มันเป็นการแย่งชิงระหว่าง "มกุฎราชกุมารชาลส์" (Charles) ภายหลังก็คือ "กษัตริย์ชาลส์ที่ 7" เป็นรัชทายาทของกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 แห่งราชวงศ์แวลัวส์ (Valois) แย่งชิงกับ "กษัตริย์เฮนรีที่ 6" แห่งแลงคาสเตอร์ (Langcaster) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฟิลิปที่ 3 (Philip the Good) "ดยุคแห่งเบอร์กันดี" ที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ
โดยกษัตริย์เฮนรีที่ 6 ได้อ้างสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาแห่งทรัวส์หรือ "Treaty of Troyes" ซึ่งได้ระบุให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์เฮนรีที่ 5 (พระบิดาของกษัตริย์เฮนรีที่ 6) กับแคเธอรีนแห่งแวลัวส์ (พระธิดาของกษัตริย์ชาลส์ที่ 6) ของฝรั่งเศส โดยให้กษัตริย์เฮนรีที่ 5 มีสิทธิในการเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ของฝรั่งเศสต่อจากกษัตริย์ชาลส์ที่ 6
แต่สุดท้ายกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 และกษัตริย์เฮนรีที่ 5 กลับมาสวรรคตในเวลาไล่เลี่ยกันซะก่อน ส่วนกษัตริย์เฮนรีที่ 6 ของอังกฤษ ตอนนั้นก็ยังอยู่ในวัยแบเบาะ จึงทำให้กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ลุกขึ้นมาอ้างสิทธิสืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา (กษัตริย์ชาลส์ที่ 6) ถึงแม้ว่าพระราชบิดาจะสวรรคตไปแล้วกว่า 5 ปี
Charles VII of France_By Wikimedia Commons
King Henry VI of England_By Wikimedia Commons
ซึ่งเวลาผ่านมานานกษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ก็ยังไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นบัลลังก์สักที ซึ่งการจะทำพิธีราชภิเษกเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสต้องไปทำที่ "เมืองแร็งส์" (Reims) แต่ขณะนั้นดันอยู่ในความยึดครองของศัตรูทำให้บัลลังก์ของกษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ไม่มั่นคง
จุดเริ่มต้นของการปรากฎตัวของโจน
หมู่บ้านโดมเรมีของเธอตั้งอยู่บริเวษชายแดนเขตอำนาจของมกุฎราชกุมารและฝ่ายเบอร์กันดีที่อยู่ข้างอังกฤษ ภายใต้ภาวะที่สั่นคลอนจากความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ส่วนเธอก็อ้างว่าเธอได้รับ "เสียงสวรรค์" บอกผ่านทางนักบุญของชาวคริสต์ 3 ท่านคือ
1. เซนต์ไมเคิล (St. Michael)
2. เซนต์แคเธอรีนแห่งอเล็กซานเดรีย (St. Catherine of Alexandria)
3. และเซนต์มากาเร็ตแห่งแอนติออค (St. Margaret of Antioch)
เพื่อบอกให้เธอมาช่วย "มกุฎราชกุมารชาลส์" ให้ได้ขึ้นครองราชย์
เธอมาสมัครเป็นทหารเพื่อร่วมรบ
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1428 เธอมีอายุเพียง 16 ปี ก็เดินทางจากบ้านเกิดไปยัง "วูคูเลอร์" (Vaucouleurs) ที่ตั้งของฐานทัพที่ภักดีต่อกษัตริย์ชาลส์ที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอร่วมรบแต่กลับถูกปฏิเสธ
แต่เธอไม่ละความพยายาม พอเดือนมกราคม ค.ศ. 1429 ก็มาสมัครเป็นนักรบอีกครั้ง ด้วยบุคคลิกที่แน่วแน่และเปี่ยมไปด้วยศรัทธา จึงทำให้เธอได้รับการยอมรับจากเหล่าทหาร และได้ร่วมเดินทางไปยัง "ชีนง" (Chinon) เพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์ชาลส์ในที่สุด
ได้พบกษัตริย์ชาลส์
ตอนแรกกษัตริย์ชาลส์ยังไม่ให้เธอเข้าเฝ้า แต่พอผ่านไป 2 วันก็ยอมให้เธอเข้าเฝ้า เธอจึงได้มีโอกาสบอกความตั้งใจกับกษัตริย์ชาลส์ ว่าเธอต้องการจะออกรบสู้กับอังกฤษ และสัญญาว่าจะทำให้พระองค์ได้รับการประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองแร็งส์ให้ได้
เธอถูกทดสอบการไต่สวนจากเหล่านักบวช โดยเธอจะพิสูจน์ว่าเธอได้รับบัญชาจากสวรรค์ในการสู้รบที่ "ออร์เลอองส์" (Orleans) ที่กำลังถูกโจมตีจากอังกฤษมานานหลายเดือน กษัตริย์ชาลส์จึงมอบกำลังทหารกองเล็กๆให้กับเธอเพื่อให้เดินทางไปออร์เลอองส์ เธอช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหารฝรั่งเศส จนเธอนำทัพออกรบหลายครั้ง
แต่ในการรบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1429 เธอถูกยิงด้วยธนู แต่หลังจากที่เธอทำแผลไม่นาน ก็รีบกลับสู่สนามรบสร้างแรงกระตุ้นให้กับทหารฝรั่งเศส และทำให้กองทัพอังกฤษเสียท่าจนต้องถอนทัพออกจากออร์เลอองส์ในวันถัดมา
ฝรั่งเศสได้ชัยชนะเหนือทัพอังกฤษ
ในช่วง 5 สัปดาห์หลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้ชัยชนะเหนือกองทัพอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 16 กรกฎาคม กองทัพฝรั่งเศสได้เดินทางไปยังเมืองแร็งส์ ซึ่งยอมเปิดประตูเมืองเพื่อต้อนรับเธอและกษัตริย์ชาลส์ และวันถัดมากษัตริย์ชาลส์ก็ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็น "กษัตริย์ฝรั่งเศส" ตามราชประเพณีจนสำเร็จ
เธอพลาดท่าโดนศัตรูจับได้
ในวันที่ 8 กันยายน เธอพยายามบุกยึดปารีส เธอเรียกร้องให้ชาวเมืองยอมยกเมืองให้กับกษัตริย์ชาลส์..แต่ไม่เป็นผล เธอถูกเล่นงานจนได้รับบาดเจ็บ พยายามจะให้ทหารบุกเดินหน้าต่อ ก่อนเธอจะยอมล่าถอยและกษัตริย์ชาลส์มีคำสั่งให้ถอนทัพ
จนมาศึกสุดท้ายการสู้กับฝ่ายเบอร์กันดีใน "เมืองคองเพียญน์" (Compiègne) เธอขับไล่ไว้ได้ 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็พลาดท่าถูกฝ่ายเบอร์กันดีจับตัวได้ในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1430 ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพเสริมของอังกฤษ
เธอถูกขายให้กับอังกฤษด้วยค่าหัว 10,000 ฟรังส์
ถูกขายให้กับอังกฤษด้วยค่าหัว "10,000 ฟรังส์" ขณะที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ก็มิได้พยายามจะช่วยเหลือเธอแต่อย่างใด เพราะพระองค์กำลังพยายามจะหาข้อตกลงในการสงบศึกกับฝ่ายเบอร์กันดี
ถูกกล่าวหาว่าเป็น "แม่มด"
เธอถูกกล่าวหาว่ามี "ความผิดต่อกษัตริย์แห่งแลงคาสเตอร์" จึงถูกนำตัวขึ้นศาลศาสนาโดยนักเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีส ยืนยันเอาผิด และกล่าวหาว่าเธอมีประพฤติตนนอกรีตเนื่องจากความเชื่อของเธอ มิได้สอดคล้องกับแนวทางของศาสนจักรในขณะนั้น เธออ้างว่าสามารถสื่อสารกับพระเจ้าโดยผ่านนิมิตว่ามาจากเสียงสวรรค์ ถือเป็นภัยคุกคามต่อบรรดานักบวช และการที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ได้ครองบัลลังก์ก็เพราะมันเป็นการช่วยเหลือของเธอในฐานะเป็น "แม่มด"
เธอถูกเผาทั้งเป็น
การไต่สวนใช้เวลานานเพื่อให้เธอยอมรับสารภาพ จนเธอป่วยหนักเธอจึงขอโอกาสในการที่จะรับสารภาพ แต่เป็นคำสารภาพที่ไม่ยอมรับการถูกปรักปรำตามข้อกล่าวหา เธอจึงถูกคณะไต่สวนข่มขู่จะทำร้ายเธอ เธอประกาศว่า..
"ต่อให้ทรมานเธอจนตายก็จะไม่ตอบอย่างอื่นยังยืนยันคำเดิม และถ้าหลังจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงคำให้การของเธอ นั่นหมายความว่าเธอถูกบิดเบือนโดยการใช้กำลังบังคับเธอ"
คณะไต่สวนเลยส่งเธอไปยังศาลอาณาจักรซึ่งมีอำนาจในการลงโทษพวกนอกกรีตให้ตายได้
เธอจึงถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตพร้อมคำสั่งให้สวมเสื้อผ้าอย่างผู้หญิง ซึ่งเบื้องต้นเธอยอมปฏิบัติตาม แต่สองสามวันถัดมาคณะไต่สวนได้เดินทางมาพบเธอ และพบว่าเธอสวมเครื่องแต่งกายอย่างผู้ชายอีก เธออ้างว่าเซนต์แคเธอรีนและเซนต์มากาเร็ตได้มาพบ
และตำหนิว่า..เธอทรยศด้วยการยอมรับสารภาพต่อศาสนจักร ทำให้ศาลศาสนาตัดสินว่าเธอประพฤตินอกรีตอีกครั้ง จนในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1431 ด้วยวัยเพียง 19 ปี เธอก็ "ถูกเผาทั้งเป็น" ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต
สถาปนาประกาศให้เธอเป็นนักบุญ
จนเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 24 ปี กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ไม่ทรงสามารถที่จะแสดงพระองค์ว่าทรงได้รับอำนาจมาจากผู้ที่ถูกประณามว่าเป็น "ผู้นอกกรีต" จึงมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีของเธอขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
สุดท้าย "พระสันตะปาปาคาลิกส์ตุสที่ 3" (Calixtus III) ก็ได้สั่งให้รื้อการพิจารณาคดีตามฎีกาของครอบครัวเธอ คณะไต่สวนซึ่งพิจารณาคดีระหว่างปี ค.ศ. 1455-1456 ได้มีคำสั่งยกคำตัดสินเดิมในปี 1431
Pope Calixtus III_By Wikimedia Commons
และในปี ค.ศ. 1920 "พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15" ก็ได้ประกาศให้เธอเป็น "ผู้บริสุทธิ์" และทางวาติกันก็ประกาศให้เธอเป็น "มรณสักขี" จนในปี ค.ศ. 1920 เธอจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "นักบุญ" (แห่งคริสตจักรคาทอลิก) และเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก : กูลเกิ้ล, วิกิพีเดียร์