มะละกอ เป็นได้ทั้งอาหารคาว หวาน อาหารเพื่อสุขภาพ และสมุนไพรรักษาโรค รับประทานมะละกออย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ?
มะละกอ (papaya) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาแถบร้อน สันนิษฐานว่า ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับชาวยุโยปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปปลูกในทุกภาคของประเทศ
มะละกอ เป็นไม้ยืนต้น เนื้ออ่อน ความสูงประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นตรง ดอกมีทั้ง ดอกตัวผู้ (ไม่ให้ผล) ดอกตัวเมีย (ให้ผลกลมหรือลูกกบ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด) และ ดอกสมบูรณ์เพศ หรือ ดอกกะเทย (ให้ผล)
ประโยชน์และสรรพคุณของมะละกอ
รากมะละกอ ช่วยขับปัสสาวะ โดยนำมาต้มกับนำ้ให้สุกแล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ
ใบมะละกอ นำใบมะละกอมาต้มกับนำ้สะอาดแล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม เพื่อ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด แก้ปอดบวม ขับพยาธิ
หรือใครมีอาการปวดข้อ ปวดเข่า ปวด บัวแดง บริเวณไหน ให้นำใบมะละกอไปย่างไฟ แล้วนำมาห่อหรือประคบอุ่น ๆ ในจุดที่ปวดอาการก็จะทุเลาลง
มะละกอดิบ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยลมและปัสสาวะได้ และที่สำคัญนำมาทำส้มตำได้หลายเมนู ทั้งตำลาว ตำไทย ตำปลาร้า ตำปู ตำสั้ว อร่อยแซ่บทุกเมนู นอกจากนี้ยังทำแกงส้มได้รสชาติอร่อยเลยทีเดียว
มะละกอสุก แก้ท้องผูก เพราะมี ไฟเบอร์สูง และ มีน้ำย่อย บำรุงธาตุ แก้กระเพาะอาหารอักเสบ บำรุงน้ำนม ช่วยย่อยอาหาร บำรุงสายตา เพราะมี วิตามินเอ บรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน เพราะมี วิตามินซี เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และ ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมี เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเซลล์ร้ายเกิดขึ้นกับร่างกาย
รับประทานมะละกออย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ?
มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า เคล็ดลับในการรับประทานมะละกอให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรเลือกมะละกอที่มีลักษณะแก่จัด แต่ไม่สุกจัด คือให้เลือกมะละกอสีเหลืองอมเขียว เนื้อเรียบ ขั้วยังสด ไม่แห้ง และมีน้ำหนักมาก เพราะจะเป็นมะละกอที่ทรงคุณค่าทางอาหารไว้เยอะ เนื้อเยอะ และแน่นกว่า ก่อนปอกเปลือกมะละกอควรล้างด้วยน้ำสะอาด เมื่อปอกเปลือกแล้ว ไม่จำเป็นต้องล้างนำ้ซ้ำอีก เพราะจะทำให้รสชาติของมะละกอเพี้ยนไป หรืออาจ
จืด ไม่อร่อย