'พฤษภาทมิฬ' จุดด่างพร้อยรุนแรงของการเมืองไทย
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน
เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ลัทธิความเชื่อ
และแนวคิดหรือมุมมองทางการเมือง โดยหลักการตามกฎหมายแล้ว
เราจำเป็นจะต้องยอมรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมเดียวกันให้ได้
แม้ว่าจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกันมากแค่ไหนก็ตาม
แต่บางครั้ง(หรือหลายๆครั้ง) หลักการที่เป็นสากลนี้ก็ใช้ไม่ได้
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากมุมมองความเชื่อที่ต่างกันนี้เลยมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง
ตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย
และไม่มีครั้งไหนเลยจะรุนแรงและสร้างความบอบช้ำได้เท่ากับเหตุการณ์นี้
'พฤษภาทมิฬ'
คำว่า 'พฤษภาทมิฬ' คือคำที่คนทั่วไปใช้เรียกเหตุการณ์หนึ่ง
ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 เป็นเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ระหว่างกลุ่มของประชาชนและนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในสมัยนั้น
ที่นำโดย 'พลเอกสุจินดา คราประยูร' ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร
เหตุการณ์มีขึ้นในช่วงวันที่ 17 ถึง 24 พฤษภาคม เริ่มจากการชุมนุมประท้วง
และนำไปสู่การใช้กำลังพร้อมอาวุธเข้าปราบปรามฝูงชนในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย
และบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 1700 คน (ข้อมูลการรายงานของรัฐบาล)
แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงน่าจะสูงถึง 500 คน
ก่อนที่จะมีการประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรีในที่สุด
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ครั้งที่รุนแรงและส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประชาธิปไตยมากที่สุด
เหตุการณ์นี้ยังถูกหยิบยกมาพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันจนปัจจุบัน