การุณยฆาต เมื่อการอยู่เป็นความทรมาน Ep.1
Euthanasia การุณยฆาต
เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับร่างกายที่ต้องทนทรมานจากการรักษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีวี่แววที่จะฟื้นฟู หรือกลับมาเป็นปกติได้ และเมื่อชีวิตต้องพบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าบำบัดอย่างไร วิธีไหน ความเลวร้ายก็ไม่ได้ลบเลือน เพียงแค่กระพริบตาภาพเหตุการณ์ที่ทุกข์ระทมเล่านั้นก็กลับมา ราวกับว่ามันกำลังเกิดขึ้นต่ออีกครั้งซ้ำไปซ้ำมา ไม่มีที่สุด...
- - - เมื่อการอยู่ต่อเป็นความทุกข์ทรมาน - - -
การุณยฆาต หรือการขออนุญาตตายด้วยสิทธิของตัวเอง เป็นการยุติชีวิตโดยเจตนาเพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมานไม่ว่าความเจ็บปวดนั้นจะเกิดด้วยการเจ็บป่วยทางร่างกายจนเกินจะเยียวยา หรือการได้รับผลกระทบทางจิตใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติชน จึงเป็นทางเลือกที่หลายๆ คนปรารถนา
ในความเป็นจริง การุณยฆาต ไม่ได้มีเพียงแค่การขอยุติชีวิตด้วยตนเองเท่านั้น แต่ยังคงมีถึง 6 รูปแบบด้วยกัน
1. การุณยฆาต (Euthanasia) การยุติชีวิตของผู้ป่วยโดยแพทย์ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วยเอง
2. การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-Assisted Suicide)
การยุติชีวิตของผู้ป่วยด้วยตัวผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ให้ความช่วยเหลือโดยจัดยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตตามคำร้องขอและความสมัครใจ
3. การยุติชีวิตโดยปราศจากการแสดงเจตนาของผู้ป่วย (Ending of Life without the Patient’s Explicit Request)
การยุติชีวิตของผู้ป่วยโดยแพทย์ โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ว่าให้แพทย์กระทำการดังกล่าวได้
4. การปฏิเสธการรักษาในวาระท้ายของชีวิต (Non-Treatment Decisions)
การที่ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะงด หรือหยุดการรับบริการทางการแพทย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการธำรงหรือยืดชีวิตของตนเอง
5. การฆ่าตัวตาย (Suicide)
6. การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเร่งหรือยืดการตาย เป็นการเสียชีวิต "ตามธรรมชาติ" การรับการดูแลแบบประคับประคองเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก และนับว่าเป็นรูปแบบการยุติชีวิตที่เป็นตัวเปรียบเทียบให้กับรูปแบบอื่นๆ
สำหรับประเทศแรกที่ถือว่าการุณยฆาตถูกต้องตามกฎหมาย และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คือประเทศเนเธอร์แลนด์ (2002) ปัจจุบันมีประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้ทำการุณยฆาต คือ โคลอมเบีย, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา (บางรัฐ), ออสเตรเลีย (บางรัฐ) ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่มีเพียงสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น ที่ยินยอมให้มีการทำการุณยฆาตแก่ “คนต่างชาติ” อย่างถูกกฎหมาย
สวิตเซอร์แลนด์ จึงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการยุติชีวิตตัวเอง โดยขั้นตอนดำเนินการคือส่งเรื่องไปยังองค์กรการทำการุณยฆาตในสวิตเซอร์แลนด์ (มีหลายแห่ง) เพื่อแจ้งความประสงค์ ผู้ป่วยต้องถูกตรวจสอบด้านร่างกายและจิตใจเพื่อประกอบการพิจารณา ว่ามีอาการเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน ต้องการทางออกของชีวิตรูปแบบนี้จริง ๆ และการตัดสินใจเกิดจากความต้องการของผู้ป่วยเอง ไม่มีใครบังคับ
ด้วยความที่มีช่องโหว่ทางกฎหมายที่เหมือนจะไม่ได้ห้าม สวิตเซอร์แลนด์ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนในประเทศของตนรับการทำการุณยฆาตเท่านั้น จึงทำให้เกิด "การท่องเที่ยวเพื่อฆ่าตัวตาย" (Suicide tourism) ซึ่งอันที่จริงมันไม่ใช่การท่องเที่ยวในเชิงที่เราคุ้นเคย เพื่อความเพลิดเพลิน แต่เป็นการมายังประเทศที่มีช่องทางทำการุณยฆาตนั่นเอง
Dignitas เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือในการฆ่าตัวตายโดยแพทย์แก่ สมาชิกที่ป่วยระยะสุดท้ายหรือเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจขั้นรุนแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากแพทย์อิสระชาวสวิส โดยพวกเขาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง คำสั่งล่วงหน้าด้านการดูแลสุขภาพ และการป้องกันความพยายามฆ่าตัวตาย และการแนะกฎหมายสำหรับกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการตายทั่วโลก
โดยทั่วไป Dignitas ใช้กระบวนการการุณยฆาต โดยให้รับประทานยา (ขอไม่บอกชื่อตัวยาละกันนะ) A ในช่องปาก ตามด้วยการใช้ยา B แบบชนิดผงที่เกินขนาดละลายในน้ำ หากจำเป็นสามารถกินยาผ่านหลอดดูดดื่มได้ ยา B จะกดระบบประสาทส่วนกลางทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนและหลับไปภายใน 3-5 นาทีหลังจากดื่ม การดมยาสลบจะช่วยให้เข้าสู่อาการโคม่า ตามมาด้วยการหยุดหายใจและเสียชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 30-40 นาทีหลังจากกินยา B
สำหรับค่าใช้จ่ายมีราคาสูงมาก จากการคำนวณในรายงานของ The Indipendent ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ระหว่าง 6,500-15,000 ปอนด์ (ประมาณ 287,000-660,000 บาท) โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 442,000 บาท)
หลังจากเสียชีวิตจากการทำการุณยฆาตแล้ว เจ้าหน้าที่ขององค์กร (คลินิก) ต้องยืนยันและพิสูจน์ว่ากระบวนการทั้งหมดทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ไม่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยต้องมีการตรวจสอบจาก
- ตำรวจ ทนายของรัฐ ตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับจากองค์กร
- แพทย์อิสระตรวจร่างกายของผู้เสียชีวิต และอาจมีการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและญาติใกล้ชิดด้วย
บางรายที่ไม่ต้องการให้ส่งศพกลับประเทศ เนื่องจากความซับซ้อนของขั้นตอน จึงเลือกให้ทำศพในสวิตเซอร์แลนด์ แล้วส่งเถ้ากระดูกกลับประเทศให้ครอบครัวแทน
>>รอต่อ EP.2 กันนะ ยังมีอีกยาว
อ้างอิงจาก:
1.บทความวิชาการ "การุณยฆาต:สิทธิมนุษยชนที่ควรมีเพื่อคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"
2.บทความนำเสนอผ่าน Social AomMoney "การุณยฆาต” ราคาที่ต้องจ่าย ถ้าอยากตายอย่างสงบ"
3.บทความนำเสนอผ่าน website https://www.hfocus.org "วิวาทะการุณยฆาต สวิตเซอร์แลนด์ดินแดนที่เปิดช่องโหว่ให้กับการฆ่าตัวตายอย่างถูกกฎหมาย"