เลี้ยงหอยเชอรี่สีทองให้มีรายได้
หอยเชอรี่สีทอง เลี้ยงบ่อดิน ต้นทุนต่ำ ลุยสร้างตลาดหอยเนื้อ!
หนุ่มนักออกแบบ ผันตัวเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง เลี้ยงบ่อดิน ต้นทุนต่ำ ลุยสร้างตลาดหอยเนื้อ!
“ช่วงที่เริ่มอิ่มตัวจากการทำงานประจำด้านออกแบบที่ทำอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เริ่มมอง ๆ อาชีพด้านการเกษตร ตั้งใจจะกลับมาทำที่บ้านต่างจังหวัดจนได้ไปรู้จักหอยเชอรี่สีทองจากเพื่อนรุ่นพี่ที่อยู่ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เริ่มนำมาทดลองเลี้ยงอย่างจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ตัดสินใจออกจากงานประจำมาเลยเพราะเป็นช่วงโควิด-19 พอดี”
คุณธนากร ปะมะโน เจ้าของ “บ้านนาฟาร์มหอยสีทอง” ในจังหวัดมหาสารคาม เล่าถึงเส้นทางเดินใหม่ในฐานะเกษตรกร ต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ตั้งแต่การศึกษาธรรมชาติของหอยเชอรี่ รูปแบบการเลี้ยง บ่อเลี้ยง ซึ่งที่ฟาร์มตัดสินใจเลือกเลี้ยงกระชังน้ำและในบ่อดินทั้งหมด เพราะเทียบแล้วดูแลจัดการได้ง่ายกว่าการเลี้ยงในบ่อปูน
ความประทับใจที่คุณธนากรมีต่อหอยเชอรี่สีทองที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มเลี้ยง คือความแปลกและสวยงาม และคิดว่าเลี้ยงง่ายเพราะเห็นเป็นหอยเชอรี่เหมือน ๆ กัน แต่สวยงามกว่า เปลือกและเนื้อสีทองมองแล้วว่าน่าจะช่วยในการขายและทำตลาดได้ ซึ่งหอยเชอรี่เป็นที่นิยมและคนทางแถบภาคอีสานรับประทานกันมาเกือบ ๆ 6-7 ปีแล้ว นำไปทำลาบก้อย ใส่ในส้มตำ และเท่าที่ลองกินเปรียบเทียบกับเนื้อหอยเชอรี่ทั่วไป เนื้อหอยเชอรี่สีทองมีความกรอบและไม่เหนียวเท่าเนื้อหอยเชอรี่ทั่วไป รวมถึงสีสันน่ากินกว่า
“จริง ๆ แล้ว เชอรี่สีทองจะมี 2 แบบ คือ เปลือกสีน้ำตาลเนื้อสีทอง และเปลือกสีทองเนื้อสีทอง หรือพูดง่าย ๆ ขอให้เนื้อสีทองไว้ก่อน แต่ในทางการตลาดตอนนี้ที่คนนิยมซื้อหา เนื้อก็ต้องสีทองตามมาตรฐาน เปลือกก็ต้องสีทองด้วยถึงจะดี”
การเลี้ยงหอยเชอรี่เพื่อแกะเนื้อจำหน่าย ใช้เวลาเลี้ยงนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จนได้หอยเชอรี่สีทองขนาดน้อง ๆ ไข่เป็ดไข่ไก่ สนนราคาเนื้อหอยเชอรี่สีทองจะอยู่ที่ 150 บาท/กิโลกรัม ทำไปทำมาเจ้าตัวบอกดีเกินคาด ตั้งเป้าสร้างตลาดเนื้อขายทั้งในและเพื่อนบ้าน!
เลี้ยงในกระชังน้ำและบ่อดิน อิงธรรมชาติจัดการง่าย โดยการเลี้ยงของที่ฟาร์มจะแบ่งเป็น 2 ส่วน
1. หากเป็นการเพาะขยายพันธุ์จะเลี้ยงในกระชังน้ำ เพื่อง่ายต่อการเก็บคัดแยก ป้องกันการผสมกับหอยเชอรี่ทั่วไปที่พบในแหล่งน้ำ
2. การเลี้ยงเพื่อแกะเอาเนื้อจะปล่อยลงบ่อดินให้เติบโตไปตามธรรมชาติ
เตรียมบ่อเตรียมกระชังหัวใจสำคัญในการเลี้ยง
การเตรียมบ่อและน้ำก่อนปล่อยพ่อแม่พันธุ์เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงหอยเชอรี่ ซึ่งบ่อดินจะได้เปรียบเพราะเป็นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งพื้นที่นั้นเคยใช้ทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมียิ่งไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่หลังเตรียมบ่อใส่น้ำแล้ว ทิ้งระยะลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงสัก 1 เดือนว่าสภาพน้ำเป็นอย่างไร
ถ้าใสหลังเอากระชังลงไปวางและทำหลักเรียบร้อยจะใส่ผักตบชวา แหนแดง จอกหูหนูลงไปเพิ่ม หลังจากนั้นคอยสังเกตดูอีกว่าผักที่ใส่ลงไปเขียวสวยดีหรือไม่ ถ้าดีและน้ำใสดีแล้วให้นำหอยพ่อแม่พันธุ์หรือลูกพันธุ์ลงเลี้ยงได้เลย
โดยกระชังที่ใช้เป็นมุ้งไนลอนสีฟ้า ขนาด 2x3 เมตร ลึก 1.5 เมตร กระชังหนึ่งปล่อยพ่อแม่พันธุ์ได้อย่างต่ำ 500 ตัวขึ้นไป จะต้องคัดพ่อแม่พันธุ์อย่างละครึ่ง ๆ แยกสี แยกความสมบูรณ์
การเลี้ยงในบ่อดิน 1 เดือนแรกไม่ต้องให้อาหาร เพราะมีอาหารธรรมชาติคือพืชน้ำชนิดต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ให้ หลัง 1 เดือนขึ้นไปจะมีอาหารเสริม คือ อาหารปลาดุกใหญ่ โปรตีน 15 เปอร์เซ็นต์ โดยจะโรยให้ตามขอบบ่อ บ่อละ 1 กำมือ ให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง พอหอยอายุ 2-3 เดือนขึ้นไปจะผสมรำ 1 ส่วน กับอาหารปลาดุกใหญ่ 2 ส่วน
ข้อดีของอาหารปลาดุกใหญ่คือลอยน้ำได้นาน เนื่องจากหอยจะกินอาหารที่ลอยไม่ลงไปหาอาหารที่ก้นบ่อ ส่วนอาหารที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือ ไม้น้ำและแหนแดงที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี บ่อไหนหมดก็จะคอยเติมให้มีกินอยู่ตลอด
หอยจะเริ่มผสมพันธุ์กันเมื่ออายุได้ 3 เดือน แต่ถ้าสมบูรณ์ต้องอายุ 4 เดือนขึ้นไป หอยเชอรี่จะชอบวางไข่ที่สูง เช่นตามยอดผักตบชวา ตามมุ้งกระชัง ใน 1 วันจะได้มากถึง 100 รัง หรือหลอด (ที่เห็นเป็นก้อนยาว ๆ สีชมพู) จะเก็บทุก 2-3 วัน/ครั้ง มาเพาะขยายพันธุ์ ระหว่างนั้นถ้ามีการสั่งซื้อเข้ามาก็จะนำไข่ที่เก็บมาเตรียมขยายพันธุ์แบ่งจำหน่ายไปด้วยเลย ซึ่งลูกค้าที่ซื้อไปก็สามารถนำไปฟักเลี้ยงต่อได้เลย ด้วยวิธีการ “อบหอย”
การอบหอยเบื้องต้นนำไข่ใส่ภาชนะตั้งไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ หลังจากไข่เริ่มเปลี่ยนสีจากสีชมพูสดมาเป็นชมพูจาง ๆ หรือออกขาวจะนำมาใส่กล่องพลาสติกปิดฝาให้แน่นเพื่ออบไข่ ไม่เกิน 4 วันไข่จะเริ่มฟักเป็นตัว หลังจากนั้นก็เอาลงกระชังน้ำในบ่อดินที่เตรียมไว้ได้เลย โดยปัจจุบันสนนราคาของไข่หอยเชอรี่ 1 รังจะขายกันประมาณ 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดว่าเล็กใหญ่ขนาดไหน
ส่วนการเลี้ยงเพื่อแกะเนื้อจำหน่าย ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณธนากรที่กำลังเปิดรับลูกฟาร์มเพื่อสานฝันร่วมกันอยู่ จะใช้เวลาเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จนได้หอยเชอรี่สีทองขนาดน้อง ๆ ไข่เป็ดไข่ไก่ สนนราคาเนื้อหอยเชอรี่สีทองจะอยู่ที่ 150 บาท/กิโลกรัม
คุณธนากรมองว่า ความนิยมบริโภคหอยเชอรี่มีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นิยมใส่ส้มตำ ลาบ หรือย่างเสียบไม้ขาย แม้เริ่มจากทางแถบภาคอีสาน แต่ต้องไม่ลืมว่าคนภาคอีสานมีอยู่ทั่วประเทศ และคนในภาคอื่น ๆ ก็เริ่มรู้จักและหันมารับประทานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีช่องทางจำหน่ายไปยังเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศลาว
การเลี้ยงเพื่อแกะเนื้อจะเป็นตลาดที่ยั่งยืนในอนาคต ไม่อย่างนั้นปริมาณอาจเยอะจนล้นตลาด เพราะมันขยายพันธุ์ได้เร็วมาก แต่ถ้ามีการแกะเนื้อขายจะทำให้มีความต้องการอยู่ตลอด ทำให้อาชีพเลี้ยงหอยเชอรี่ทองมีตลาดแน่นอน มั่นคง ทำเป็นอาชีพเสริมได้ อาชีพหลักก็ยังไหว ที่สำคัญกำเงินมา 1-2 พันบาทก็เริ่มเลี้ยงได้แล้ว