อาการเบื้องต้นของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
'โรคซึมเศร้า' เป็นโรคที่ถูกพูดถึงในวงกว้างช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการเด่นชัด เลยมักจะถูกมองข้าม
หรือนำไปสู่การละเลยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง วันนี้มีวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น
ทั้งของตัวเองและคนรอบๆตัว ว่ากำลังอยู่ในข่ายของโรคซึมเศร้าหรือเปล่า
เพื่อที่จะได้ขอความช่วยเหลือหรือเข้ารับการบำบัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
**หมายเหตุ : อาการของโรคซึมเศร้ามีหลากหลายมาก
ในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สังเกตได้ง่ายเท่านั้น
ไม่สามารถเขียนให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด
5 อาการเบื้องต้น ของผู้มีอาการของโรคซึมเศร้า
1. มีมุมมองการใช้ชีวิตที่ดูสิ้นหวัง
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตโดยทั่วไป
การมีมุมมองที่สิ้นหวังหรือสิ้นหวังในชีวิตจึงถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะซึมเศร้า
ความรู้สึกอื่นๆที่อาจเจอได้สำหรับคนที่มีอาการ อย่างเช่น มีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
เกลียดตัวเอง เกิดรู้สึกผิดที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีการโทษตัวเอง
ผู้มีอาการของโรคซึมเศร้ามักจะตกอยู่ในภาวะต้องคิดวนไปมาซ้ำๆ
และอาจจะมีคำพูดประมาณว่า "เป็นความผิดของฉันเอง" เป็นต้น
2. สูญเสียความสนใจต่อเรื่องต่างๆ
อาการซึมเศร้าอาจทำให้ความสุขหรือความเพลิดเพลินจากสิ่งที่เรารักหมดไป
ผู้มีอาการซึมเศร้ามักจะเริ่มสูญเสียความสนใจที่เคยมีให้กับกิจกรรมที่เคยชอบทำ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา
งานอดิเรก หรือแม้แต่การไปเที่ยวกับเพื่อนๆ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณ
ที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงได้ อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
คือความสนใจในเรื่องเพศลดลงอย่างเห็นได้ชัด
อาการของโรคซึมเศร้าจะทำให้ไม่มีความต้องการทางเพศ
หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
3. เริ่มมีปัญหาความเหนื่อยล้าและการนอนหลับ
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้มีอาการนี้หยุดทำสิ่งที่เคยชอบ เป็นเพราะความรู้สึกเหนื่อย
อาการซึมเศร้ามักจะมาพร้อมกับการขาดพลังงาน และความรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างท่วมท้น
ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในอาการที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอที่สุดของภาวะซึมเศร้า
สิ่งนี้อาจนำไปสู่การนอนมากเกินไป
รวมถึงอาการซึมเศร้ายังเชื่อมโยงกับอาการนอนไม่หลับอีกด้วย
4. มีอาการวิตกกังวล
แม้ว่าภาวะซึมเศร้าจะไม่แสดงอาการวิตกกังวล แต่ก็มักจะปรากฏอาการหลายๆอย่าง
ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย อย่างเช่น หงุดหงิด กระสับกระส่าย
หรือรู้สึกตึงเครียด รู้สึกถึงอันตราย ตื่นตระหนก หวาดกลัว
อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หายใจเร็ว
เหงื่อออกเพิ่มขึ้น ตัวสั่นหรือมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ
หรือมีปัญหาในการควบคุมความรู้สึกนึกคิด
5. ความอยากอาหารลดลง / น้ำหนักเพิ่มหรือลดผิดปกติ
ผู้ที่เป็นซึมเศร้ามักจะมีปัญหาในการควบคุมความอยากอาหาร
บางคนจะมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นและตามมาด้วยภาวะน้ำหนักเพิ่ม
ในขณะที่บางคนจะไม่อยากอาหารจนน้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็ว
โดยมีข้อสังเกตว่า การที่น้ำหนักเพิ่มหรือลดอย่างรวดเร็วนั้น
เกิดจาก 'ความตั้งใจ' หรือไม่ เช่นในกรณีของคนที่อยากจะลดหรือเพิ่มน้ำหนัก
ด้วยจุดประสงค์บางอย่าง เทียบกับคนที่เบื่อหรืออยากอาหารแบบหาสาเหตไม่ได้
ก็อาจจะมีความเสี่ยงว่าน่าจะอยู่ในภาวะของโรคซึมเศร้า
หากสงสัยว่าตัวเองและคนไกล้ตัวมีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า
สามารถติดต่อขอเข้าพบจิตแพทย์ได้
หรือขอคำปรึกษาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิต
ที่เบอร์ 1323 นะครับ