หิ้งบูชา ผีแม่หนุ้ย
ผี เป็นปรากฏการณ์เรื่องความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวบ้านที่มีมาช้านาน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากที่เชื่อกัน ดั้งเดิมว่าจิตวิญญาณมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตครั้นเมื่อตายไปวิญญาณเหล่านั้นยังคงอยู่ และสิงสถิตอยู่ตามภพภูมิต่าง ๆ ในธรรมชาติ ผีในความเชื่อนั้นมีทั้งผีดีผีร้าย วันนี้ผู้หญิงชอบเล่นจะมาเล่าประวัติ "ผีแม่หนุ้ย"
ถ้าหากย้อนอดีตไปหลายสิบปีก่อน แทบทุกหมู่บ้านจะมีบ้านใดบ้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ บ้าน ที่จะมี “ หิ้งบูชา ” ตั้งไว้เหนือเตาไฟ หรือก้อนเส้าไฟสำหรับหุงข้าวทำแกง และบนหิ้งนั้น จะมีกระสอบราด ใส่ข้าวสารและไข่ไก่ดิบ ตั้งไว้บูชา
หิ้งเหนือเตาไฟนั่นแหละค่ะ ที่เรียกกันว่า “ หิ้งแม่หนุ้ย ” หรือบางบ้านก็เรียกด้วยอารมณ์สัพยอกว่า “ หิ้งอีหนุ้ย ” ซึ่งแม่หนุ้ยนั้น เชื่อกันว่าเป็น ครูหมอ หรือ จิตวิญญาณ ที่สถิตย์อยู่ที่เตาไฟ ก้อนเส้าไฟ มีคุณช่วยในเรื่องทำกับข้าวกับปลาให้รสโอชายิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในดวงจิตที่คอยดูแลเด็ก ๆ ภายในบ้าน สำหรับแม่หนุ้ยนั้น ยังไม่สามารถสรุปความเชื่อได้ ว่ากำเนิดมาจากอะไร หรือ มีประวัติที่มาอย่างไร บางท่าน ก็สรุปให้ฟังว่า เป็นหนึ่งในคณะครูหมอโนราห์ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานครัว บางท่านก็ว่า เป็นดวงจิตของพวกแม่ครัวรุ่นเก่า ๆ ที่สถิตย์คอยคุ้มครองลูกหลานสืบมา แต่บางท่านก็ให้ความเห็นแตกต่างกันออกไป กล่าวว่าแม่หนุ้ยเป็นเพียงแค่ผีประจำบ้านเรือนธรรมดา ๆ ที่ชอบสิงสู่ในเตาไฟ และ ในซอกประตู ( ภาษาปักษ์ใต้เรียก “ ซองตู ” ) อันมืดทึบ เพื่อไม่ให้ใครเห็นรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวของตน
สำหรับบ้านที่มีหิ้งบูชาแม่หนุ้ย จะเป็นที่ยึดถือกันนักหนา ว่าถ้าหากทำกับข้าวหรือ อาหารอะไรก็ตาม ก็ต้องแบ่งปันส่วนหนึ่งตั้งให้แม่หนุ้ยด้วยเสมอ และถ้าหากเวลารับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม อย่าทัก หรือ ชมขึ้นว่า “ อร่อย ” หรือ “ รสชาดดี ” เด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วคนทักจะเกิดอาการจุกเสียด หรือ หน้ามืดเป็นลมขึ้นกะทันหัน และที่สำคัญสำหรับบ้านที่มีหิ้ง หรือ นับถือแม่หนุ้ย ไม่ว่าจะทำกับข้าว หรือ ขนมหวานชนิดใด ก็ต้องบอกกล่าวแม่หนุ้ยก่อน และ เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องตั้งให้กินด้วยเสมอ มิฉะนั้นแล้ว กับข้าวหรือขนมที่อยู่บนไฟจะเกิด “ ไม่สุก ” จนทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้า ไม่ว่าจะเพิ่มไฟไปเท่าไหร่ ทำอย่างไรก็ไม่สุก จนต้องเททิ้ง หรือ ตั้งหมากพลู ขอขมาลาโทษจึงจะหาย
การเซ่นสรวงบูชาแม่หนุ้ยนั้น ชาวปักษ์ใต้จะนิยมเซ่นเป็น ไข่ไก่ดิบ ใส่ในกระสอบราด ไม่ค่อยนิยมเซ่นสรวงเป็นการเฉพาะ แต่จะเซ่นอีกทีในกรณีที่มีมโนราห์โรงครู ในธรรมเนียมของมโนราห์ฝ่ายบน ( ตั้งแต่ อ.นาบอน จ.นครศรี – จ. สุราษฎร์ธานี ) จะถือกันว่า แม่หนุ้ย และ แม่ทาน เป็นบริวารของ “ เทวดาตะวันตก ” หรือ “ เทียมดาหวันตก ” เทพเจ้าผู้อภิบาลยามราตรี และ เป็นผู้เฝ้าประตูแห่งโลกวิญญาณ การเซ่นไหว้เทวดาตะวันตก แม่หนุ้ย และ แม่ทาน จึงต้องตั้งโรงเฉพาะด้านหน้าโรงมโนราห์ ตั้งเครื่องสังเวยทุกอย่างเหมือนกับบนพาไลโรงครู เพียงแต่ย่อส่วน ย่อขนาดลง เพื่อที่จะให้เทวดาตะวัน ตก พ่อตาทวด ( ทวดเสือ ) แม่หนุ้ย และ แม่ทาน ได้มารับเครื่องเซ่น เพราะถือกันว่า แม่หนุ้ยแม่ทาน บางครั้งก็มีศักดิ์ที่ต่ำกว่าครูหมอโนรา จึงต้องไปกินในที่เฉพาะของตน
ในปัจจุบันการนับถือแม่หนุ้ยนั้นหาได้ยาก เพราะนอกจากกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก และ อิทธิฤทธิ์ที่ชวนให้ปวดหัวของแม่หนุ้ยแล้ว การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ในด้านคตินิยมความเชื่อได้เปลี่ยนแปลงไปมาก บ้านที่มีการนับถือแม่หนุ้ยจึงค่อยๆ ลดน้อยถอยลง ไม่ค่อยปรากฎให้ผู้ใดได้พบเห็นมากนัก