ผู้สูงอายุ ที่แท้จริง อายุเริ่มต้นที่เท่าไหร่?
เห็นข่าวที่เขาเปิดรับสมัครคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำงานเป็นพนักงานจัดเรียงสินค้า ในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เป็นไอเดียที่ดีนะ แต่แอบจี๊ดใจตรงที่บอก อายุเกิน 40 เป็นผู้สูงอายุนี่แหละ ใจร้ายมาก (ฮา) แล้วผู้สูงอายุ อายุเริ่มต้นที่เท่าไหร่ กันแน่นะ
อายุเท่าไหร่ ถึงเรียกว่าเป็น ผู้สูงอายุ
สำหรับในประเทศไทย ได้มีการกำหนดนิยามของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ไว้ใน พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ที่ให้ความหมายไว้ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งกำหนดอายุผู้สูงอายุนั้นยังมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ อาทิ เบี้ยยังชีพ, การลดราคาค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ฯลฯ รวมถึง การกำหนดอายุเกษียณอายุราชการ และการกำหนดนโยบายด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น
ส่องสถิติ ผู้สูงอายุในประเทศไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2566 ระบุว่า มีผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวน 13 ล้านคน คิดเป็น 20.08% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยนั้นเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น การเพิ่มขึ้นของอายุขัยของคนไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุ แต่ในอนาคต หากอายุขัยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจมีการพิจารณาปรับเกณฑ์อายุผู้สูงอายุให้สูงขึ้นตามไปด้วย
แต่ที่แน่ ๆ ผู้สูงอายุไม่ได้สตาร์ทที่เลข 4 นะน้องนะ
อ้างอิงจาก: กรมกิจการผู้สูงอายุ, กระทรวงมหาดไทย