สาขาอาชีพข้าราชการในประเทศไทย ที่ประสบปัญหาหนี้สินมากที่สุด
ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา
ถือเป็นกลุ่มคนที่ถูกจับตามองมาตลอดในเรื่องของ 'หนี้สิน'
เพราะถือเป็นข้าราชการกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด
จำนวนหนี้เมื่อรวมกันแล้วจึงเป็นเม็ดเงินมหาศาล
แต่ความจริงแล้ว ครูเป็นหนี้ 'มากที่สุด' จริงหรือไม่
หรือเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครูเป็นหนี้มากที่สุด คือการกู้เพื่อซื้อสะสมทรัพย์สิน
สร้างฐานะทางสังคม เนื่องจากค่านิยมในสังคมไทยมองว่าครูเป็นผู้มีหน้ามีตา
ต้องมีบ้าน มีรถ เสียหน้าไม่ได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายทางสังคมอื่นๆ
ครูจำนวนไม่น้อยจึงต้องกู้หนี้ยืมสินจากหลายช่องทาง และโปะหนี้ไปมา
จนอยู่ในภาวะหนี้สินเรื้อรังซ้ำซ้อน นอกนั้นเป็นการกู้ทั่วไปเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน
เช่น บุพการีป่วย หรือกู้เพื่อลงทุนทำอาชีพเสริมสร้างรายได้
นอกเหนือจากเหตุผลฐานะทางสังคมแล้ว เพดานการปล่อยกู้
ของธนาคารต่างๆ ที่ขยายเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเดือน
ก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ครูและบุคคลากรทางการศึกษาเป็นหนี้มากขึ้น
โดย 'หนี้ครู' หรือ หนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
เป็นปัญหาที่อยู่ต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นปัญหาเรื้อรัง
เหมือนดินพอกหางหมูที่ทุกรัฐบาลให้ความสนใจ
ปัจจุบัน ครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนราย คิดเป็น 80%
มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด
คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท
คิดเป็น 64% รองลงมา คือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท
คิดเป็น 25% และอีก 11% เป็นของสถาบันการเงินอื่นๆ แบ่งเป็น
ธนาคารกรุงไทย ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท