พอเพียงคืออะไร วาทะกรรมระดับชาติที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น
กระทู้นี้ขอเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์ก็แล้วกัน
จากกรณีที่คุณโน๊ต อุดม แต้พานิช ได้มีการพูดถึงความผิดพลาดที่ตัวเองได้ไปใช้ชีวิตตามแนวทางพอเพียง ซึ่งทำตามกระแสสังคม เพื่อนดารา นักแสดง ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้รู้ว่ามันไม่ใช่แนวทางของตนนั้น จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ส่วนตัวได้ฟังแล้ว ในฐานะของคนที่ลงมือทำตามแนวทางทฤษฎีพอเพียงอย่างจริงจัง สิ่งที่คุณโน๊ตพูดมานั้น ไม่ผิด มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคนที่ไปลงมือทำโดยขาดการไตร่ตรอง ไม่ได้ศึกษาไม่ได้วางแผนให้ดีเสียก่อน ซึ่งตัวดิฉันเองก็เคยเป็นแบบนั้นเช่นกัน
เรื่องของคุณโน๊ตมันทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องของตัวเอง ตอนที่รับรู้เรื่องทฤษฎีพอเพียงใหม่ ๆ ก็ฟังเขามา ฟังครูสอน แล้วสักแต่ทำไม่หาความรู้ก่อนแบบนี้เหมือนกัน เราคิดว่าการประหยัด การเก็บเงิน การเขียนบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้เรารุ้ว่าเราได้เท่าไร ใช้เท่าไร มีเก็บเท่าไร นั่นคือพอเพียงแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เลย
และความผิดพลาดที่ให้บทเรียนกับดิฉันก็เกิดขึ้น จากการซื้อของ ที่คนอ่านแล้วอ่านจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิตดิฉันไปเลย
ตอนเป็นนักเรียนช่วงม.2 ความเริ่มโตเป็นวัยรุ่นมันก็เริ่มมีกลิ่นตัวชัดขึ้น ดิฉันเลยต้องซื้อน้ำหอมมาดับกลิ่นตัว หลังเลิกเรียนดิฉันจะต้องซื้อน้ำหอมในร้านสะดวกซื้อมาใช้ทุกวัน วันไหนไปโรงเรียนคือต้องซื้อ พอปิดเทอมดิฉันก็มานับจำนวนขวดที่เก็บไว้ เพราะมันมีรูปศิลปินที่ดิฉันชอบติดอยู่เลยเก็บสะสม ได้ทั้งหมด 200 กว่าขวด คุณขา มันทำให้ดิฉันตกใจมากเมื่อเอามาคำนวนเล่น ๆ 200 ขวด คูณด้วยราคา สิริรวมแล้วที่ดิฉันจ่ายไปนั่นน่ะ 6000 กว่าบาท เพราะมันของแบรนด์อื่นที่ราคาแพงกว่ากัน 10 20 บาทอยู่ด้วย ซึ่งก็นั่นแหละค่ะ เราเข้าใจว่าการซื้อของถูกคือพอเพียง แต่พอตอนที่ดิฉันโตมากว่าตอนนั้นขึ้นมานิดหน่อย ได้มาศึกษาทฤษฎีพอเพียงจริง ๆ จัง ๆ เพราะจะเอามาใช้เป็นการเป็นงาน มันทำให้ดิฉันรู้ตัวว่า ที่ดิฉันเข้าใจตอนนั้นน่ะ มันผิดมาก ๆ การซื้อน้ำหอมราคา 30 บาททุกวันของดิฉันมันไม่ใช่ความพอเพียงเลย การซื้อของตามทฤษฎีพอเพียงนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าราคาถูก ราคาแพง แต่มันอยู่ที่ความคุ้มค่า จ่ายเงินซื้อมาเราใช้ได้จริงไหม ระยะเวลาการใช้งานอยู่ได้นานไหม เราจ่ายออกไปยังมีเหลืออยู่ไหม นั่นคือความคุ้มค่า เงิน 6000 กว่าบาทนั้น ดิฉันสามารถซื้อน้ำหอมแบรนด์เนมขนาด 100ml ใช้ได้เลย และมันคุ้มค่ากว่ามากเมื่อนำเทียบกับน้ำหอมแบรนด์ซึ่งหอมติดทนกว่า ทำให้ไม่ต้องฉีดบ่อย ๆ ระยะเวลาในการใช้งานจึงสามารถใช้ได้นานกว่าเป็นปี ครึ่งปีเลย เมื่อเทียบกับที่ซื้อในร้านสะดวกซื้อที่ดิฉันต้องคอยฉีดอยู่บ่อย ๆ เพราะกลิ่นจางไวมากทำให้หมดเร็ว ยิ่งวันไหนต้องออกแดด ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซื้อวันนั้นก็ฉีดหมดวันนั้นเลย แล้วพอยิ่งรวมกลับกลิ่นตัวมันเลยทำให้กลิ่นเพี้ยน ไม่หอม แถมเหม็นด้วย ดิฉันเสียเงินไป 30 บาท เพราะเห็นแก่ว่าราคาถูกและศิลปินที่ตัวเองชอบเป็นพรีเซ็นเตอร์ มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย
ซึ่งมันก็อาจไม่ใช่ความผิดของผลิตภัณฑ์ เพียงแต่มันไม่เข้ากับตัวดิฉันเอง และดิฉันเห็นแก่ว่าราคามันถูก ไม่ได้พิจารณาอย่างอื่นเลย ทำให้จากที่ประหยัด กลับกลายเป็นสิ้นเปลืองและกลายเป็นเสียเงินอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งนั่นมันก็ทำให้ดิฉันคิดได้และเข้าใจคำว่าพอเพียงขึ้นมาในระดับหนึ่ง ความพอเพียงอย่างง่าย ๆ ระดับเริ่มต้น คือการมองที่จุดประสงค์ของการกระทำและความคุ้มค่าที่เราจะได้รับ ถ้าตอนนั้นดิฉันแบ่งเงินตรงนี้มาเก็บแล้วเอาไปซื้อน้ำหอมแบรนด์ อาจจะไม่ได้ซื้อทีเดียวขนาด 6000 กว่าบาท เพราะมันเกินกำลังตัวเอง อาจจะซื้อขนาดย่อมลงมา หรือซื้อแบรนด์ไทยที่ราคาถูกลงมากว่านั้นหน่อย แต่คุณภาพเหมือนกัน ติดทนเหมือนกัน ไม่ต้องเสียเงินเยอะ ไม่ต้องซื้อบ่อย ๆ ถี่ ๆ นี่จึงจะเรียกว่าคุ้มค่า จึงจะเรียกว่า พอเพียง
ถ้าพูดถึงคำว่า "พอเพียง" "ทฤษฎีพอเพียง" คนส่วนมากมักจะนึกถึงภาพชีวิตต่างจังหวัด การเกษตร ปศุสัตว์ การประหยัดอดออม ปลูกผักเลี้ยงสัตว์กินเอง หรือกินแต่ไข่ต้ม ไม่กินหรู ไม่อยู่สบาย ไม่ซื้อแบรนด์เนม ซึ่งมันผิด
ขอพูดเรื่องนี้ก่อน เราคนเมือง คนกรุงเทพ ชานเมือง ที่มีวิถีชีวิตแบบคนเมือง ส่วนใหญ่มีภาพจำผิด ๆ เกี่ยวกับคนต่างจังหวัด ว่าต้องเป็นชาวนา ชาวสวน ปลูกผัก เลี้ยงหมู วัว ควาย ปลา เป็ด ไก่ กันทั้งหมด ซึ่งมันไม่ใช่ คนต่างจังหวัดที่เขาทำอาชีพอื่น ๆ ก็มี ตั้งแต่ค้าขาย รับจ้าง แรงงาน จนข้าราชการ ทหาร ตำรวจในท้องที่ ซึ่งเขาเหล่านี้ไม่มีเวลามาปลูกผักเลี้ยงสัตว์หรอกค่ะ หิวเขาก็ต้องซื้อกิน ไม่ได้เดินไปหยิบเอาจากสวนข้างบ้านอย่างที่เรา ๆ เข้าใจ ยิ่งในยุคสมัยนี้ความเจริญในต่างจังหวัดก็ไม่ได้น้อยหน้าเมืองกรุง ส่วนใหญ่เขาก็ไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว วิถีชีวิตเขาก็ไม่ได้ต่างจากคนกรุงอย่างเรา ๆ แล้ว มีแต่คนกรุงนี่แหละที่ภาพจำไม่พัฒนาไปไหนเลย ยังติดภาพจำผิด ๆ กันอยู่เลยว่าชีวิตคนต่างจังหวัด ไปอยู่ต่างจังหวัด ต้องทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ แล้วเพ้อพกกันไปเองว่านั่น คือการใช้ชีวิตแบบพอเพียง กว่าจะรู้ว่ามันไม่ใช่ มันก็เจ๊งยับไปแล้วไง
อ้าว! ถ้าพูดแบบนี้ แล้วพอเพียงจริง ๆ มันคืออะไรกันล่ะ
จากประสบการณ์ของตัวดิฉันเอง แนวทางทฤษฎีพอเพียงจริง ๆ เป็นเรื่องของการวางแผนการบริหารความสมดุลของการใช้ชีวิต ในสถานะการณ์ต่าง ๆ อย่างมีสติ โดยมีรูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นหลัก
ถ้าจะให้สำเร็จจริง ๆ เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ก็อย่างที่เขาบอกว่า ให้ประมาณตนเอง แล้วคนบางจำพวกก็ไปตีความด้อยค่ากันผิด ๆ ว่า ประมาณตนเอง คือการทับถม เหยียดหยาม คือการกดขี่บังคับให้เราจนอยู่อย่างนั้น ห้ามพัฒนา ห้ามรวย หรือคนบางจำพวกก็เอาไปเขียนด้วยความเบาปัญญาว่ากินแต่ไข่ต้ม ไม่ต้องหรูหรา ก็มีความสุขได้ ไม่ใช่เลย ประมาณตนคือการรู้จักตัวเอง ไม่ใช่แค่รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แต่ต้องรู้ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต วิถีชีวิต สังคมรอบตัว กำลังของเรา ต้นทุนทุก ๆ ด้านที่เรามี เมื่อเรารู้จักตัวเอง เห็นถึงกำลังของตัวเอง มันจะทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำ มันควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ควรเริ่มจากตรงไหน ควรเพิ่ม ปรับลด หรือระวังอะไรตรงไหน
สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลย มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ทำทุกอย่างด้วยความพอดี มีสติ เราต้องตื่นรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ขอบเขตความพอดีของเรา ณ ตอนนี้อยู่ตรงไหน ที่เรากำลังทำอยู่มันพอดีกับความสามารถของเราไหม เกินกำลังต้นทุนของตัวเองไหม ถ้าไม่ก็ไปต่อได้เลย แต่ถ้ามันเกินกำลัง ก็ทำอย่างเดิมรอเวลาไปซักพักนึงก่อน ให้ตัวเองพร้อมเสียก่อนแล้วค่อยไปต่อ เราต้องมีสติยั้งคิดก่อนทำ ค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาไปข้างหน้า ถึงมันจะช้า แต่ดีกว่าไม่ขยับไปไหนเลย หรือพรวดแล้วพลาดแหกโค้งเจ๊งยับ ค่อย ๆ ไปอย่างมีสติ เพราะเราไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้ามันจะเกิดอะไรอีกบ้าง เหมือนที่ดาราตลกท่านนึงเคยพูดว่าเขาทำธุรกิจสื่อแบบก้าวกระโดด เติบโตเร็วเกินไป แล้วดันโตเร็วในวันที่เทคโนโลยีมันกำลังมาแทนที่สื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ คลื่นลูกใหม่มา มันก็ซัดคลื่นลูกเก่าไป แต่เขาไม่ได้สนใจ ก็ยังเดินหน้าต่อเพราะทำไปแล้ว สุดท้ายก็เจ๊งยับ เข้าเนื้อเป็นหนี้
หรือการทำอะไรโดยไม่รู้จักตัวเอง ไม่ประมาณตัวเอง ตัวเองเกิดและโตในเมืองกรุง มีวิถีชีวิตแบบคนกรุง แต่ดันทะลึ่งอยากไปใช้ชีวิตแบบคนต่างจังหวัดตามคนอื่น แถมยังไปแบบเข้าใจผิด ๆ ไปแบบไม่มีความรู้ ไม่มีการวางแผนอะไรไปเลย มันก็จะเป็นแบบที่คุณโน๊ตพูด ฉะนั้นอะค่ะ ค่อย ๆ ไปอย่างมีสติ ช้า แต่ดีกว่าไม่เดินไปไหนเลย หรือเร็วแล้วคุมไม่อยู่ สุดท้ายแหกโค้ง มันมีแต่เจ็บตัว
วิธีการและแนวทางในการใช้ชีวิตแบบพอเพียงเป็นแบบไหน
จากประสบการณ์ของดิฉัน บอกเลยว่า ไม่มี ข้อดีขอทฤษฎีพอเพียงคือมันไม่มีวิธีการตายตัว วิธีการมันขึ้นอยู่กับเราทั้งหมด อย่างที่บอกค่ะ เราต้องประมาณตน คือรู้จักตัวเอง รู้จักการใช้ชีวิต สังคมที่เราอยู่ ความรู้ ความสนใจ ความสามารถที่เรามี อาชีพที่เราทำ รายได้ของเรา ทุกอย่างเป็นปัจจัยตัวแปรในการวางแผนทั้งหมด ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน
หัวใจหลักของพอเพียงมันมีแค่ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภมาก แปลความหมายง่าย ๆ ว่า พอดี ทำแต่พอดี และการพึ่งพาตนเอง จับจุดเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี ทำในสิ่งที่เราทำได้ แค่นั้นเลย ที่เหลือเราต้องไปทำความรู้จักตัวเองว่า ณ ขณะนั้นเรามีองค์ประกอบ มีปัจจัยตัวแปรอะไรในชีวิตบ้าง แล้วเอามันมาวางแผน
ยกตัวอย่างเป็นเรื่องดิฉันเอง ดิฉันขอเรียกมันมันว่า ทฤษฎีพอเพียงฉบับฟุ่มเฟือย เพราะตัวดิฉันเป็นเด็กชานเมือง เกิดและโตที่รังสิต วิถีชีวิตก็คือคนกรุง หิวซื้อกิน เป็นผู้บริโภค ไม่สามารถผลิตเองได้ เหมือนกับคนกรุงคนอื่น ๆ อาชีพที่ดิฉันทำก็อยู่กับสิ่งของฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ใช้แล้วหมดไป แถมราคาก็ไม่ใช่เบา ๆ ด้วย
เกริ่นก่อนว่าที่ดิฉันได้มาทำ ได้มาศึกษาทฤษฎีพอเพียงเนี่ย เพราะเหตุการณ์น้ำท่วม 54 มันสร้างความเสียหายให้กับดิฉัน ข้าวของที่ดิฉันซื้อไว้ลงทุนค้าขายเพื่อจะเอาเงินไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย มันไปกับอีน้องน้ำหมด ปีการศึกษา 55 1 ปีเต็มที่ดิฉันได้กลิ่นแล้วว่า จบม.6 ไม่ได้ไปเรียนต่อแน่ ๆ เพราะที่บ้านไม่มีเงิน ส่งไม่ไหวแน่นอน
ซึ่งมันก็จริง ๆ พอจบม.6 มาไม่กี่วัน ดิฉันก็ยุติการเรียนต่อก่อนเพราะการเงินไม่พร้อมจริง ๆ ภายในปี 56 ดิฉันตั้งใจแล้วว่า เราต้องหาเงินเรียนให้ได้ เราต้องหาอาชีพเสริมจากอาชีพหลักที่เป็นนักแสดงโขน ซึ่งเป็นรายได้ทางเดียว รายได้มันดีแหละ แต่มันนาน ๆ มาที ใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้เงินก้อน แล้วก็มีคุณครูยุด้วยว่า เออ แกปักผ้าเป็นหนิ ปักขายสิ เงินดีนะ ดีกว่ามาปักเอาเบี้ยเลี้ยงแค่ไม่กี่บาท คือก่อนหน้านี้อะค่ะ ดิฉันก็รับจ้างทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก รายได้มันดีมากนะ แต่ความกดดัน ความประสาทแดกมันทำให้ดิฉันทนไม่ไหมจริง ๆ จนไปเจองานนึงเข้ามันทำให้ดิฉันรู้สึกประสาทแดก จิตตก มันเหมือนเราเอาชีวิต สุขภาพจิต ไปสังเวยให้ลูกค้าปัญญาอ่อนที่ไม่มีความรู้ สั่งงานมั่ว ๆ พูดชุ่ย ๆ เพื่อแลกกับเงิน เลยเลิกทำไป แล้วก็ไปพูดเกริ่น ๆ กับทีมนักแสดงของตัวเองว่าเนี่ย ใครมีงานอะไรก็เรียกก็จ้างได้นะ กำลังหาเงินเรียนมหา'ลัย ครูเลยยุให้มาทำงานช่างสนะ ปักสะดึง ทำเครื่องพัสตราภรณ์สำหรับการแสดงขายสิ แต่ตอนนั้นดิฉันแค่ทำใช้ในบ้านไม่เคยทำขาย ไม่มีตลาด ทำเป็นแค่ปักเดินลายถมดิ้น เงินก็ไม่ได้มีเยอะ ค่าตัวที่ได้มาก็แค่อยู่แค่กิน ไหนต้องแบ่งไว้ซื้อเครื่องสำอางค์อีก เรียกไม่มีต้นทุนอะไรเลย ทั้งความรู้และเงิน แล้วงานเย็บปักก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ชอบเอามาก ๆ ด้วย ถึงขั้นจบวิชาการงานอาชีพดิฉันได้ประกาศหน้าห้องคหกรรมเลยว่า กูจะไม่จับเข็มด้ายอีกตลอดชีวิต
แต่ถามว่าสนใจไหม ก็สนใจแหละ อย่างแรกมันตอบโจทย์เรื่องที่เราอยากทำงานอยู่กับบ้าน ไม่อยากออกไปตะลอนข้างนอก มันจะได้ประหยัดค่าเดินทางค่ากินค่าอยู่ แล้วจะได้มีเวลาอ่านหนังสือ เตรียมตัวไปสอบตรงเข้ามหา'ลัยใหม่ด้วย อีกอย่างเงินมันดีจริง ตรงนี้แหละที่ทำให้ดิฉันเริ่มวางแผนอย่างจริงจัง ไปดูตลาดทั้งตลาดวัตถุดิบ ตลาดที่จะขาย ดูว่าเขาขายเขาคิดราคาอะไรกันยังไง ลูกค้านิยมแนวไหน ในท้องตลาดแนวไหนขายไวสุด ไปศึกษาหาความรู้งานปักสะดึงกรึงไหมในพิพิธภัณฑ์จนมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่ ณ ตอนนั้นมันติดขัดอยู่ที่เรื่องเงินเรื่องเดียว เรามีเงินจากค่าตัวที่ไปแสดงนะ แต่ เงินก้อนนี้ก็ต้องกินต้องใช้ ต้องซื้อของสำหรับแสดงอีกจิปาถะ ถ้าเอามาลงทุนใหม่ เราจะเอาเงินที่ไหน เพราะเราก็รู้ว่าอุปกรณ์ในการทำงานพัสตราภรณ์ราคามันค่อนข้างสูง
เดชะบุญ ตอนนั้นเปิดยูทูปดูนั่นดูนี่อยู่ มันก็มีโฆษณาเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานของ สสส. เด้งขึ้นมา ดิฉันก็นั่งดูเรื่องของนายดำ นายแดง ชาวสวนที่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวกับการเกษตรแบบผสมผสาน เขาก็เปรียบเทียบให้เห็นว่าแบบผสมผสานเขามีการแบ่งพื้นที่ที่มีอยู่อย่าวจำกัดตามความเหมาะสม และให้เป็นประโยชน์ที่สุด เน้นพึ่งพาตัวเองจากในรั้วบ้าน มันทำให้ความเสี่ยงที่จะเจ๊งยับลดลง ในขณะที่เชิงเดี่ยว ไม่สามารถพึ่งพาอะไรตัวเองได้เลย พอเกิดอะไรขึ้นก็เจ๊งยับ ดิฉันเลยนึกเอะใจ เลยเปิดเน็ต เปิดหนังสือหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีพอเพียง การทำเกษตรผสมผสานเดี๋ยวนั้นเลย เรียกว่าทิ้งของเก่าที่เรียนมา ที่ครูกรอกหูมา ทิ้งสมุดบันทึกรายรับรายจ่ายไปก่อนเลย แล้วเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ ก็ถึงกับ อ๋อ ที่เราเรียนมา มันผิดหมดเลย
ที่เราเรียนมานั้นมันตื้นเขินมาก แค่ประหยัดอดออม เก็บเงิน จดรายรับรายจ่ายมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันไม่ใช่แนวทางของทฤษฎีพอเพียงเลย การจะทำตามทฤษฎีพอเพียงได้นั้น
- สิ่งแรกเราต้องมีจุดมุ่งหมายก่อนว่าเราจะทำไปทำไม แม้แต่การประหยัด การเก็บเงินอะค่ะก็ต้องมีจุดหมาย ไม่ใช่สักแต่ทำ อันนั้นมันเป็นความโลภอย่างสุดโต่ง ผิดแนวทางทฤษฎีพอเพียงไปอีก
- อย่างที่สอง เราต้องประมาณตัว รู้จักตัวเอง เรามีกำลังมากน้อยแค่ไหน มีปัจจัยอะไรที่มันเอื้อแก่เราบ้าง ถ้าเปอร์เซ็นมันเกิน 50 ขึ้นไป ถึงลงมือวางแผน แต่ถ้าไม่ เราต้องเบนไปทางอื่น ไม่ใช่ดื้อที่จะทำ มันจะเจ๊งยับ
- อย่างที่สาม การวางแผนการเงิน ไม่ใช่แค่การจดรายรับรายจ่าย ไม่ใช่แค่การออมเงินส่ง ๆ มันต้องมีจุดประสงค์ มีเป้าหมายก่อน เราออมทำไม จะต้องออมเท่าไร ต้องแบ่งเงินเป็นสัดส่วน ไม่ใช่สักแต่ทำ สาระภาพว่าเอาวิธีนี้มาจากการทำเกษตรผสมผสาน การแบ่งพื้นที่นี่นี่แหละค่ะ เราไม่มีที่ เรามีแต่เงินค่าจ้าง ก็เอามาใช้กับการแบ่งเงินนี่แหละ 5555555
อย่างแรก เอาเงินที่เรามีมาแบ่งครึ่ง เป็นเงินจ่าย อีกส่วนเป็นเงินเก็บ ทีนี้เราก็จะเห็นแล้วว่าเรามีใช้เท่าไร มีเก็บเท่าไร พอได้แล้ว เราก็ต้องเอามาแบ่งสัดส่วนย่อยลงไปอีกว่าเงินจ่ายนั้นเราต้องจ่ายอะไรบ้าง ส่วนเงินเก็บเนี่ย ที่ดิฉันทำ ดิฉันไม่ได้เก็บอย่างเดียว ครึ่งนึงดิฉันให้มันนอนเฉย ๆ ไปเลย อีกส่วน ดิฉันเอาไปทำทุน ได้กำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เอามากินก็เก็บเพิ่มเป็นทุนสำรอง
พอเราทำแบบนี้อะค่ะมันจะเห็นเลยว่า เรามีทุนรอน มีเงินที่เป็นเงินใช้จ่ายพอไหมในการใช้ชีวิต ซึ่งก้อนแรกของดิฉันก็ไท่ได้เยอะเลย ค่าตัวแค่ 8000 บาทเอง
แต่ถ้าใครทำแล้ว และเห็นว่า เงินจ่ายออกยังไม่พอจ่ายเลย เงินเก็บไม่ต้องพูดถึง สิ่งที่ต้องทำคือ หาเพิ่มค่ะ ดิฉันวางแผนเนี่ยก็เพื่อให้รู้ว่าเรามีกำลังเท่าไร เราจะได้หาเพิ่มถูก แต่ใครจะไปทำอะไรยังไงนั้น ดิฉันก็ไปแนะนำให้ไม่ได้ เราต้องรู้จักตัวเอง แล้วทำในสิ่งที่เราทำได้อย่างที่ดิฉันบอก เพราะ ณ ตอนนั้น ถ้าใครมาบอกให้ดิฉันไปขายของในตลาดสิ ไปนัดสิ ทำกับข้าวเป็นทำขายเลยสิ ดิฉันก็ไม่เอาเหมือนกัน อย่างแรกทุนมีไม่ถึง อย่างที่สองดิฉันอยากทำงานอยู่บ้าน เพราะต้องอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบให้พร้อมด้วย
นอกจากที่มันจะทำให้ดิฉันเห็นกำลังของตัวเอง เห็นทุนของตัวเองที่จะเอาไปสร้างอาชีพใหม่ มันยังเปลี่ยนเรื่องการใช้เงินของดิฉันด้วย อย่างที่บอกค่ะ ดิฉันเป็นนักแสดง ชีวิตอยู่กับของฟุ่มเฟือยทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเครื่องสำอางค์ ชุดที่ใส่ เครื่องประดับต่าง ๆ มีแต่ราคาสูง ๆ และใช้แล้วก็หมดไป พังไป เอาไปทำอะไรไม่ได้นอกจากทิ้งแล้วซื้อใหม่ เครื่องประดับซ่อมทีก็ไม่ใช่ถูก ๆ พอดิฉันได้มาศึกษาทฤษฎีพอเพียงจริง ๆ มันทำให้ดิฉันเปลี่ยนตรงนี้ไปด้วย มันทำให้ดิฉันวางแผนคำนวนเป็นว่าต้องใช้อะไร ซื้อเท่าไร จากที่เคยเก็บเงินทีเดียว จ่ายทีเดียวหมด ก็เปลี่ยนมาเป็นคำนวนว่าเครื่องสำอางค์เท่าไร เครื่องประดับเท่าไร ผ้านุ่งผ้าห่มเท่าไร เราต้องใช้อะไร ก็ดูรีวิวจากบิ้วตี้บล็อกเกอร์แล้วค่อยไปซื้อ ตรงเนี้ย จากที่เคยซื้อเพ้อ ๆ อะไรออกใหม่ก็ซื้อ มันก็เปลี่ยนมาเป็นการลงทุน อะไรที่เราใช้ได้ ราคาเท่าไร นี่นคือต้นทุน เราต้องลงทุนเท่าไร ก็หักค่าตัวแบ่งเงินมาไว้สำหรับลงทุนตรงนี้ ซึ่งแต่ละครั้งที่หักจากค่าตัวมาเก็บในส่วนนี้ไม่ได้มากมายอะไร 100 200 ตามกำลังที่มีในตอนนั้น พอถึงปีก็เอาเงินส่วนนี้ไปซื้อ บางทีหักค่าตัวเก็บในส่วนนี้ไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ครึ่งปีแรกก็ได้ทุนค่าเครื่องสำอางค์ ค่าเครื่องประดับคืนแล้ว เงินที่เหลือหลังจากนี้คือกำไรของส่วนนี้แล้ว ก็เอาไปกินไปใช้บ้าง แบ่งเอาไปลงทุนทำอย่างอื่นให้มันได้ดอกผลมาบ้าง
และอีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันได้จากทฤษฎีพอเพียงคือ ความมั่นใจ พระราชดำรัสหนึ่งซึ่งดิฉันจำเนื้อความไม่ได้แล้ว แต่ในหลวงพูดเกี่ยวกับการทำตามทฤษฎีพอเพียงนี้เอาไว้ประมาณว่า เราไม่จำเป็นต้องไปเอาอย่างใคร ทำในแบบของเรา ตอนแรก ๆ ที่คิดจะทำนะ ดิฉันก็ไขว้เขวเหมือนกันนะ ไม่รู้ว่าตัวเองทำถูกไหม เพราะด้วยอาชีพนักแสดง ยิ่งเป็นการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย มันถูกคนค่อนแคะอยู่บ่อย ๆ และของเหล่านี้มันเป็นของสิ้นเปลืองด้วย มันฟังดูไม่เข้าแนวเข้าหรอบกับคำว่า พอเพียง เลยสักนิด แต่พอได้มาเห็นพระราชดำรัสนี้ มันทำให้ดิฉันมั่นใจที่จะทำต่อและทำจนสำเร็จ ถึงมันจะไม่เหมือนใคร แต่นี่คือทางของดิฉัน สิ่งที่ดิฉันเป็น และมันสามารถสร้างรายได้สร้างอนาคตให้กับดิฉันได้ ก็หาต้องแคร์ปากใครไม่
เรื่องเนี้ย ดิฉันได้เคยเห็นจากคนอื่นอยู่สองกรณี ดิฉันดูข่าวดูรายการในทีวีนี่แหละ รายแรกเป็นเจ้าของบ่อปลา ก่อนหน้านี้ขายปลานิลพันธุ์พระราชทาน แต่มันขายไม่ดี ถูกกดราคา เขาก็เปลี่ยนมาขายพันธุ์อื่น ที่นี้กลับขายดี อีกรายเป็นนักศึกษาสาว จำไม่ได้แล้วว่ามันเป็นอาชีพเดิมของครอบครัวเขาหรือย่างไร ก่อนหน้านี้เขาปลูกแต่ข้าวหอมมะลิ แต่เธอได้เปลี่ยนมาปลูกข้าวสายพันธุ์อื่น แล้วทำแบรนดฺ์ของตัวเองออกมาจนขายดิบขายดี เนี่ยค่ะ เราต้องคิดต่าง คิดให้เป็น ต้องรู้ก่อนว่าเราทำอะไรได้ ไม่ต้องไปทำตามใคร มันถึงจะประสบความสำเร็จ
และถ้าจะให้ดิฉันยกตัวอย่างความพอเพียงในรูปแบบชีวิตคนกรุง คนบันเทิง แม่อั้มค่ะ แม่อั้ม พัชราภานี่แหละค่ะ หลายคนคงเคยดูคลิปสัมภาษณ์หนึ่งของแม่อั้มที่มีนักข่าวถามว่า เดี๋ยวนี้มีนักแสดงเกิดใหม่ เขาขึ้นค่าตัวนู่นนั่นนี่ แม่อั้มไม่คิดจะขึ้นค่าตัวบ้างเหรอ แล้วแม่อั้มก็ตอบมาว่า ไม่ขึ้น ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร เขาไม่ได้ลำบากอะไร ทุกวันนี้ก็รับงานแต่กับคนรู้จัก เลยเรียกค่าแบบตัวเองอยู่ได้ คนอื่นอยู่ได้ หักค่านู่นค่านี่ที่มาออกงานแล้วมีเงินเหลือก็พอใจแล้ว เนี่ยค่ะ ตัวอย่างของการรู้จักประมาณตน รู้กำลังตัวเอง ทำแต่พอดี ไม่เกินกำลัง และไม่หย่อนจนเดือดร้อนตัวเอง ถ้าคุณเป็นคนบันเทิง แล้วยังมีภาระอยู่คุณก็แค่ทำไปหาไป แต่ถ้าไม่มีภาระอะไรแล้ว ชีวินี้ไม่ต้องดิ้นรนอะไรแล้ว และคุณไม่ได้มีความชอบอะไรนอกเหนือจากนี้เป็นพิเศษ คุณก็แค่ทำงานตรงนี้ไปนี่แหละ ทำแต่พอดี เอาแค่ไม่เข้าเนื้อตัวเอง มันก็เรียกว่าพอเพียงแล้ว มันไม่จำเป็นเลยว่าคุณจะต้องไปซื้อที่อยู่ต่างจังหวัดแล้วไปทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ไปทำในสิ่งที่คุณไม่เคยทำ ไม่มีความรู้ แถมไม่ชอบ ไม่ใช่วิถีชีวิตของคุณ มันไม่จำเป็นเลย มันเกินกำลังความสามารถของตัวเองมันไม่ได้เรียกว่าพอเพียงด้วย แถมเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุ
ไหน ๆ ก็พูดแล้ว ดิฉันขอให้ตัวอย่างความไม่พอดี ไม่พอเพียงของดิฉันไว้อีกเรื่องนึง นอกจากเรื่องบ้าซื้อน้ำหอมแล้ว ดิฉันเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ช่วงม.3 ดิฉันเคยอดข้าวเพื่อเก็บเงินไปซื้อหนังสือ แล้วดิฉันก็ทำแบบนั้นมาเรื่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย ตอนเก็บก็ตะบี้ตะบันเก็บ ตอนจ่ายก็จ่ายออกทีเดียวหมดไม่เหลือเก็บเลย มันเลยเดือดร้อนตัวเองทั้งตอนเก็บและหลังจ่าย มันเป็นอีกชนวนเหตุนึงที่ทำให้ดิฉันต้องบ่ายหน้ามาศึกษาทฤษฎีพอเพียงอย่างจริง ๆ จัง ๆ นี่แหละค่ะ มันถึงทำให้ดิฉันได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันผิด และสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดกรอกหูเราว่าให้ประหยัดอดออมนะ เก็บเงินนะ มันไม่ถูกต้องเลย เก็บอย่างเดียว เก็บแบบไร้จุดหมาย มันมีแต่รอเวลาหมดไป เราต้องแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วน เงินกิน เงินเก็บ เงินเก็บนี่ก็อย่าสักแต่เก็บอย่างเดียว เอาเงินตรงนั้นมาหมุนให้เกิดดอกออกผล เราถึงจะมีเงินเก็บจริง ๆ และพอจ่ายออกไปแล้วเงินมันจะไม่หมดไป
มีลูกมีหลาน อย่าสอนลูกสอนหลานให้สักแต่เก็บเงิน แต่ต้องสอนเขาให้รู้จักหาเงินต่อดอกออกผลนะคะ
ย้ำตรงนี้อีกทีว่า ทฤษฎีพอเพียง ไม่ใช่เรื่องของการประหยัดอดออม ไม่ใช่เรื่องของการปลูกผักปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์กินเอง แต่มันเป็นเรื่องของการวางแผนการบริหารความสมดุลของชีวิต ในสถานะการณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบของตัวเอง ใครที่ยังคิดว่าพอเพียงคือการไปอยู่ต่างจังหวัด ไปปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์กินเอง บอกเลย เจ๊งยับแน่นอน