รีวิวหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม
สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ประวัติของเขาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แค่ชื่อปกหนังสือก็กระตุกจิต กระชากใจขึ้นมาแล้ว คุณสุพจน์เริ่มต้นธุรกิจมาถึงจุดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เดิมทีเป็นคนที่ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยอะไร แค่ค้าขายขนมหวานธรรมดา แต่ก็เป็นแบบอย่างในการบริหารธุรกิจอยู่ลึกๆ
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เรียบเรียงออกมาให้อ่านง่าย ด้วยความที่คุ้นเคยกับคุณสุพจน์ด้วย ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยกัน ก็ทำให้การเขียนเนื้อหาทำออกมาได้อย่างเจาะลึก
ความรู้ความประทับใจที่ได้ภายในเล่ม
- ได้เรียนรู้ว่าเบียร์สด คือเบียร์ที่ผ่านการต้ม หมักและบ่มด้วยยีสต์ โดยไม่ผ่านการะบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ทำให้ได้รสชาติเบียร์สดที่อร่อยหอมมันกว่า แต่อายุสั้น ทิ้งไว้ให้โดนอากาศไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็บูดเสียได้แล้ว ส่วนเบียร์ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์จะทำให้ยีสต์ตาย มันถึงเก็บได้นานเป็นปี แต่รสชาติสู้เบียน์สดไม่ได้ เช่น เบียร์ขวด เบียร์กระป๋อง จนถึงเบียร์สดที่ขายตามเบียร์การ์เด้นต่างๆ
- ได้เรียนรู้ว่าที่บ้านทำธุรกิจซื้อผ้าเงินสด ขายเสื้อเป็นเงินเชื่อ ด้วยเหตุผลว่าซื้อผ้าเงินสดได้ลด 4% แทนที่จะได้เครดิต 3 เดือน แต่เวลาขายเสื้อ ถ้าเก็บเงินสดจะโดนหัก 2% จึงยอมให้เครดิต พอไม่เอาเงินสดตั้งแต่แรก สุดท้ายจึงโดนโกง บทเรียนครั้งนั้นทำให้คุณสุพจน์ไม่ชอบทำธุรกิจกับพ่อค้าคนกลาง ไม่เชื่อการทำธุรกิจแบบรายจ่ายเป็นเงินสด รายรับเป็นเครดิต เขาเชื่อมั่นในธุรกิจเก็บเงินสดที่มีความเสี่ยงต่ำ ธุรกิจโรงเบียร์คือธุรกิจเก็บเงินสดในเวลาต่อมา
- ได้เรียนรู้ว่าสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2526-2527 โดยประมาณ) ได้ประกาศจำกัดเพดานสินเชื่อ 18% หมายความว่าธนาคารแต่ละแห่งปล่อยกู้เพิ่มได้ไม่เกิน 18% ของยอดสินเชื่อที่ปล่อยเมื่อปีที่แล้ว เช่น ปีที่แล้วธนาคารปล่อยสินเชื่อ 100 ล้านบาท ปีนี้ก็ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 118 ล้านบาท นั่นทำให้ร้านค้าในโบ๊เบ๊ล้มไปกว่าครึ่ง จากการที่ธนาคารงดปล่อยสินเชื่อ คุณสุพจน์ต้องแก้ปัญหาการส่งเสื้อไปยังตลาดต่างจังหวัดเพิ่มเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด
- ได้เรียนรู้ว่าก่อนเริ่มต้นธุรกิจโรงเบียร์ โจทย์ข้อแรกที่สำคัญที่สุด หากหาคำตอบไม่ได้ คงทำไม่สำเร็จ คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ที่ไหน ??? ทั้งนี้ค่าเช่าที่ก็ต้องไม่แพงจนเกินไป เส้นทางบนถนนต้องมีทางเชื่อมออกตัวเมืองได้ เป็นต้น
- ได้เรียนรู้ว่าโจทย์การซื้อเครื่องจักรต้มเบียร์เพื่อมาทำ Microbrewery ในฐานะผู้ประกอบการที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ข้อมูลในไทยก็มีน้อยมาก จึงต้องเดินทางไปประเทศเยอรมนี แดนสวรรค์ของคนทำเบียร์ ด้วยเทศกาลเบียร์ระดับโลก มีผู้ผลิตเบียร์มาออกบูธจำนวนมาก การได้นัดไปคุยกับบริษัทต่างๆกับผู้ผลิตเครื่องจักร ทำให้ต้นปี 2542 ก็ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อเครื่องจักรสำเร็จ
- ได้เรียนรู้ว่า Reinheitsgebot (German Beer Purity Law) เป็นกฎหมายที่ระบุว่าเบียร์ที่ผลิตในเยอรมนีจะต้องใช้องค์ประกอบหลัก 4 อย่างเท่านั้น คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ น้ำ
ทั้งหมดนี้ยังมีรายละเอียดอีกมากในการจัดการโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงให้ออกมาสมบูรณ์พร้อมให้บริการ คุณภาพ ต้นทุนที่ควบคุม การบริหารคนในทีม จัดการกับลูกค้าที่เมามาย มันมีสารพัดปัญหาเข้ามาที่คุณสุพจน์รับมือกับมันได้จนทำให้กิจการอยู่มาได้เกินกว่า 20 ปี ถือเป็นบทเรียนคนทำธุรกิจที่ควรค่าแก่การศึกษาครับ