หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

นครเขื่อนขันธ์ จังหวัดพระประแดง ตำนานจระเข้📌📌📌

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

จังหวัดพระประแดง เป็นจังหวัดของประเทศไทยในอดีต พัฒนาจากเมืองที่สร้างใหม่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพระประแดงเมื่อ พ.ศ. 2458 แต่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำจึงยุบจังหวัดพระประแดง อำเภอต่าง ๆ ถูกรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดธนบุรีใน พ.ศ. 2474

เดิมจังหวัดพระประแดงเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์บริเวณลัดต้นโพธิ์ จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครกับเมืองสมุทรปราการบางส่วนมาตั้งเมืองใหม่ มีการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองโดยใช้แรงงานจีน ซึ่งลูกหลานชาวจีน ยังอาศัยอยู่ย่านตำบลตลาด มาจนถึงปัจจุบัน

การสร้างเมืองแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ และโปรดเกล้าฯ ให้บุตรชายคนหนึ่ง ของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี นามว่า ทอมา มาเป็นเจ้าเมืองคนแรก โดยพระราชทานราชทินนามว่า พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม และย้ายครอบครัวมอญ ที่มีชายฉกรรจ์ราว 300 คน จากปทุมธานี มาตั้งถิ่นฐาน เพื่อรักษาเมือง พร้อมตั้งกรมการเมืองทุกตำแหน่ง หลังจากนั้น ก็มีคลื่นผู้อพยพเชื้อสายมอญจากพม่าหลายระลอก เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ลูกหลาน เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์สืบต่อมาหลายรุ่น ทำให้เมืองแห่งนี้ มีอัตลักษณ์ความเป็นมอญที่โดดเด่น

พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์ แม้จะไม่ได้สร้างบนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดง แต่ก็อยู่ในเขตใกล้เคียงกัน และยังมีความสำคัญ ดั่งเช่นเมืองพระประแดงเดิม" จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองพระประแดง และเปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ตามลำดับ ส่วนที่ตั้งเมืองพระประแดงเดิม ช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 นั้น อยู่บริเวณระหว่างคลองเตย กับคลองพระโขนง ตรงข้ามคุ้งบางกะเจ้า ในต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทำการรื้อกำแพงเมืองพระประแดงที่โรยรา ไปสร้างกรุงธนบุรี หลงเหลือเพียงวัดเก่า ประมาณสี่วัดคือ วัดหน้าพระธาตุ วัดทอง วัดเงิน และวัดไก่เตี้ย อันเป็นหลักฐาน การมีตัวตนของเมืองพระประแดงเก่า แต่ปัจจุบัน วัดทั้งหมดถูกรื้อ เพื่อสร้างท่าเรือคลองเตยเมื่อ พ.ศ. 2480 และเมืองพระประแดงเก่า ไม่มีความเกี่ยวข้อง กับเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือพระประแดง ที่ตั้งขึ้นใหม่แต่ประการใด

15 ตุลาคม พ.ศ. 2458 มีการโอนอำเภอบ้านทวาย ไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร 31 ตุลาคมปีเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า จังหวัดพระประแดง มีเขตการปกครองอยู่สองอำเภอ คืออำเภอพระประแดง และอำเภอพระโขนง ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2470 มีการโอนตำบลช่องนนทรี และบางโพงพาง จากอำเภอพระประแดง มาขึ้นกับอำเภอพระโขนง และโอนอำเภอพระโขนง เข้าจังหวัดพระนคร และโอนอำเภอราษฎร์บุรณะ (ยกเว้นตำบลดาวคะนองและบางปะแก้ว) จากจังหวัดธนบุรี ขึ้นกับจังหวัดพระประแดง เพื่อความสะดวกในการปกครอง จังหวัดพระประแดง จึงมีเขตการปกครองสองอำเภอ คือ อำเภอพระประแดงและอำเภอราษฎร์บุรณะ ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว เฉพาะตำบลช่องนนทรีและบางโพงพาง ที่ถูกโอนออกไป เป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นมาก เมื่อเทียบกับอำเภอราษฎร์บุรณะ ที่ถูกโอนเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่น้อยลง ของจังหวัดพระประแดง

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัย ให้ยุบจังหวัดพระประแดง โดยอำเภอพระประแดง ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอำเภอราษฎร์บุรณะ ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี มีผลในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474

ตำนานจระเข้ แห่งเมืองพระประแดง นอกจากศาลหลักเมืองพระประแดงแล้ว ศาลพระประแดง ที่เดิม ตั้งอยู่ใกล้วัดหน้าพระธาตุ ก็ได้รับการเคารพสักการะ จากชาวพระประแดง มาอย่างยาวนาน นั่นก็เพราะ ที่ศาลพระประแดงนั้น มีเทวรูปอยู่ 2 องค์ ที่ขุดพบจากคลองสำโรง

เล่ากันมาว่า ชื่อเมืองพระประแดง ก็มาจากชื่อของเทวรูปทั้งสององค์นี้ เทวรูปที่ว่านี้ สร้างจากทองสัมฤทธิ์ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีจารึกนามว่า พระยาแสนตา อีกองค์หนึ่งชื่อ บาทสังขกร ขุดพบในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราว 500 ปี มาแล้ว พระประแดงนั้น เพี้ยนมาจาก กมรเตง เป็นภาษาขอม แปลว่า เจ้า หรือผู้เป็นเจ้า ซึ่งหมายถึงเทวรูป 2 องค์

แต่เทวรูปทั้งสององค์ ไม่ได้อยู่ที่ศาลแล้ว หลังพระยาระแวก ยกพลมาตีกรุงศรีอยุธยา แต่ตีไม่แตก จึงเดินทางกลับ ผ่านมาทางเมืองพระประแดง ก็ขนเอาเทวรูปทั้ง 2 องค์กลับไป คนในยุครัตนโกสินทร์ ก็เลยไม่มีใครได้เห็นเทวรูปทั้งสององค์

เชื่อกันว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ก็น่าจะมาจากชื่อของเทวรูปสององค์นี้ เพราะคำว่า “เจ้า” นั้น เป็นภาษาเขมร ส่วนกมรเตงนั้น หมายถึงเทวรูป 2 องค์ ที่ชื่อ พระยาแสนตา กับ พระยาบาทสังขกร แต่แรก ก็เรียกตำบลปากน้ำพระประแดงว่า บางเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่าของชาวพระประแดงว่า เทวรูปทั้งสององค์นั้น ศักดิ์สิทธิ์มาก ช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ให้ถูกจระเข้ทำร้าย หรือจับชาวบ้านไปกิน สุนทรภู่ ก็บรรยายไว้ในนิราศเมืองแกลง ถึงความแรง ความศักดิ์สิทธิ์ ของศาลพระประแดง ไว้เช่นกัน

อนาถนิ่งอิงเขนยคะนึงหวน จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย

ศศิธรอ่อนอับพยับไพร่ ถึงเชิงไทรศาลพระประแดงแรง

ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแหง

ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง เจ้าจงแจ้งใจภัคนีที

อย่างที่บอกว่า คนในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เคยเห็นเทวรูปทั้งสององค์ แต่นิราศฉลาง หรือเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ของเสมียนมี กวีสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ยังบรรยายถึงศาลพระประแดง ถึงอาถรรพ์ และความศักดิ์สิทธิ์ของศาลพระประแดงไว้เช่นกัน

ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้า นึกกลัวเจ้าพระประแดงแรงหนักหนา

บนศาลศรีมีเศียรของกุมภา แต่พันตาพันวังหัวฝังดิน

พระประแดงแข็งกล้าเจ้าข้าเอ๋ย ขอลาเลยลับไปดั่งใจถวิล

ช่วยป้องกันกุมภาในวาริน อย่าให้กินชาวบ้านชาวบูรี

ศาลเจ้าพ่อพระประแดง ฝั่งท่าเรือคลองเตยแห่งนี้ เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ความเชื่อเรื่องการถวายหัวจระเข้ต่อเทพยดา ยังคงมีอยู่ แต่ก็เป็นจระเข้ปลอม สำหรับจระเข้พันตา กับจระเข้พันวัง ตามนิราศเมืองฉลาง ของเสมียนมี กวีสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น น่าจะมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับจระเข้ ที่เล่าสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นตำนานของศาลเจ้าพ่อพระประแดง หรือศาลจระเข้พระประแดงแห่งนี้

นิทานกลอน เรื่องไกรทอง เขียนโดย บุศย์ รจนา เล่าว่า เมื่อสมัยก่อนนั้น ที่แม่น้ำเจ้าพระยา มีเขตแดนของจระเข้ เป็นสองเขต คือเขตเหนือกับเขตใต้ แบ่งพื้นที่การหากินกันชัดเจน

ทางตอนเหนือ ของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ปกครองโดยท้าวโคจร เป็นจระเข้น้ำจืดขนาดใหญ่ ว่ากันว่า ยาวถึง 40 เส้นเลยทีเดียว แต่ว่า ท้าวโคจรนั้น เป็นจระเข้ฝ่ายธรรมะ ไม่เคยทำร้ายผู้คน แต่บำเพ็ญศีลภาวนา อยู่แม่น้ำน่าน เมืองพิจิตร นับเป็นปู่ของชาละวัน อันโด่งดัง เพราะเจ้าชู้ ไปคาบเอาตะเภาแก้ ตะเภาทอง กลับไปที่ถ้ำใต้น้ำ จนถูกฆ่าตาย

ส่วนจระเข้ฝ่ายใต้นั้น ปกครองโดยจระเข้สองพี่น้องชื่อ ท้าวพันตา กับพระยาพันวัง แต่จระเข้สองพี่น้อง เป็นจระเข้ที่เกเร ทำร้ายผู้คน มีโอกาสก็จับกินอยู่บ่อยครั้ง

ที่เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ จระเข้ฝ่ายใต้ ไปทำร้าย และฆ่าจระเข้ฝ่ายเหนือ ที่เป็นบริวารของท้าวโคจร เมื่อท้าวโคจรรู้เข้า ก็ถึงกับเต้นเป็นเจ้าเข้า เพราะลำพังไปทำร้ายผู้คนก็มากพอแล้ว ที่ถึงกับทำร้ายเข่นฆ่าจระเข้ ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันอีก หากไม่ไปสยบจระเข้สองพี่น้องนี้ ก็จะกำเริบเสิบสาน อาละวาดไปทั่วแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแน่

เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็ล่องลงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อไปถึงจุดที่ใกล้กับถิ่นอาศัย ของท้าวพันตา กับท้าวพันวัง จระเข้สองพี่น้องผู้กำลังฮึกเหิม ท้าวโคจร ก็เอาหางอันใหญ่โต ฟาดลงน้ำ จนแม่น้ำเจ้าพระยาปั่นป่วนไปหมด

เพราะขนาดของท้าวโคจร ที่ยาวกว่า 40 เส้น แรงฟาดหางของท้าวโคจร กระเพื่อมไปถึงท้าวพันตา ผู้พี่ ก็ว่ายรี่ออกมาต่อกรกับท้าวโคจร แต่ด้วยเพราะขนาด และฤทธิ์เดชของท้าวโคจร ไม่นานนัก ท้าวพันตาก็พลาดท่าเสียที ให้แก่ท้าวโคจร จนเสียชีวิต

เมื่อเห็นท้าวพันตา ตายต่อหน้า พระยาพันวังผู้น้อง ก็เข้ามาต่อสู้กับท้าวโคจร แต่พระยาพันวังนั้น เป็นจระเข้ที่มีพละกำลังมาก เพราะมีเทวดาคุ้มครองอยู่ ท้าวโคจร ก็ให้สงสัยว่า เหตุใด พระยาพันวัง ถึงได้มีฤทธิ์มาก จึงแกล้งถามไป ก็ได้รู้ว่า ความมีเทวดาคุ้มครองพระยาพันวัง

ท้าวโคจร จึงได้ร้องบอกกับเทวดา ที่คุ้มครองพระยาพันวังว่า เข้าข้างฝ่ายที่ผิดไปเสียแล้ว เพราะจระเข้สองพี่น้องนี้ ไม่เพียงแค่เข่นฆ่าผู้คน หากแต่จระเข้เผ่าพันธุ์เดียวกันก็ไม่ละเว้น

แต่พระยาพันวังนั้น กลับบอกว่า ไม่ใช่เพราะเทวดาคุ้มครอง หากแต่เป็นตนเอง ที่มีฤทธิ์เดชมากอยู่แล้ว พอพระยาพันวัง พูดออกมาแบบนี้ เทวดา ก็เลยถอนความช่วยเหลือ พระยาพันวัง ก็สิ้นฤทธิ์ ถูกท้าวโคจรฆ่าตาย และคาบเอาหัวพระยาพันวัง ไปสังเวยเทวดา ที่ศาลริมแม่น้ำ

ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่:
https://youtu.be/y9-X6TJREPM?si=xSUbp8_2xqBIeOC_
แหล่งที่มาของข้อมูล
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
นางเอกดังสุดเศร้า กับการสูญเสียครั้งใหญ่ โพสต์อาลัยรักสุดหัวใจตำรวจ ตามรวบจนครบ 3 โจ๋เหิมเกริม ใช้มีดฟันคู่อริ กลางสถานี BTS5 เทคนิคเพิ่ม Productivity ที่ช่วยให้คุณทำงานสำเร็จเร็วขึ้น1 ใน 8 ของนักเรียนร.ร.รัฐในนิวยอร์ก'ไร้บ้าน'!เพียง 3 วินาที หญิงสาวสามารถขโมยนมผงในร้านสะดวกซื้อโดยไม่มีใครเห็น
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
"ลิลลี่ เหงียน" สวนกลับ "ปู มัณฑนา"..อย่าลืมเอาเงินมาคืนกะxsี่ผู้มีพระคุณด้วยเงินดิจิทัลเฟส 3 คนทั่วไป เงินเข้าเมื่อไหร่ ได้เงินสดไหม วิธีเช็กสถานะทางรัฐอีกมุมของ "ยายสา" ตำนานแม่มดแห่งสมิหลา กับความลึกลับที่ไม่มีใครกล้าท้าทาย"หวังเซียนเฉา นักการทูตผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ถัง‘ขนม ศศิกานต์’ เลิก ‘ครูเต้ย อภิวัฒน์’ ทั้งที่เพิ่งคลอดลูก คนที่ 2 จากกันด้วยดี ไม่มีมือที่ 3
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
ปริศนาในภาพเขียน Salvator Mundi โดย Leonardo da Vinciแม้รวยเท่าใดอย่างไรก้ต้องเกิดตายไม่สิ้นสุด จะหยุดได้ก็เพียงด้วยยอดแห่งบุญ"ตารางลดน้ำหนัก" ฉบับกินยังไงก็ผอม5 เทคนิคเพิ่ม Productivity ที่ช่วยให้คุณทำงานสำเร็จเร็วขึ้น
ตั้งกระทู้ใหม่