ตำนานนิทานพื้นบ้าน เมืองสิงห์บุรี
จังหวัดสิงห์บุรีเป็นเมืองเก่าสร้างมานาน ประวัติการสร้างเมืองเป็นอย่างไรยังไม่ทราบชัด จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี มีอยู่แล้ว ในสมัยก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมืองสิงห์ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ไว้ในสาส์นสมเด็จ ว่า “เมืองสิงห์บุรี เป็นเมืองใหญ่และเก่ามาก มีป้อมปราการ วัง วัดมหาธาตุ และของสำคัญ คือวัดพระนอนจักรสีห์ ใหญ่ยาวกว่าพระนอนองค์อื่นๆ ในเมืองไทย” เมืองสิงห์บุรี เรียกชื่อต่างๆ ดังนี้ เมืองสิงหราชาธิราช เมืองสิงหราชา เป็นเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำจักรสีห์ อันเป็นลำน้ำ ใหญ่ห่างแม่น้ำเจ้าพระยา 200 เส้น เพราะแม่น้ำจักรสีห์ตื้นเขิน เมืองสิงห์ จึงกลายเป็นเมืองอยู่ลับลี้..”
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีประวัติการสร้างเมืองสิงห์บุรี ตามตำนาน หรือนิยายปรัมปรา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
ตามตำนานนิยายปรัมปรา เกี่ยวกับการสร้างเมืองสิงห์บุรี มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้สร้างเมืองสิงห์บุรี คือ พระเจ้าสิงหพาหุ ซึ่งชื่อนี้ไปคล้ายกับสีหพาหุกุมาร ในพงศาวดารลังกา ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือว่า ในสมัยพุทธกาล มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าวังคราช มีเมืองวังนครเป็นราชธานี ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับนางสุปา ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้ากลิงคราษฏร์ ต่อมา นางสุปาได้ถูกขับไล่ออกจากเมือง เพราะมากด้วยตัณหา จึงเที่ยวชัดเซพเนจรไปยังที่ต่างๆ และได้พระยาราชสีห์เป็นสามี มีบุตรชื่อสีหพาหุ
เมื่อเติบใหญ่ จึงได้พามารดา หนีพระยาราชสีห์ กลับมาอยู่กับมนุษย์ พระยาราชสีห์ผู้เป็นพ่อ มีความอาลัยรัก จึงได้ออกติดตาม และเที่ยวขบกินชาวเมืองวังนคร ล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าวังคราชจึงประกาศหาบุคคลที่จะรับอาสาฆ่าราชสีห์ สีหพาหุกุมาร ได้รับอาสาและฆ่าพระยาราสีห์สำเร็จ
เพราะเหตุนี้ จึงปรากฏนามต่อมาว่า “สีหพาหุกุมาร” หมายความว่า กุมารผู้ฆ่าราชสีห์ ต่อมาพระเจ้าวังคราชสิ้นพระชนม์ ไม่มีเชื้อพระวงศ์สืบราชสมบัติชาวเมืองวังนครจึงพร้อมใจถวายราชสมบัติแก่สีหพาหุกุมาร สีหพาหุกุมารเมื่อรับราชสมบัติแล้วไม่ปรารถนาที่จะอยู่ในวังนคร จึงได้มอบให้อำมาตย์ซึ่งเป็นสามีใหม่ของมารดา ส่วนตนไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อว่า สีหบุรี ซึ่งคําว่า “สีห” กับ"สิงห” เป็นคําเดียวกัน เป็นภาษาบาลีส่วน “สิงห์” เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า ราชสีห์ สําหรับนิยายปรัมปราเรื่องนี้ มีความสอดคล้องกับประวัติศาสตร์การสร้างพระนอนจักรสีห์ ซึ่งกล่าวถึงสิงหพาหุผู้มีบิดาเป็นราชสีห์ จึงได้ฆ่าพ่อของตน ภายหลังสำนึกบาป จึงได้สร้างพระนอนจักรสีห์ เพื่อเป็นการชำระบาป หลังสร้างวัดพระนอนจักรสีห์แล้ว ได้ไปสร้างวัดสละบาปขึ้น อีกวัดหนึ่ง เพื่อเป็นการไถ่บาป เท่านั้นยังไม่พอ ยังได้ไปสร้างวัดประชดขึ้นอีกหนึ่งวัด เพื่อเป็นการประชด เพราะเกรงว่า บาปยังไม่หมด ต่อมา ชื่อประชดเพี้ยนเป็นประโชติ และประโชติการามในที่สุด
นิยายปรัมปรา เรื่องเกี่ยวกับการสร้างเมืองสิงห์บุรีนี้ ยังมีอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งออกมาในรูปแบบของนิทานพื้นบ้าน มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาดังนี้ว่า
นานมาแล้ว มีสิงห์ตนหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำ เป็นสิงห์หนุ่ม ผู้มีพละกำลังมหาศาล สามารถแปลงร่างเป็นชายหนุ่มรูปงามได้ และมีความรู้สึกนึกคิดเหมือน เช่นมนุษย์ทุกประการ วันหนึ่งสิงห์ตนนี้ ได้พบกับลูกสาวเศรษฐีเมืองชัยนาท แล้วเกิดความรักใคร่ในตัวของนาง จึงลักพาลูกสาวเศรษฐี ไปอยู่ในถ้ำของตน ซึ่งทั้งสอง ครองรักกันอย่างมีความสุข อยู่ภายในถ้ำนั้น จนกระทั่งลูกสาวเศรษฐีตั้งครรภ์ และคลอดลูกชายออก มาเป็นมนุษย์ ชื่อว่า สิงหพาหุ พ่อสิงห์ เลี้ยงดูสิงหพาหุด้วยความรักจนเติบใหญ่ ไม่ว่าสิงหพาหุจะไปแห่งหนใด พ่อสิงห์ก็จะตามไปคุ้มครองดูแลลูกชายอย่างสม่ำเสมอ โดยที่สิงหพาหุ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า สิงห์นั้น เป็นพ่อของตน จนสิงหพาหุเติบโตเป็นหนุ่ม ด้วยความสงสัย จึงเข้าไปถามแม่ว่า พ่อของตนเป็นใคร ชื่ออะไร และตอนนี้อยู่ที่ไหน
ในที่สุด สิงหพาหุ ก็รู้ความจริงจากแม่ว่า สิงห์ที่คอยติดตามดูแลคุ้มครองตนเองมาตลอด คือพ่อของตน ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอับอาย ที่มีพ่อเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทั้งโกรธ แค้น และเกลียดชังสิงห์ผู้เป็นพ่อมากยิ่งนัก นับแต่นั้น สิงหพาหุ ก็เฝ้าครุ่นคิด หาหนทางที่จะกำจัดสิงห์ผู้เป็นพ่อ อยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งสิงหพาหุ ก็ออกตามฆ่าพ่อสิงห์ ส่วนพ่อสิงห์ ก็หนีไปทางเขตอำเภอบางระจันในปัจจุบัน แล้วนำไม้มาดัด กั้นขวางทางไม่ให้ลูกตามมาทัน พื้นที่ตรงนั้น จึงเรียกว่า ตำบลไม้ดัด แต่สิงหพาหุก็ผ่านมาได้ พ่อสิงห์ก็หนีต่อไปเรื่อย จนถึงตำบลโพชนไก่ ที่นั่นมีบ่อนไก่ พ่อสิงห์ ก็ไปยืนดูเค้าตีไก่ พอลูกเข้ามาใกล้ ก็หนีต่อไปอีก ที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่าตำบลโพชนไก่ พ่อสิงห์ออกหนีลูกต่อไป จนไปเหยียบเอาหัวหอม ซึ่งชาวบ้านมัดตากแดดเอาไว้กระจุยกระจายไปหมด ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านหอมกระจุย หลังจากนั้น พ่อสิงห์ก็หนีลูกไปเรื่อยๆ จนเหนื่อยและหยุดพักรอลูก และลูกก็ตามพ่อมาทัน จึงเรียกตำบลนั้นว่า ตำบลพักทัน พ่อสิงห์หนีลูกต่อไปอีก จนไปถึงบริเวณที่มีต้นโพธิ์ แล้วพ่อสิงห์ ก็ปีนต้นโพธิ์ ร้องตะโกนให้ลูกมาหา และก็ยอมให้ลูกฆ่า เพราะถ้าหนีอีกต่อไป ลูกก็จะต้องเหนื่อย จึงร้องตะโกนให้ลูกมาฆ่าตนเสียให้ตาย ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านโพตะโกน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากที่สิงหพาหุ ได้ฆ่าพ่อสิงห์ตายแล้ว ก็เกิดอาการปวดศีรษะมาก จึงแล่ท้องพ่อ เอาไส้มาพันศีรษะ จึงหายปวด จากนั้นก็กลับมาบ้านพระนอน ซึ่งเป็นเมืองของแม่ ฝ่ายแม่ เมื่อรู้ว่าสิงห์ผู้เป็นสามี เสียชีวิตด้วยน้ำมือของสิงหพาหุลูกชาย นางก็ร้องไห้คร่ำครวญ กล่าวกับลูกด้วยเสียงสะอื้นว่า “กรรมเวรใดหนอ ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เหตุใดลูกถึงฆ่าพ่อของเจ้าได้ เขาเป็นผู้ให้ชีวิตแก่ลูก เลี้ยงดูลูกมาด้วยความรัก ลูกทำอย่างนี้กับพ่อได้อย่างไร” ครั้นได้ยินคำของแม่ สิงหพาหุก็สำนึกผิดในบาปมหันต์ ที่ได้กระทำกับพ่อของตน ดังนั้น เขาจึงนำศพของพ่อสิงห์ ไปเผาที่โคกจันทร์ แล้วสร้างพระพุทธรูปเป็นพระนอน ขึ้นองค์หนึ่ง ทับถ้ำที่พ่อของตนเคยอาศัยอยู่ โดยนำเอาทองคำแท่งโต ๓ กำมือ ยาว ๑ เส้น เป็นแกนขององค์พระ และสร้างวัดขึ้นที่ต้นโพธิ์ ชื่อว่า วัดสละบาป ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาทำปิตุฆาต และด้วยความกลัวว่า บาปที่ได้กระทำไปนั้น จะร้ายแรงจนชดใช้ยังไม่หมด จึงสร้างวัดขึ้นอีกหนึ่งวัดคือ วัดประชด หรือวัดประโชตินั่นเอง ทั้งนี้ เพื่อไถ่บาป และอุทิศส่วนกุศลให้พ่อสิงห์ผู้จากไป โดยพระนอนจักรสีห์นี้ เป็นที่กราบไหว้บูชา มาหลายชั่วอายุคน จนองค์พระได้พังทลายลงเป็นเนินดิน
ในกาลต่อมานั้น ท้าวอู่ทอง ได้นำพ่อค้าเกวียนผ่านมาพบ ก็เกิดความเลื่อมใส และเห็นประโยชน์พระศาสนา จึงชักชวนพ่อค้าเกวียน สร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยใช้แท่งทองคำที่พบนั้น เป็นแกนองค์พระดังเดิม อย่างไรก็ดี ในพระราชพงศาวดาร ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกถึงองค์พระนอนจักรสีห์ว่า ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๗
โดยทรงให้สร้างพระวิหาร พร้อมทั้งพระอุโบสถ และเสนาสนะต่างๆ ขึ้นใหม่ และทรงเสด็จในการสมโภช โดยทรงประทับแรม ณ วัดพระนอนจักรสีห์แห่งนี้ ถึง ๓ คืน และในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินยังวัดนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ และพระราชทานเงิน ให้บูรณปฏิสังขรณ์ พระนอนจักรสีห์ด้วย
จากตำนาน และนิทานพื้นบ้านเมืองสิงห์บุรีนี้ นับเป็นเรื่องน่าคิด ในความบังเอิญ ของสาระสำคัญของเรื่องและชื่อของ “พระเจ้าสีหพาหุ” แม้ว่าโดยรายละเอียด จะแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งอาจจะเกิดการคลาดเคลื่อนกัน ในการถ่ายทอด แต่เรื่องนี้ คงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ที่เมืองสิงห์บุรี เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาเป็นแน่ เพราะมีปูชนียวัตถุ คือ “องค์พระนอนจักรสีห์” เหลืออยู่เป็นหลักฐาน ถึงทุกวันนี้
และถ้าหากบังเอิญ หาข้อพิสูจน์ได้ว่า ราชบุตรองค์ใหญ่ของ พระเจ้าสีหพาหุ ที่สร้างองค์พระนอน คือ “วิชัยกุมาร” แล้ว และจากการที่ได้พยายามพิสูจน์ว่า ชมพูทวีป และอินเดียโบราณ อยู่แผ่นดินสุวรรณภูมินี้ นั่นหมายความว่า เจ้าชายวิชัย ที่ได้อพยพไปตั้งหลักแหล่ง ที่ลังกาทวีป ก็ต้องเดินทางไปจากดินแดนชมพูทวีป ที่แผ่นดินสุวรรณภูมินี้ หรือเดินทางไปจากเมืองสีหบุรี ที่จังหวัดสิงห์บุรี นี้
ดังนั้น ลังกาทวีปจึงอยู่ทางใต้ และสามารถเดินทาง ไปยังทวีปนี้ โดยการล่องเรือไปถึงได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า “ลังกาทวีป จะอยู่แถบแถวภาคใต้ของประเทศไทย หรือคาบสมุทรมลายู” นี่เองหรือเปล่า?
“ตำนานวัดพระนอนจักรสีห์" เป็นตำนานเล่าขาน เกี่ยวกับการสร้างหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์
พระนอน ที่สิงหพาหุ สร้างทับถ้ำของพ่อสิงห์ เรียกว่า หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ เทศนาปาฏิหาริย์ แก่อสุรินทราหูผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิฐิของอสุรินทราหู ที่ถือว่า ตนนั้นมีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์ ดังนั้น พระพุทธเจ้า จึงเนรมิตร่างกาย ให้ใหญ่กว่ายักษ์อสุรินทราหู “หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์” เป็นพระพุทธรูปลักษณะแบบสุโขทัย มีขนาดใหญ่และมีความยาวถึง ๔๗.๔๐ เมตร ยาว ๑ เส้น ๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว พระเศียรหันไปทางทิศ ตะวันออก พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระกรขวายื่นไปด้านหน้า ไม่งอพระกร ขึ้นรับพระเศียรเหมือนแบบไทย ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ ๕ กิโลเมตร
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/0cvQzZ2uZ5w?si=CKUZZD701fSmOU6q
ตำนานนิทานพื้นบ้าน เมืองสิงห์บุรี