ตำนาน พระพุทธสิหิงค์ พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน 🙏🙏🙏
ตำนานพระพุทธสิหิงค์ หรือสิหิงคนิทาน เป็นตำนาน ที่อธิบายประวัติการสร้างและการประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญองค์หนึ่ง ของประเทศไทย พระโพธิรังษี ปราชญ์เชียงใหม่ ได้เขียนตำนาน เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ เป็นภาษาบาลี เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๖๐ และบรรยายเรื่องราว มาจนถึง พ.ศ. ๑๙๕๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ต่อจากพระโพธิรังษี ฉบับปัจจุบัน หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ เป็นตำนานย่อ และมีข้อวิจารณ์ทางโบราณคดีเพิ่มเติมสืบมา
ตำนาน "พระพุทธสิหิงค์" ตามตำนานกล่าวว่า "พระพุทธสิหิงค์" มีความเก่าแก่ และเป็นที่เคารพนับถือ สืบเนื่องมายาวนาน ตั้งแต่พุทธศักราช 700 แต่รูปแบบศิลปะของ "พระพุทธสิหิงค์" องค์ที่ปรากฏในปัจจุบันคือ "พระพุทธสิหิงค์" ที่ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20 - พุทธศตวรรษที่ 21 ตามรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา
นิทาน "พระพุทธสิหิงค์" พระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ นิพนธ์เป็นภาษาบาลี ระหว่างพุทธศักราช 1945 - 1985 มีความสรุปดังนี้ "พระพุทธสิหิงค์" สร้างโดยพระมหากษัตริย์กรุงลังกา เมื่อพุทธศักราช 700 กำหนดพระลักษณะ ให้ละม้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด เนื่องจากได้ถอดมาจากรูปแปลงของพญานาค ที่เคยเห็นพระพุทธองค์ เนรมิตกายให้ดูเป็นแบบอย่าง กล่าวกันว่า เมื่อหล่อพระพุทธสิหิงค์ขึ้นแล้ว เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศได้
พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย (สันนิษฐานตามประวัติศาสตร์ว่า หมายถึง พ่อขุนรามคำแหง) โปรดเกล้าฯ ให้พญาสิริธรรมนคร ผู้ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (ปัจจุบันคือ นครศรีธรรมราช) แต่งทูต อัญเชิญพระราชสาส์น ทูลขอพระพุทธสิหิงค์ มาจากพระเจ้ากรุงลังกา "พระพุทธสิหิงค์" ลอยมาขึ้นฝั่งทะเลภาคใต้อย่างปาฏิหาริย์ หลังจากเรืออับปาง ระหว่างเดินทาง แล้วพระร่วงเจ้า ก็อัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" มาประดิษฐานสักการบูชา ณ กรุงสุโขทัย สืบเนื่องมา ครั้นกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าเมืองผู้มีอำนาจ ได้อัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" ไปประดิษฐานตามหัวเมืองสำคัญหลายแห่ง ได้แก่
พิษณุโลก (โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 พุทธศักราช 1905)
พระนครศรีอยุธยา (โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พุทธศักราช 1905)
กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ จวบจนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่พุทธศักราช 2205 "พระพุทธสิหิงค์" ประดิษฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 105 ปี จนถึงพุทธศักราช 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า
"พระพุทธสิหิงค์" ถูกอัญเชิญกลับไปยังเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของสยามประเทศแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เสด็จฯ นำทัพไปเชียงใหม่ ทรงอัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" กลับมาประดิษฐาน ณ ที่พระที่นั่งพุทธาสวรรย์ ในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อพุทธศักราช 2338
ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" ไปประดิษฐาน ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ ตลอดรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในพุทธศักราช 2394 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล และเมื่อพุทธศักราช 2396 รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งพุทธาสวรรย์เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ต่อมา ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัฐบาลสมัยนั้น มีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้ว สืบต่อมา ถึงรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต อัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" จากพระที่นั่งพุทไธสวรรรย์ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน และมีการพระราชพิธี เชิญไปประดิษฐาน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475
เทศกาลปีใหม่ พุทธศักราช 2491 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดตั้งพระราชพิธีสมโภช พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และ "พระพุทธสิหิงค์" ด้วยเหตุที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติ ประเทศไทยได้ผ่านพ้นอวมงคลการต่าง ๆ โดยวันที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2491 พนักงานพระราชพิธี เชิญ "พระพุทธสิหิงค์"ออกประดิษฐาน หน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หลังจากเสร็จพระราชพิธีแล้ว ในวันที่ 14 มกราคม พุทธศักราช 2491 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตามเดิมจนทุกวันนี้
ระหว่างพุทธศักราช 2478 - 2485 ในวันนักขัตฤกษ์ขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน จะมีการแห่อัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" ออกให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคล ณ มณฑลพิธี และว่างเว้นไปในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
ต่อมาในพุทธศักราช 2492 เมื่อมีการฟื้นฟู ประเพณีฉลองวันตรุษสงกรานต์ การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกสรงน้ำ จึงเปลี่ยนมาจัดในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย และจัดติดต่อสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีการอัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์" เป็นประธานในการพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน จากคำให้กำรขุนหลวงวัด
ประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวว่า ในพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพรบวรราชกุมาร ในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ "พระพุทธสิหิงค์" ได้ประดิษฐานเป็นประธาน ภายในมณฑป บนยอดเขาไกรลาส ทั้งนี้ เอกสารเดียวกันระบุว่า ตามปรกติแล้ว "พระพุทธสิหิงค์" ประดิษฐานในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์
สำหรับในกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ปรากฏหลักฐานว่า พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งประกอบการพระราชพิธีเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพุทธศักราช 2343 มีการอัญเชิญ "พระพุทธสิหิงค์"ประดิษฐานบนพระยานมาศ แห่พร้อมพระสงฆ์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ รอบพระนครด้วย
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/IXptb2dPmd8?si=zycZcXYZBJJi-sf6
พระโพธิรังสี