คู่มือจัดงานศพไทยพุทธ ในยุคปัจจุบัน พร้อมรับมือในวันที่สูญเสีย
ส่วนใหญ่งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานวันเกิด, งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่, งานแต่งงาน, งานบวช เรามักจะมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี หรือมีการซักซ้อมกันเลย แต่กับงานที่มีการสูญเสียอย่าง งานศพ ซึ่งก็เป็นงานที่จำเป็นเหมือนกัน เพื่อทำความเคารพและระลึกถึงผู้วายชนม์ เรากลับไม่ค่อยรู้วิธีการจัดการสักเท่าไหร่ รวมถึงงานแบบนี้มักจะมาตอนที่เราไม่ทันตั้งตัวด้วย เพราะยามที่เราสูญเสียคนที่สำคัญนั้น เราจะมัวแต่เศร้าโศกเสียใจ จนบางทีก็อาจจะขาดสติเลยทีเดียว
ดังนั้นแล้ว...เพื่อที่จะได้เอาไว้ใช้งานในวันหนึ่ง เราลองมาทบทวนกันดูสักหน่อยว่า ถ้าต้องจัดงานศพให้กับคนที่ใกล้ชิดแล้ว เราจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง เมื่อถึงเวลาจะได้มีสติ และความพร้อมที่จะทำให้งานผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นได้ด้วยดี
ในกรณีที่คนในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยหนัก
ที่หมอให้สัญญาณแล้วว่า ต้องทำใจเผื่อใจสำหรับการเสียชีวิตเอาไว้บ้าง ให้คนในบ้านลองตกลงกันให้เรียบร้อย ว่าจะไปจัดงานกันที่วัดไหน อำนาจการตัดสินใจจัดการหลักจะต้องอยู่ที่ใคร เรื่องนี้ไม่ควรละเลย และสำคัญมากๆ หากไม่ตกลงกันไว้ก่อนจะมีปัญหาในภายหลังได้ อย่างเช่น ในบ้านมีแม่ที่เสียแล้วเหลือกันอยู่แค่พ่อและพี่น้อง รวมถึงพ่อกับพี่อาจจะไม่ใช่คนที่ติดต่อประสานงานอะไรเก่ง ดังนั้นการตัดสินใจหลักทั้งหมดเราจะเลือกทำเองก็ได้ ถ้ามั่นใจว่าในตอนนั้นสามารถทำได้ดีกว่า หรือถ้าน้องคนเล็กเป็นคนเก่ง มีความสามารถ ก็ยกหน้าที่ให้น้องทำได้เช่นเดียวกัน หน้าที่นี้เน้นคนที่มีความเป็นผู้นำ จัดการเรื่องต่างๆ ได้เก่ง ไม่จำเป็นยึดหลักผู้อาวุโสเสมอไป
แนะนำว่าควรมีเฮดหลักที่คอยจัดงานศพเป็นหลัก
มีคนเป็นหัวเรือใหญ่เอาไว้สักคนหนึ่ง ก็เพราะว่าหากจัดงานขึ้นมาจริงๆ ก็จะมีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อน ที่เมื่อใครล้ำเส้นก้าวก่ายงานตรงไหนจะได้ผู้ตัดสินใจได้เลย ว่าทางบ้านเราตกลงกันแล้ว ทุกอย่างทุกปัญหาก็จะจบลงตรงนั้น คนอื่นก็จะมาก้าวก่ายยุ่มย่ามไม่ได้ ให้คิดเสมอว่าเขามายุ่ง แต่เขาไม่ได้มาช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ของงานนะ มีแต่จะทำให้เสียเพิ่มโดยไม่จำเป็นซะมากกว่า
ในวันที่มีคนเสียชีวิต
โดยปกติแล้วทางโรงพยาบาลจะแจ้งเราในทันที ถ้าเสียตอนเช้ามืดก็จะมีเวลาเตรียมการได้เยอะกว่าช่วงเวลาอื่นอยู่สักหน่อย ให้ถามทางโรงพยาบาลว่าจะเข้าไปติดต่อทำเอกสารรับศพได้ตั้งแต่ช่วงกี่โมง และตอนก่อนไปให้เตรียมพร้อมบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต เอกสารให้ทำการจัดหาเตรียมพร้อมเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากถ่ายสำเนาเอกสารเผื่อเอาไว้ก่อนหลายชุดด้วยก็จะดี
เมื่อรู้เวลาที่จะนัดเข้าไปรับศพได้แล้ว
หลังจากนั้นต้องเตรียมการทุกอย่างแบบรวดเร็วสุดๆ ไม่มีเวลาให้ลังเลหรือตั้งตัวสักเท่าไหร่ ต้องทำใจ เตรียมงานประสานร้านต่างๆ เอาไว้ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำดื่ม ดอกไม้ ของชำร่วย
อันดับแรก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โลงศพ
สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เลยแนะนำให้ติดต่อกับสุริยาหีบศพ เนื่องจากมีสาขาเยอะ และครบวงจร สามารถจ่ายเงินแล้วจบได้ในที่เดียวไม่ยุ่งยากทำให้เราสามารถจัดการงานด้านอื่นๆ ต่อได้โดยไม่ต้องพะวง เพราะเขาเป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์มาเยอะ เขาช่วยเราได้แน่นอน ดอกไม้หากว่าเราไม่มีร้านอยู่เป็นประจำเขาก็มีให้เลือกตามแคตตาล็อกด้วย ถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำการติดต่อกับทางวัดหรือพระเอาไว้แล้ว สามารถบอกเขาก่อนได้ เพราะบางทีเขาก็สามารถช่วยติดต่อกับทางวัดและศาลาให้เราได้ด้วย ถือว่าสะดวกกว่าที่จะจัดการเอง
สิ่งที่ต้องเตรียมตอนไปรับศพที่โรงพยาบาล
1 - บัตรประชาชนสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย
2 - ชุดเสื้อผ้ารองเท้าเตรียมไปให้ศพสวมใส่ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่อยากจะเอาใส่ไว้ในโลงศพ
3 - ซองปัจจัยมอบให้พระ
4 - เหรียญสำหรับซื้อที่ซื้อทางให้คนตายแลกไปเยอะๆ ได้ ใช้อยู่ราวๆ 300-500 บาท ตามแต่กำลังทรัพย์
5 - เงินค่าฉีดยาศพประมาณ 1,000 บาท
6 - ตอนมารับศพจะมีเจ้าหน้าที่มาด้วย 2-3 คน เขาจะช่วยแนะนำแนวทางทำพิธีพร้อมชุดเชิญดวงวิญญาณมาครบ คอยแนะนำว่าเราจะต้องจุดธูปไหว้ตรงไหน ยืนตรงไหน พูดว่าอะไร เมื่อตอนรถเคลื่อนแล้วก็ให้หยอดเหรียญซื้อที่พูดนำทางเขาจะแนะนำเราอยู่ตลอด (แนะนำว่าให้เงินสินน้ำใจกับเจ้าหน้าที่ที่ช่วยงานเราด้วยก็ดี)
7 - รูปตั้งหน้างานศพขนาดมาตรฐานคือ 12x18 นิ้ว แนะนำว่าให้เลือกรูปและสั่งอัดไว้ ตั้งแต่รู้ข่าวการเสียชีวิตได้เลย หรือช่วงที่ร้านเปิด ตอนไปรับศพที่โรงพยาบาลรูปก็ควรพร้อมแล้ว เลือกกรอบรูปให้เลือกดีๆ ด้วย เพราะว่าเราจะต้องนำมาตั้งเอาไว้ที่บ้านต่อ แนะนำให้เลือกร้านที่สามารถสั่งงานผ่านออนไลน์ได้ก็จะดี เราสามารถจ่ายเงินออนไลน์ และเรียก grab ไปรับได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่ร้านด้วยตัวเอง
เมื่อได้เตรียมโลง เตรียมวัดเอาไว้แล้ว
เวลามาติดต่อรับศพที่โรงพยาบาลช่วงนี้ จะต้องรอเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโม งเพื่อจัดการฉีดยารักษาสภาพศพ ในช่วงเวลานี้ เราสามารถติดต่อร้านอาหาร ร้านขนมได้เลย แนะนำว่าวันแรกแขกมักจะมาไม่เยอะมาก หากร้านขนมอยู่ไม่ไกลสามารถสั่ง 30 - 50 ชุด เอาไว้ก่อนได้ เดี๋ยวนี้แนะนำเป็น snack box เนื่องจากจัดการได้ง่าย สามารถให้ได้ทั่วถึง สะดวกกับการกินของแขกที่มาร่วมงานอีกด้วย ถ้าหากว่าไม่รู้จะเลือกอะไรก็ให้ทางร้านแนะนำไปตามงบ อย่างเช่น งบอยู่ที่ 35-45 บาทต่อกล่อง เพื่อเป็นการคุมรายจ่ายไปในตัวได้เลย หรือเลือกเป็นเมนู อาทิเช่น เน้นเป็นขนมปังคาว หรือเป็นขนมปังหวานเป็นต้น อย่างเช่นสวด 3 วันสั่งขนม 150 กล่องค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 8,000 บาท เป็นต้น
ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายศพไปที่วัด
เจ้าหน้าที่จะพาเราไหว้พระไหว้ศพ และเชิญวิญญาณก่อน 1 คนถือรูป 1 คนถือธูปพอขึ้นรถแล้ว อีกหนึ่งคนจะเป็นคนโปรยเหรียญ เวลาซื้อทางให้พูดไปตลอดทางว่าเลี้ยวตรงไหน ตรงไปขึ้นทางด่วน ลงสะพาน คอยเรียกชื่อผู้เสียชีวิตให้ตามเรามาอยู่เรื่อยๆ คอยกำชับผู้ที่ทำหน้าที่นี้ให้ดี บอกทางให้ละเอียด เพื่อที่วิญญาณคนตายจะได้ตามมาถึงวัดได้ถูกทาง
เมื่อถึงวัดแล้วเจ้าหน้าที่วัดก็จะเข้ามาช่วยจัดการทุกอย่างให้เรา ระหว่างนี้ก็คอยเช็คว่าขนมมาส่งถึงหรือยัง น้ำดื่มเตรียมพร้อมเอาไว้แล้วหรือยัง
ด้านการเงิน
สิ่งสำคัญที่ต้องตกลงกันให้ดี คือใครจะเป็นคนเก็บซอง ซองทุกซองในงานไม่ว่าใครจะเป็นคนรับ จะต้องนำมาส่งให้กับคนที่มีหน้าที่เก็บโดยตรง เพื่อที่หลังจากจบงานแล้ว จะได้เอาเงินส่วนนี้มาจัดการเคลียร์ค่าใช้จ่ายต่างๆ แนะนำให้ขอใบเสร็จ และจดทุกๆ รายจ่ายเอาไว้เสมอ เพื่อที่จะมาเคลียร์บัญชีตอนหลังงานเลิก การใช้จ่ายต่างๆ ในงานหากมีบัญชีกองกลางเตรียมเอาไว้ก่อนก็จะดีมาก
ส่วนใหญ่แล้ว เราจะต้องมีเงินเตรียมพร้อมสำรองจ่ายออกไปก่อนเสมอ และคนที่ทำหน้าที่จ่ายเงิน ก็ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้มากที่สุดในบ้านด้วย ให้สะพายกระเป๋าเล็กๆติดตัวเอาไว้อยู่เสมอ อย่าฝากไว้กับคนอื่นหรือวางทิ้งเอาไว้เป็นอันขาด ผู้จัดการการเงินหลัก ควรเบิกเงินสดติดตัวเอาไว้เยอะๆ แนะนำว่าซักประมาณ 10,000 บาท ให้แบ่งออกเป็น 3 กองแลกเป็นแบงค์พัน และเป็นแบงค์ย่อยๆ เพราะช่วงที่มีพิธีนั้น จะต้องมีเงินสดพร้อมใช้เอาไว้ติดตัวอยู่เสมอ ไม่ต้องยุ่งยากหาแลกในตอนนั้น หากอันไหนมีการโอนจ่ายก็อย่าลืมจดลงบัญชีให้หมด
เตรียมซองเปล่า เตรียมปากกาเอาไว้ให้พร้อม
เพราะแขกส่วนมากจะไม่ได้เตรียมซองหรือเตรียมปากกามา ใครถามหาอะไรต้องช่วยจัดการให้ได้
ให้ถามเจ้าหน้าที่ดูแลศาลาว่า มีพระสวดกี่รูปก็ให้ใส่ซองรอเอาไว้ได้เลย อย่างเช่น 5 รูปใส่ซองละ 200 บาท ไม่จำเป็นต้องให้ใครมากกว่าใคร สามารถใส่ให้เท่าๆ กันได้ ส่วนพระที่เทศน์ก็จะได้ 2 ต่ออยู่แล้วคือจากซองและจากการเทศน์ด้วย
ให้หาคนมาเตรียมถวายของกับพระมีกี่รูป ก็หาคนมาจำนวนเท่ากัน ขอชื่อนามสกุล จดลงสมุดแล้วเอาให้มัคทายกได้เลย เช่น พระ 5 รูปคนถวาย 5 คน
5 คนนี้จะเป็นคนในบ้านก็ได้ หรือว่าแขกที่มาร่วมงานก็ได้ แต่ควรเป็นคนที่ใกล้ชิดกันจริงๆ กำหนดหน้าที่ไว้ บอกเจ้าตัวให้เตรียมพร้อมช่วงที่จะทำการถวาย จะได้ไม่ต้องวุ่นวายเรียกคนนั้นคนนี้ให้เสียเวลา
ช่วงพิธีรดน้ำศพ ให้จัดหาใครสักคนไปคอยนั่งตักน้ำรดน้ำศพให้แขก แนะนำว่าควรเป็นลูก เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะได้ทำหน้าที่ใกล้ชิดพ่อแม่ครั้งสุดท้าย
จากนั้นให้เช็คของที่สั่งไปว่ามาครบแล้วหรือยัง ของควรจะมาก่อนเวลาเช่นสวด 6 โมง ภายใน 4 โมงครึ่ง ของทุกอย่างควรมีพร้อมหมดแล้ว ถ้ายังไม่มาก็เร่ง ติดตามให้ครบ
พอคนสุดท้ายรดน้ำศพเสร็จ ทางเจ้าหน้าที่จะมาทำพิธี ในจุดนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เศร้ามาก
1 - ทางเจ้าหน้าที่จะเรียกลูกมาให้กับลาผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย
2 - รองเท้าที่ซื้อไว้เตรียมไว้ก็ใส่ให้เขาด้วย
3 - ของอะไรที่จะใส่ในโลง ก็เตรียมใส่ไว้ให้ครบอย่าขาด
4 - ซองค่าครู เขาจะบอกเองว่าเอาเท่าไหร่
5 - เขาจะเรียกลูกไปยืนที่ข้างๆ โลง คนทำพิธีจะเวียนเทียนจนครบ 4 มุม เขาจะถามเราว่าบ้านนี้ของใคร เราต้องตอบชื่อนามสกุลของผู้เสียชีวิต ตอบให้เสียงดังฟังชัด เมื่อครบทั้ง 4 มุมแล้ว เขาจะถามว่า "เป็นของคนนี้แน่หรอ?" เราต้องตอบว่า "ใช่'
6 - ต่อมาก็เป็นการบรรจุศพลงโลงเป็นจบพิธีในช่วงนี้ ทำใจให้พร้อมเตรียมรอรับแขกต่อได้เลย
7 - เช็คซองที่จะถวายพระ
8 - เช็คความเรียบร้อยข้าวของต่างๆ
9 - พร้อมรอรับแขก
10 - จัดสำรับข้าวมาตั้งไว้ข้างๆ โลงด้วย ผู้ตายชอบกินอะไรก็ซื้ออันนั้นมา เวลานำไปตั้งให้เคาะโลง เรียกชื่อนามสกุลจริงเท่านั้น ไม่ควรเรียกชื่อเล่น เพราะอาจจะซ้ำกันกับวิญญาณอื่รได้ เวลาที่เรียกให้มากินข้าว
11 - เวลาพระมา หรือสวดมนต์ก็ให้ไปเคาะเรียกเสมอ
12 - หลังพระสวดแล้วจะมีช่วงเบรคสั้นๆ คือช่วงที่เราจะเอาขนมที่สั่งมาไปเสิร์ฟให้แขก ส่วนก่อนพระสวด จะเสิร์ฟแค่น้ำ
13 - หลังพระสวดเสร็จ ให้คนในครอบครัวและลูกหลานไปยืนรอที่ทางเข้าศาลา เตรียมส่งพระส่งแขก
14 - ก่อนกลับบ้านลูกๆ ต้องจุดธูปบอกกับผู้ตายด้วยว่าจะกลับแล้ว ให้กลับไปด้วยกัน
15 - ก่อนปิดศาลาให้ตรวจตราความเรียบร้อย เช่น ขนมถ้าเหลือให้เอากลับไปด้วยน้ำดูให้ดี ว่ายังมีเหลือพอไหมพยายาม อย่าทิ้งอะไรไว้ขยะ หรือของต่างๆ ควรเก็บให้หมด ปิดไฟให้ดี
16 - ตอนจะขึ้นรถกลับบ้าน ถ้ายังอยากให้เขากลับบ้านด้วย ให้เรียกชื่อนามสกุลบอกว่ากลับบ้านด้วยกัน ขึ้นรถมาด้วยกัน เน้นย้ำว่าควรเรียกด้วยชื่อและนามสกุล อย่าเรียกแค่แม่ หรือชื่อเล่นเพียงอย่างเดียว ไม่งั้นอาจได้ตนอื่นกลับมาแทน
เมื่อถึงบ้านสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก
คือ จุดธูปขอเจ้าที่เจ้าทาง ศาลพระภูมิ บอกว่าเปิดทางให้วิญญาณของผู้ตาย ระบุชื่อนามสกุลจริงเข้าบ้านได้ ขอให้ช่วยคุ้มครองเขาด้วย หรือก่อนออกไปรับศพ หากว่าเราอยู่ที่บ้าน ให้จุดธูปขอเอาไว้ก่อนได้เลย ไม่ต้องรอจนจบงานคืนแรกก่อนก็ได้
ก่อนเข้าบ้านให้ล้างหน้าด้วย เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ถ้าเตรียมน้ำใส่ใบทับทิมได้รดหรือพรมตัวคนที่กลับมาจากงานศพด้วยกันทั้งหมดก็จะดี
ของชำร่วยควรจะสั่งเป็นวันแรกของงาน
เพื่อที่ทางร้านจะได้เตรียมของ และเตรียมจัดทำให้เสร็จทันใช้งานพอดี ถ้าตัดสินใจได้ว่าเป็นอะไรก็ติดต่อร้านได้เลย ว่าเราใช้งานศพกำหนดเวลาส่งงานให้ดี ควรได้ก่อนวันเผาคือช่วงก่อนคืนวันที่ 3 แนะนำเป็นของที่ใช้งานง่ายๆ รับง่ายๆ ติดสติกเกอร์ชื่อผู้ตายเอาไว้ มีของเผื่อเอาไว้จำนวนหนึ่ง ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปสัก 20-30 ชุดเป็นอย่างต่ำ
วันที่ 2 จะไม่มีอะไรมาก เนื่องจากได้ทำการเตรียมเอาไว้ตั้งแต่วันแรกไปแล้ว สิ่งที่ต้องหมั่นดูแลก็คือ
1 - เตรียมอาหารเช้า กลางวัน เย็นเอาไว้ที่หน้าโลง
2 - เมื่อถึงเวลาอาหาร ก็เคาะเรียกบอกด้วย ว่าชื่อนามสกุลอะไร
3 - คอยเช็คดูธูปเล่มใหญ่ อย่าให้ดับ
4 - เช็คน้ำดื่ม น้ำแข็ง ขนมในงาน หากขาดอะไรให้รีบสั่งเตรียมเอาไว้แต่เช้า
5 - เตรียมซองใส่ให้พระที่สวด
6 - เตรียมงานของวันเผาเอาไว้เลย ว่าจะต้องเลี้ยงเพลพระก่อนไหม หรือจะเลี้ยงเช้า อาหารที่ถวายจะต้องมีอะไรบ้าง พระกี่รูป ถวายผ้าไตรกี่ชุด จะมีใครเป็นคนเชิญบ้าง ใครเป็นคนกล่าวคำอาลัยให้พิธีกรที่วัด หรือว่าคนในบ้านจะอ่านเอง
7 - กำหนดหน้าที่แต่ละคนเอาไว้ให้ดี เช่น มี 7 คนรวมประธานด้วย และสำรองเอาไว้สักคน เผื่อมีคนไม่พร้อมหรือไม่สะดวก
8 - กลับถึงบ้าน ควรเตรียมคำอาลัยให้พร้อมไว้ก่อน เผื่อเอาไว้มาตรวจทาน ทบทวนแก้ไข ก็ยังมีเวลาเหลืออยู่บ้าง
วันที่ 3
การจัดการส่วนใหญ่ก็เหมือนกับวันที่ 2 วันที่ 3 คือวันที่ทบทวนแผนต่างๆ ที่ได้ตระเตรียมเอาไว้แล้ว เช่น เช็คว่าของชำร่วยมาถึงหรือยัง อาหารที่จะเลี้ยงพระมีอะไรบ้าง คำอะไรที่จะกล่าวเองหรือให้พิธีกรกล่าวเรียบร้อยดีแล้วหรือยัง มีอะไรต้องแก้ไขอีกไหม
วันเผา
ลองเช็คดูให้ดีว่าจะเพิ่มอะไรหรือเปล่า บางงานอาจจะเพิ่มวงปี่พาทย์ หรือการแสดงต่างๆ จะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ ถ้าจะมีก็จัดหา จ้างวานให้เรียบร้อย ทำไปตามขั้นตอน ส่วนใหญ่จะมีกำหนดเวลาเอาไว้อยู่แล้ว พวกพิธีต่างๆ มัคทายกจะคอยแนะนำขั้นตอนต่างๆ ให้
เก็บอัฐิไว้ หรือลอยอังคาร
อันนี้อยู่การจัดการของแต่ละบ้านเลย มีแนะนำสองแบบคือลอยอังคารที่ทะเล มีหน่วยงานที่สัตหีบ รับทำพิธีโดยเฉพาะลองติดต่อพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ หรือถ้าจะลอยที่แม่น้ำใกล้ทะเล อย่างฝั่งสมุทรสาคร หรือสมุทรปราการ หรือปากเกร็ด นนทบุรีก็ติดต่อหาวัดหรือสถานที่ที่เขามีบริการให้ โดยรวมจะมีพิธีสวดบนเรือ ลอยอัฐิและดอกไม้ตอนอยู่บนเรือ ถ้าตั้งใจไปส่งหลายคนก็เตรียมตัวให้พร้อม จะทำหลังวันเก็บอัฐิเลยก็ได้ แต่ที่นิยมคือครบ 100 วัน ถือโอกาสทำบุญรำลึกแล้วก็ไปทำพิธีกันนะ
แต่จากประสบการณ์แม่เราเสียตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครรู้เรื่องการจัดการนี้ ก็เก็บอัฐิไว้ที่บ้านโดยไม่รู้อะไร โตมามีเหตุให้ต้องย้ายบ้านเลยมีคนแนะนำว่า ให้ไปลอยอังคาร ก็ส่งพี่ชายไปเป็นตัวแทนทำพิธีคนเดียวก็ได้ เป็นต้น
แม้จะเป็นเรื่องเศร้า เหมือนเป็นเรื่องไม่มงคลที่ไม่มีใครอยากคิดถึง แต่ถ้ามีการเตรียมตัวไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาจริงจะลำบากเหมือนกัน ยังไงก็เก็บเอาไว้เป็นความรู้กันนะ