ซีโมนิดาแห่งไบแซนไทน์ ราชินีผู้ถูกข่มขืน ขณะอายุ 5 พรรษา
ในยุคกลางของยุโรป เหล่าเจ้าหญิง แม้ว่าจะมีชาติกำเนิดที่สูงส่ง มีราชทรัพย์ บริวารมากมาย แต่ถึงกระนั้นชะตาชีวิตส่วนใหญ่ของเจ้าหญิงก็ไม่ได้สวยงามเหมือนเจ้าหญิงดิสนีย์ เนื่องจาก กษัตริย์ยามมีพระบุตร ถ้าเป็นพระราชโอรสก็จะเป็นผู้สืบบัลลังก์ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นพระราชธิดา ก็ย่อมมีประโยชน์เช่นกัน ในบางครั้ง นักประวัติศาสตร์มองว่า เหล่าเจ้าหญิงจะเป็น “สิ่งที่เป็นประโยชน์” ต่อประเทศมากกว่าเหล่าเจ้าชาย เนื่องจากการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต การสร้างพันธมิตรผ่านสายสัมพันธ์ทางราชวงศ์ เป็นสิ่งที่การันตีความแนบแน่นของความเป็นพันธมิตรที่สุด ส่วนใหญ่เหล่าเจ้าหญิงจะเป็นตัวเชื่อมมิตรไมตรีอันดี เจ้าหญิงมีสิทธิเป็นพระราชินีของอีกประเทศหนึ่ง และให้กำเนิดทายาท สร้างความเป็นญาติกันสืบอีกหลายชั่วคน
มีเจ้าหญิงน้อยพระองค์ในประวัติศาสตร์ ที่เสกสมรสด้วยความรัก ส่วนมากจะเป็นการเสกสมรสเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของประเทศเสียมากกว่า เจ้าหญิงบางพระองค์ต้องพลัดถิ่นไปยังอาณาจักรที่ไม่คุ้นเคย ไร้ญาติขาดมิตรคอยช่วยเหลือ และบางครั้งอาจจะถูกทำร้ายทั้งกายและวาจาจากพระสวามี หรือ ราชวงศ์ที่แต่งเข้าไป กรณีของเจ้าหญิงแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่มีพระนามว่า ซีโมนิดา พาลาโอโลกินา (Simonida Palaiologina) ถือเป็นกรณีที่เห็นได้ชัด ในเรื่องราวที่น่าหดหู่ใจนี้
เจ้าหญิงซีโมนิดา พาลาโอโลกินา ประสูติที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ราวปีค.ศ. 1294 เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่งใน จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 พาลาโอโลกอส (Andronikos II Palaiologos) กับโยลันเดอแห่งมอนต์เฟร์ราท (Yolande of Montferrat) ซึ่งดำรงเป็นจักรพรรดินีไอรีน (Empress Irene) ในปีค.ศ. 1298 จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 พ่ายแพ้ในการสงครามกับราชอาณาจักรเซอร์เบีย ที่นำโดยกษัตริย์สเตฟาน มิลูติน (King Stefan Milutin) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดตราบเท่าที่มีมาในประวัติศาสตร์เซอร์เบียยุคกลาง การพ่ายแพ้ต่อเซอร์เบีย ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์จำต้องผูกมิตรกับเซอร์เบีย จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 ทรงเสนอให้กษัตริย์สเตฟาน มิลูตินอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาองค์หนึ่งองค์ใดของพระองค์ ทั้งๆที่กษัตริย์มิลูตินอภิเษกสมรสอยู่ก่อนแล้วกับพระนางอนา เตอร์เตอร์ (Ana Terter) เจ้าหญิงแห่งบัลแกเรีย พระราชธิดาของพระเจ้าซาร์จอร์จที่ 1 แห่งบัลแกเรีย (George I of Bulgaria)
ตอนแรก จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 2 จะเสนอให้กษัตริย์มิลูตินอภิเษกสมรสกับยูโดเกีย พาลาโอโลกินา (Eudokia Palaiologina) จักรพรรดินีม่ายแห่งเทรบิซอนด์ (Trebizond) พระขนิษฐาของพระองค์ แต่พระนางยูโดเกียปฏิเสธอย่างเด็ดขาด โดยที่พระเชษฐาไม่สามารถบังคับได้ ดังนั้นเจ้าหญิงซีโมนิดาจึงถูกเลือกเข้ามาในข้อตกลงแทน ฝ่ายศาสนจักรในคอนสแตนติโนเปิลต่อต้านแผนการนี้ แต่จักรพรรดิทรงมีพระประสงค์เช่นนั้น ในที่สุดก็ไม่มีใครทัดทานได้ จึงส่งเสนาบดีของพระองค์เดินทางไปเจรจาถึงเซอร์เบียในปี 1298 ทำให้กษัตริย์มิลูตินยอมรับข้อเสนออย่างกระหายในอำนาจ พระองค์รีบหย่าขาดจากพระราชินีอนา เตอร์เตอร์ พระมเหสีโดยทันที เพื่อให้ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงซีโมนิดา
เจ้าหญิงซีโมนิดา มีพระชนมายุ 5 พรรษา ในขณะที่กษัตริย์สเตฟาน มิลูตินมีพระชนมายุเกือบ 50 พรรษา และพระองค์เคยเสกสมรสมาก่อนหน้านี้ถึง 3 ครั้ง และมีพระโอรสธิดาที่เจริญพระชันษาหมดแล้ว พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดที่เมืองเทสซาโลนีกา (Thessalonica) ในฤดูใบไม้ผลิปี 1299 และทั้งสองพระองค์ก็เสด็จถึงเซอร์เบียในเดือนเมษายน เจ้าหญิงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเซอร์เบีย การอภิเษกสมรสครั้งนี้ จักรวรรดิไบแซนไทน์จะยอมรับอำนาจของเซอร์เบียในบริเวณทางตอนเหนือของเขตแดนเมืองโอครีด (Ohrid) – พรีเลป (Prilep) – สติป (Štip)
มีบันทึกของไบแซนไทน์ระบุว่า นับตั้งแต่อภิเษกสมรส กษัตริย์สเตฟาน มิลูติน ไม่ทรงรอให้พระราชินีซีโมนิดา เจริญพระชันษาในวัยผู้ใหญ่ พระองค์กลับขืนใจพระราชินีเด็กวัย 5 พรรษาหลายครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่กล่องพระสกุน (มดลูก) ของพระราชินี และทำให้ต่อมาพระราชินีซิโมนิดาไม่สามารถมีพระบุตรได้ เมื่อการตรวจของแพทย์หลวงระบุว่าพระราชินีซีโมนิดาไม่สามารถทรงครรภ์ได้ ข่าวคราวได้ล่วงรู้ไปถึงจักรพรรดินีไอรีน พระชนนีของพระนางซีโมนิดา แทนที่จะทรงหาทางช่วยเหลือพระราชธิดา พระนางกลับทรงกังวลว่าเลือดเนื้อเชื้อไขของพระนางไม่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทแก่เซอร์เบียได้ และพระโอรสองค์ที่สองของกษัตริย์มิลูติน ซึ่งลี้ภัยหลังขัดแย้งกับพระบิดายังคงมีสิทธิในบัลลังก์อยู่ จักรพรรดินีไอรีนจึงเสนอยกพระโอรสองค์หนึ่งของพระนาง ให้เป็นโอรสในกษัตริย์เซอร์เบีย เพื่อจะได้เป็นรัชทายาทสืบต่อ แต่กษัตริย์มิลูตินปฏิเสธความทะเยอทะยานของจักรพรรดินีไอรีนครั้งนี้
พระราชินีซีโมนิดา เจริญพระชันษา เป็นสตรีผู้ทรงสิริโฉม เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว แม้ว่าจะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ และพระนางทรงสนพระทัยในด้านการศาสนา ประสงค์ที่จะครองตนเป็นนักพรตหญิง หรือ แม่ชี หลังจากจักรพรรดินีไอรีน พระชนนีสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1317 พระราชินีซีโมนิดาในวัย 22 พรรษา เสด็จมาร่วมพิธีพระศพในคอนสแตนติโนเปิลและทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จกลับเซอร์เบีย เมื่อทหารของกษัตริย์มิลูตินมาตามพระองค์กลับ พระนางกลับออกมาพบด้วยฉลองพระองค์นางชี เหล่าทหารต่างตกตะลึงที่พระราชินีของตนละทิ้งทางโลกและลาภยศเสียสิ้น แต่ถึงกระนั้นเจ้าชายคอนสแตนตินอส พาลาโอโลกอส (Constantine Palaiologos) พระเชษฐาต่างมารดาของพระนางซีโมนิดา ได้จับพระนางถอดเสื้อผ้าของนางชีออก และให้สวมชุดฆราวาส จากนั้นก็ให้พระนางเดินทางไปกับทหารเซอร์เบีย แต่พระนางไม่เต็มพระทัยที่จะไป เพราะทรงชิงชังในกษัตริย์ที่ทำร้ายพระนางมาตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นกษัตริย์มิลูตินขู่ว่าจะประกาศสงคราม จึงทำให้พระราชินีต้องยินยอมเสด็จกลับเซอร์เบีย
กษัตริย์มิลูติน ในวัยชราทรงพระชวรหนักในปี 1321 เหล่าข้าราชสำนักต่างตกใจ เมื่อพระราชินีซีโมนิดาเสด็จมาอภิบาลข้างแท่นบรรทมของกษัตริย์มิลูตินตลอดเวลา พระราชินีทรงใช้ความเมตตาและการให้อภัย ดูแลอภิบาลกษัตริย์สเตฟาน มิลูติน พระสวามีจนวาระสุดท้าย กษัตริย์สวรรคตในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1321 สิริพระชนมายุ 68 พรรษา ในวันที่ 29 ตุลาคม พระนางซิโมนิดาเสด็จกลับคอนสแตนติโนเปิล ราชบัลลังก์เซอร์เบียตกแก่ กษัตริย์สเตฟาน เดคานสกี (Stefan Dečanski ) พระโอรสผู้ทรยศของกษัตริย์มิลูติน พระนางซิโมนิดาเข้าสู่ทางธรรมที่วิหารเซนต์แอนดรูว์ในครีเซ (Saint Andrew in Krisei) ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแม่ชี
หลังจากนั้นเรื่องราวของพระนางซีโมนิดา อดีตพระราชินีเซอร์เบียก็มีบันทึกถึงน้อยมาก และเป็นที่ทราบว่าพระนางทรงดำเนินการประพันธ์เพลงงานพระบรมศพของพระราชบิดาด้วยพระองค์เอง มีการกล่าวถึงพระนางซีโมนิดาครั้งสุดท้ายในปีค.ศ. 1336 ในฐานะที่ทรงเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมสภาพลเรือนและศาสนาซึ่งเป็นกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดต่อต้านรัฐบาลของจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 พาลาโอโลกอส (Andronikos III Palaiologos) ผู้เป็นหลานของพระนาง และมีบันทึกว่าพระนางคงสิ้นพระชนม์หลังปี ค.ศ. 1336
ถึงกระนั้น พระนางซีโมนิดาทรงมีคุณูปการต่อเซอร์เบีย โดยทรงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมแบบไบแซนไทน์ในราชสำนักเซอร์เบีย ด้วยคณะผู้ติดตามชาวกรีกของพระนางที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงเซอร์เบีย พระนางทรงดำเนินการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น พิธีกรรมแบบไบแซนไทน์ การแต่งกายแบบไบแซนไทน์ที่เอามาปรับใช้ ระบบการบริหาร ระบบการคลังและสถาบันทางกฎหมายของเซอร์เบียได้ดำเนินตามแบบของไบแซนไทน์ ทำให้เซอร์เบียจึงถูกกลืนทางวัฒนธรรมโดยไบแซนไทน์ ซึ่งกษัตริย์มิลูตินก็ทรงยินดีต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
นักดาราศาสตร์ชาวเซอร์เบีย ชื่อ มิโลรัด บี. โปรติก (Milorad B. Protić) ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อย ในปีค.ศ. 1938 และตั้งชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อย 1675 Simonida เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชินีซีโมนิดา