เนียงต็วลสัตรา ตำนานปราสาทบ้านพลวง (อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์)
ตำนานปราสาทบ้านพลวง เป็นตำนานเก่าแก่ นิทานเรื่องนามผมหอม “เนียงต็วลสัตรา” เป็นนิทานในตำนานของปราสาทบ้านพลวง นิทานเรื่องนี้ เป็นวรรณคดีภาษาถิ่นอีสาน ได้มีเค้าโครงมาจากนิทานชาดก ซึ่งนิทานเรื่องนางผมหอมนี้ มีการเล่าตามท้องถิ่นต่างๆ ในท้องถิ่นไทยเลย ในท้องถิ่นตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีการเล่าสืบทอดกันมาเช่นกัน และมีหลักฐาน ข้อสันนิษฐานยืนยันว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ที่น่าเชื่อถือได้
ตามตำนานเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหญิงยากจนคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ทุกๆ วัน นางจะออกไปขุดเผือกขุดมันในป่า อยู่มาวันหนึ่ง นางไปขุดเผือกขุดมันกับเพื่อน ๆ ๔-๕ คน ทุกคนเตรียมน้ำดื่ม ใส่กระบอกไม้ไผ่ไปด้วย เมื่อขุดเผือกขุดมันได้มาก ก็เตรียมตัวจะกลับบ้าน ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มฝนทำท่าจะตก นางจึงเทน้ำในกระบอกทิ้ง เพื่อจะรองเอาน้ำฝนมาดื่ม แต่ฝนกลับไม่ตก ขณะเดินทางกลับ นางหิวน้ำมาก ขอน้ำเพื่อบ้านดื่มเขาก็ไม่ให้ นางจึงเดินหาน้ำไปเรื่อยๆ พอดีไปพบน้ำปัสสาวะของช้างเผือก ด้วยความกระหาย จึงก้มลงวักน้ำดื่มอย่างรวดเร็ว ต่อมาไม่นานนัก นางก็ตั้งครรภ์ แล้วคลอดลูกเป็นผู้หญิง เมื่อเด็กหญิงโตขึ้น ก็ไปเล่นกับเพื่อนบ้าน เพื่อน ๆ ล้อว่า เป็นลูกไม่มีพ่อ
เย็นวันหนึ่ง ลูกสาวร้องไห้ วิ่งกลับบ้านมาถามแม่ว่า “ทำไมเพื่อนล้อว่าข้าไม่มีพ่อ พ่อของข้าเป็นใคร” ลูกสาวถามอย่างนี้วันละหลายครั้ง ฝ่ายแม่ทนรบเร้าไม่ได้ จึงบอกลูกสาวว่า “พ่อของเจ้าคือพญาช้างเผือก”
วันหนึ่ง ลูกสาวแอบหนีแม่ไปตามหาพ่อ เมื่อเดินทางเข้าไปในป่า ไม่นานนักก็เจอวัวป่า เด็กหญิงจึงถามวัวป่าว่า “พบพ่อข้าไหม” “พ่อของเจ้าเป็นใคร” วัวป่าถาม “พ่อของข้าเป็นพญาช้างเผือก” เด็กหญิงตอบตามคำบอกเล่าของแม่ “ไปไกล ๆ ข้าไม่รู้ เดี๋ยวขวิดไส้ทะลัก เลือดหยดหนึ่งก็ไม่ให้ตกถึงดินนะ” วัวป่าไล่เด็กหญิงให้หนี เด็กหญิงเดินทางต่อไปอีกไม่ไกลนัก ก็พบกับควายป่า “เห็นพ่อของข้ามาทางนี้ไหม” เด็กหญิงเอ่ยถามควาย หวังจะได้รับคำตอบที่พอใจ แต่แล้วก็ได้รับการไล่ตะเพิดหนีอีกครั้ง เด็กหญิงเดินคอตก หนีควายป่าไปพบกับช้างป่า แล้วก็ถามคำถามเดิม และได้คำคำตอบจากช้างป่าว่า พ่ออยู่ในป่าลึกอีกด้านหนึ่ง แม้กระนั้นก็ตาม เด็กหญิงก็ไม่ท้อใจ คงดั้นด้น เดินเข้าไปในป่าลึก
ต่อมาไม่นานนัก จึงได้พบพญาช้างเผือกสมดังใจปรารถนา แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่า พญาช้างเผือกนั้นคือพ่อของตน จึงใช้คำถามเดิมถามพญาช้างเผือกว่า “เห็นพ่อของข้าไหม” “พ่อของเจ้าเป็นใคร” พญาช้างเผือกถามอย่างสนใจ “พ่อของข้าเป็นพญาช้างเผือก อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้” เด็กหญิงตอบ พร้อมจ้องมองหน้าพญาช้างเผือก “เออ ถ้าเจ้าเป็นลูกของข้าจริงให้ขึ้นขี่คอข้า ถ้าข้าสะบัดหลุด แสดงว่าไม่ใช่ลูกของข้า หากไม่หลุด แสดงว่าเป็นลูกของข้า ถ้าผลการพิสูจน์ปรากฏว่า เป็นลูกของข้าจริง ข้าจะพาเจ้าไปอยู่ในปราสาท”
เมื่อพญาช้างเผือกสร้างเงื่อนไข และให้สัญญาอย่างนี้แล้ว พลันก็ให้เด็กหญิงขึ้นขี่คอ แล้วสะบัดอย่างแรง เด็กหญิงไม่หลุดตกจากคอช้างแต่อย่างใด พญาช้างเผือก จึงพาลูกสาวไปอยู่ปราสาทกลางป่าลึก ส่วนอาหารการกิน พญาช้างเผือก ได้เก็บผลไม้ป่ามาให้ลูกกินทุกวัน
กาลต่อมา ลูกสาวพญาช้างเผือกเติบโตเป็นสาว สวยสะพรั่งตา มีผมยาวสลวย วันหนึ่งพญาช้างเผือก กลับมาจากเก็บผลไม้และดอกไม้ ที่มีกลิ่นหอมนานาพรรณ แล้วเรียกลูกสาว พร้อมกับกล่าวว่า “เนียงต็วลสัตรา ตำเลียะเซาะ โมเอิวอ็อบปกาออย” “นางตวลสัตรา ปล่อยผมมา พ่อจะอบดอกไม้ให้ลูก” พญาช้างเผือกจะอบผมให้ลูกสาวทุกๆ วัน จนผมของนาง มีกลิ่นหมอตลบอบอวลไปไกล พ่อจึงตั้งชื่อลูกสาวว่า “นางผมหอม”
อยู่มาวันหนึ่งมีข่าวเล่าลือว่า มีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่ง อาศัยอยู่ในปราสาทกลางป่าลึก กับลูกสาวคนหนึ่ง ซึ่งนางนั้นมีผมหอม เป็นที่ร่ำลือของชาวบ้านที่ออกไปหาของป่า และได้พบนางกลางป่าลึก พญาช้างเผือกหวงลูกสาวมาก จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ปราสาทแห่งนั้น ข่าวลือ ได้ยินถึงเจ้าชายแห่งเมือง “เทวานิเวศ”
วันต่อมา เจ้าชายเสด็จประพาสป่า และแอบทอดพระเนตรอยู่ห่าง ๆ ปราสาท เพื่อพิสูจน์ข่าวลือนั้นเป็นจริงแท้ประการใด สักครู่ พญาช้างเผือก ก็นำผลไม้มาให้ลูกสาวกิน และนำดอกไม้หอม มาอบผมให้ ส่วนเจ้าชาย ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงตรัสให้ทหารไปแอบฟังว่า พญาช้างเผือก จะพูดกับลูกสาวว่าอย่างไรบ้าง เพื่อจะจำมากราบทูลให้พระองค์ตรัสถาม พญาช้างเผือก ได้ทำหน้าที่ของตนเสร็จ แล้วก็ออกป่า เจ้าชายจึงสวมรอยเป็นพญาช้างเผือก เรียกนางผอมหอม โดยเลียนเสียงและคำพูดของพญาช้างเผือก ทันทีที่ตรัสจบ นางก็ปล่อยผมยาวสยายออกมา เจ้าชายจึงดึงผมของนางไว้ และตรัสให้เปิดประตูปราสาท นางก็ยอมเปิดให้โดยดี เมื่อก้าวพ้นออกมาจากประตู แทนที่จะได้พบพ่อเช่นเคย แต่ต้องพบผู้ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำให้เกิดอาการพิศวง งงงวย เล็กน้อย เมื่อทั้งสองพูดคุยกัน จนเป็นที่เข้าใจดีแล้ว นางก็มีจิตพิสมัยต่อเจ้าชายเช่นกัน เจ้าชายทรงพานางผมหอม เข้าไปอยู่ในเมืองด้วยกัน
กล่าวถึงพญาช้างเผือก เมื่อกลับมาจากเก็บดอกไม้ผลไม้ ตามปกติ ก็เรียกลูกสาวให้ออกมารับ แต่ก็เงียบกริบ จึงตัดสินใจพังประตูปราสาทเข้าไป แต่หาพบนางไม่ พญาช้างเผือกเศร้าสลดเสียใจมาก เกิดอาการคลุ้มคลั่ง วิ่งชนบ้านเรือนและต้นไม้ ล้มระเนระนาด ปากก็พร่ำร้องเรียกหาแต่ลูกสาว
"เนียง ตวน สตรา , เนียง ตัน เลียะ เสาะ รา ออย , เออว อ๊อบ ปกา ออย , เออว อ๊อบ เตียง มุข , เออว อ๊อบ เตียง กรอย , เออว อ๊อบ ปกา ออย ออย เนียง ตวน สตรา “
พ่อพญาช้างเผือก ร้องเรียก ลูกสาวอยู่อย่างนั้นจนขาดใจตาย แต่ “เนียงตวนสตรา” ก็มิได้หวนกลับคืนมาดูพ่อยังปราสาท เพราะคิดว่าพ่ออยู่สุขสบายดีแล้ว พ่อพญาช้างเผือก ร้องเรียกหาลูกสาวอยู่หน้าปราสาท จนขาดใจตายในที่สุด
ปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นศาสนสถานขนาดเล็ก หรือสรุก จำนวน 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างตามแบบศิลปะแบบบาปวน สร้างด้วยหินทรายสีขาวบนฐานศิลาแลง ล้อมรอบด้วยคูน้ำรูปตัวยู องค์ปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 x 4 เมตร ฐานศิลาแลงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดประมาณ 8 x 23 เมตร สันนิษฐานกันว่า ด้วยฐานศิลาแลงขนาดใหญ่เพียงนี้ จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะมีความตั้งใจสร้างให้มีปราสาท 3 องค์ บนฐานเดียวกัน แต่คงมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงคราม โรคระบาด ความแห้งแล้ง จึงส่งผลให้การสร้างปราสาทชะงักไป
ปราสาทมีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว อีกทางด้านเป็นประตูหลอก ทับหลังด้านตะวันออกและด้านใต้ สลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังด้านทิศเหนือ สลักเป็นภาพพระศิวะปราบนาคกาลิยะ ส่วนทับหลังด้านตะวันตก ยังไม่ได้สลักภาพใดๆ
ปราสาทบ้านพลวง เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ สังเกตได้จากภาพแกะสลักยังไม่เสร็จ โดยภาพส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องราวของเทพปกรณัม ในลัทธิไศวะนิกาย แต่มีการสลักภาพสัตว์ เช่น สลักภาพกระรอกกระแต และกวางป่า ไว้เหนือใบระกา ด้านต่อดอกพันธุ์พฤกษา ซึ่งไม่ปรากฏในปราสาทแห่งใด
ปราสาทบ้านพลวง ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2514 - 2516 ด้วยวิธีอนัสติโลซีส คือการรื้อมาและประกอบเป็นจิกซอว์ขึ้นใหม่ เสริมโครงสร้างและรากฐานใหม่ หินส่วนไหนขาด ก็เติมหินเข้าไปใหม่ให้สมบูรณ์ โดยไม่ขัดกับลวดลายและศิลปะเดิมของปราสาท โดยนายแวนส์ เรย์ ซิลเดรส นักศึกษาปริญญาเอก แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา
อ้างอิงจาก: ตำนานปราสาทบ้านพลวง
เนียงต็วลสัตรา ตำนานปราสาทบ้านพลวง (อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์)
pantip.com
วิกิพีเดีย