“โกเบคลี เทเป” (Gobekli Tepe) วิหารแห่งแรกของโลก
โกเบคลี เทเป (Gobekli Tepe) แหล่งโบราณคดีในจังหวัดซานลิอูร์ฟา (Sanliurfa) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ ตุรกี ถูกค้นพบเมื่อกลางทศวรรษ 1990 แล้วสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ในแวดวงโบราณคดี และมานุษยวิทยาทันที ทำให้แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สุด ในการศึกษาพัฒนาการ ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ต่อมา โกเบคลี เทเป ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” โดยองค์การยูเนสโกในปี 2018 และเชื่อว่า เป็น “วิหารแห่งแรกของโลก”
ปี 1995 เคลาซ์ สมิธ (Klaus Schmidt) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีชาวเยอรมัน และทีมงานอีกจำนวนหนึ่ง โดยความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์ซานลิอูร์ฟา ทำการสำรวจพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ห่างออกไปราว 6 ไมล์ จากเมืองอูร์ฟา (Urfa) เมืองหลักของจังหวัดซานลิอูร์ฟา พื้นที่แถบนี้ ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค เมโสโปเตเมียตอนบน หรืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรตีส (Tigris–Euphrates) 1 ใน 4 อารยธรรม ลุ่มแม่น้ำสำคัญ ของโลกยุคโบราณ
การขุดค้นโดยทีมงาน ของศาสตราจารย์ เคลาซ์ สมิธ นำไปสู่การค้นพบโกเบคลี เทเป พวกเขาพบสิ่งปลูกสร้างโครงสร้างหิน ฝีมือมนุษย์ยุคโบราณ ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 ฟุต ก่อนเรียกโบราณสถานนี้ว่า “โกเบคลี เทเป” แปลว่า พ็อตเบลลี่ ฮิลล์ หรือ “เนินท้องโต” ในภาษาตุรกี ตามลักษณะที่ตั้งบนเนินเขานั่นเอง
โกเบคลี เทเป มีลักษณะเป็นหินสลักขนาดใหญ่ และเสารูปตัวที (T) ตั้งเรียงรายเป็นวงกลม บางเสาสูงถึง 6 เมตร และมีน้ำหนักถึง 200 ตัน การขุดค้นครั้งแรก พบเสาหินจำนวน 43 ต้น สันนิษฐานว่า หินเหล่านี้ถูกขุด ตัด และขนย้ายมาจากเหมืองหิน จากเนินเขาอีกแห่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของที่ตั้งของโบราณสถานนี้
เสาหินแต่ละต้น มีรูปสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีทั้ง สุนัขจิ้งจอก สิงโต วัว แมงป่อง งู หมูป่า แร้ง นกน้ำ แมลง รวมถึงมนุษย์ (ในลักษณะของหญิงเปลือย) บางเสา แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม แต่บางเสา ว่างเปล่า ไม่ถูกสลัก ทั้งนี้ ไม่มีสัญลักษณ์ที่สื่อว่า เป็นตัวอักษร หรือรูปแบบการเขียนบันทึก มีเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ที่อาจเข้าใจได้ว่า หมายถึงเทพเจ้า
จากเสากลุ่มแรกที่ขุดค้นเจอ นักโบราณคดีเชื่อว่า เสาเหล่านี้ สามารถรองรับหลังคา ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 10 – 30 เมตร แต่ภายหลังการสำรวจทางธรณีวิทยา บนพื้นที่เนินเขานั้น มีการเปิดเผยว่า ใต้พื้นดินรอบ ๆ บริเวณนั้น ยังมีเสาหินอีกกว่า 250 ต้น โดยเป็นโครงสร้างแบบเดียวกันนี้ จำนวนถึง 16 ส่วน/วงด้วยกัน จากลักษณะและโครงสร้างดังกล่าว นักโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า โกเบคลี เทเป เป็น “วิหาร” หรือ “ศาสนสถาน” สำหรับประกอบพิธีกรรมของชุมชนแถบนั้น
เมื่อทีมนักโบราณคดี พิสูจน์อายุการก่อสร้าง ทำให้ทราบว่า โกเบคลี เทเป สร้างขึ้นในยุคหินใหม่ มีอายุราว 11,000-12,000 ปี หรือ 1 หมื่นปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเก่าแก่ที่สุด ในบรรดาศาสนสถานที่ถูกค้นพบ วิหารแห่งนี้ จึงเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หรือ “วิหารแห่งแรกของโลก” (The World’s First Temple) นั่นเอง
เพื่อให้เห็นภาพความเก่าแก่ของโกเบคลี เทเป ชัดเจนขึ้น เราสามารถเทียบเคียงอายุของวิหารแห่งแรกของโลก กับอารยธรรมอื่น ๆ เช่น อารยธรรมอียิปต์โบราณ (Ancient Egyptian, 3,200 ปีก่อนคริสตกาล) ในทวีปแอฟริกา อารยธรรมสุเมเรียน (Sumerian, 3,500 ปีก่อนคริสกาล) ในภูมิภาคเมโสโปเตเมียตอนใต้ ซึ่งเป็นอารยธรรมแรกที่ใช้ตัวอักษร หรือเทียบกับสิ่งปลูกสร้าง ลักษณะใกล้เคียงกัน อย่างสโตนเฮนจ์ (Stonehenge, 2,000-3,000 ปีก่อนคริสกาล) บนเกาะอังกฤษ จะเห็นว่า ความเก่าแก่ของโกเบคลี เทเป ยังคงทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น
จากความเก่าแก่นี้ ทั้งงานประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ทุกสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้น เป็นวิหารโกเบคลี เทเป ล้วนเกิดขึ้น ก่อนมนุษย์รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา การถลุงโลหะ การประดิษฐ์ตัวอักษร การใช้ล้อ และอาจรวมถึงความรู้ ในการทำเกษตรด้วย สิ่งนี้ สร้างความประหลาดใจ ให้แก่นักโบราณคดี-นักวิชาการเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการหักล้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างทางความเชื่อ หรือศาสนสถานในอดีต ที่เดิมเชื่อว่า จะพบเฉพาะในชุมชนขนาดใหญ่ ที่พัฒนาเป็นสังคมเกษตรกรรมแล้วเท่านั้น
ปัจจัยสนับสนุนทฤษฎี การเป็น “วิหารแห่งแรกของโลก” ที่เกิดก่อนมนุษย์ รู้จักทำการเกษตรคือ นักสำรวจ ไม่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน หรือชุมชนโบราณบริเวณนั้นเลย ไม่มีร่องรอยสิ่งของ เครื่องมือ-เครื่องใช้ หรือเตาสำ หรับประกอบอาหาร พบเพียงชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ มากกว่าแสนชิ้น มีรอยตัดและกระแทกด้วยของมีคม ที่บ่งชี้ว่า สัตว์เหล่านี้ ถูกชำแหละ หรือปรุงสุกก่อนบริโภค
ในบรรดากระดูกที่พบ ล้วนเป็นสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง (เกิน 60% ) หมูป่า แกะ และกวางแดง รวมถึงนกสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น แร้ง กระเรียน เป็ด และห่าน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ชุมชนที่สร้างโกเบคลี เทเป เป็นกลุ่มนักล่า หรือกลุ่มพรานป่า มากกว่าที่จะเป็นเกษตรกร นักเพาะปลูก ที่มีปศุสัตว์เป็นของตนเอง
นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ สามารถพัฒนาจากสังคมล่าสัตว์ มาสู่สังคมเกษตรกรรมแล้ว ระหว่าง 10,000-12,000 ปีมาแล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลา ที่สร้างโกเบคลี เทเป อีกทั้งการไม่พบเครื่องมือเกษตรกรรม ไม่ได้แปลว่า มันไม่เคยมีอยู่ ข้อพิสูจน์อันชัดเจนว่า ชุมชนที่สร้างวิหารแห่งแรกของโลก เป็นชุมชนพรานป่าขนาดใหญ่ ที่ยังไม่รู้จักการเพาะปลูก หรือเป็นชุมชนเกษตรกรรมกลุ่มแรก ๆ จึงไม่สามารถฟันธงได้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าโกเบคลี เทเป ถูกสร้าง เพื่อการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ หรือทางศาสนาของมนุษย์ยุคโบราณอย่างแน่นอน และมีวัตถุประสงค์ เพื่อการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทวยเทพ หรือพระเจ้าของพวกเขา ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ เป็นรากฐานสำคัญ ในแวดวงมานุษยวิทยา สำหรับการศึกษาพัฒนาการทางความเชื่อ และการเกิดศาสนา ในสังคมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
เพราะสถานะ “วิหารแห่งแรกของโลก” ถึงกับทำให้นักวิชาการบางคนอ้างว่า โกเบคลี เทเป เป็นที่ตั้งของสวนเอเดน (Garden of Eden) ในพระคัมภีร์ไบเบิลเลยทีเดียว แต่ใครจะรู้ อาจมีสิ่งปลูกสร้างทางศาสนสถาน ที่เก่าแก่กว่าโกเบคลี เทเป ซ่อนอยู่ใต้ชั้นดินบางแห่ง และรอการค้นพบอยู่อีก ก็เป็นได้