ประวัติศาสตร์แผ่นดินไหวในประเทศไทย
“แผ่นดินไหว” (Earthquake) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันของเปลือกโลก ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งอาจเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลัง การระเบิดของภูเขาไฟ หรือแม้แต่การยุบตัวของเปลือกโลก โดยแรงสั่นสะเทือนสามารถส่งผลกระทบทั้งในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม และชีวิตผู้คน
แม้ในภาพจำของสังคมไทย แผ่นดินไหวอาจดูเหมือนเป็นภัยพิบัติที่ห่างไกล และไม่รุนแรงเทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่น หรืออินโดนีเซีย
แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนทำให้เมืองล่มสลาย และได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวหลายครั้ง
วันนี้ ทางเราจะพาท่านย้อนเรื่องราวของประวัติศาสตร์แผ่นดินไหวในประเทศไทยกันครับ
_____________________________________________
1. เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวโยงกับแผ่นดินไหวอย่างเด่นชัดเลยก็คือ “อาณาจักรโยนกเชียงแสน” หรือ "โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น" โดยโยนกเป็นอาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทย ปัจจุบันคือพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตามตำนานสิงหนวัติ เจ้าชายสิงหนวัติจากเมืองราชคฤห์ในอินเดีย (มาไกลเชียว...) ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้และสถาปนาเมืองโยนกนาคพันธุ์ขึ้น
2. อาณาจักรโยนกเชียงแสนมีความรุ่งเรืองและมีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมาหลายพระองค์ อย่างไรก็ตาม อาณาจักรแห่งนี้ได้ล่มสลายลง ตามตำนานเวียงหนองล่มเล่าว่า ชาวเมืองจับปลาไหลเผือกยักษ์จากแม่น้ำกกและนำมาแบ่งกันกินทั่วเมือง หลังจากนั้น เมืองนี้ได้เกิดภัยพิบัติฟ้าคะนองและแผ่นดินไหวถึงสามครั้ง จนทำให้ทั้งเมืองกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ส่วนชาวเมืองที่เหลืออยู่ก็ได้รวมตัวกันสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง มีชื่อว่า “เวียงเปิ๊กษา” หรือ “เวียงปรึกษา”
3. นักวิชาการสันนิษฐานว่า เหตุการณ์ล่มสลายของโยนกเชียงแสนมาจากแผ่นดินไหว เนื่องจากพื้นที่เวียงหนองหล่ม ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเมืองโยนก ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนมีพลังซึ่งยังคงก่อให้เกิดแผ่นดินไหวจนถึงปัจจุบัน
4. ส่วนในสมัยอยุธยา มีหลักฐานที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้ง แม้ไม่ได้ระบุระดับความรุนแรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนในยุคนั้นเผชิญอยู่บ่อยครั้ง โดยหลักฐานชิ้นสำคัญคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ทั้งหมด 5 ครั้ง ได้แก่
▪️ครั้งที่ 1 ปี 2068 (ค.ศ. 1525) รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยระบุว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกเมือง พร้อมเหตุอุบาทว์หลายประการ เช่น ช้างต้นงาแตก, บัตรสนเท่ห์ข่าวลือ, ภัยแล้ง, ข้าวสารแพง และ “อินทรธนู” (บางแหล่งแปลว่าสายรุ้ง แต่ในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไทตีความว่าเป็นดาวหาง) หลังเกิดเหตุเหล่านี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสวรรคตในปี 2072 (ค.ศ. 1529)
▪️ครั้งที่ 2 ปี 2089 (ค.ศ. 1546) รัชกาลสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า โดยระบุว่า หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าขึ้นครองราชย์ และในปีนั้นก็เกิดแผ่นดินไหว ต่อมา พระองค์ทรงถูกแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ลอบปลงพระชนม์ และตั้งขุนบรมวงศาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์
▪️ครั้งที่ 3 ปี 2127 (ค.ศ. 1584) รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช โดยระบุว่า ขณะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยการศึกพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เกิดลางร้ายคืองาช้างต้นสองตัวชนกัน และเมื่อแวะพักทัพ ณ เมืองกำแพงเพชร ก็เกิดแผ่นดินไหว หลังจากนั้นพระองค์ทรงถูกฝั่งพม่าปองร้าย (ตามหลักฐานทางฝั่งไทย)
▪️ครั้งที่ 4 ปี 2131 (ค.ศ. 1588) รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ระบุเพียงว่าวันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือนสิบสอง จ.ศ. 950 มีแผ่นดินไหว
▪️ครั้งที่ 5 ปี 2133 (ค.ศ. 1590) รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช โดยพงศาวดารระบุว่าในปีนั้นข้าวแพงและเกิดแผ่นดินไหว ถัดมาอีก 6 เดือน พระองค์ก็เสด็จสวรรคต
5. เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เรื่องแผ่นดินไหวในสมัยอยุธยา มักเกิดควบคู่กับภัยพิบัติและเหตุบ้านการเมือง จนถูกมองว่าเป็น “ลางร้าย” ที่ประกอบอยู่ในเหตุการณ์อุบาทว์สำคัญต่าง ๆ
6. ซึ่งฝั่งล้านนาก็มีบันทึกถึงแผ่นดินไหวฐานะลางร้ายด้วยเช่นกัน โดยในปี 2088 (ค.ศ. 1545) สมัยพระนางจิระประภามหาเทวี โดยหลังพระไชยราชาธิราชมีชัยเหนือเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังลง
หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงก็ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 400 ปี โดยชาวล้านนาเชื่อว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นเป็นลางอัปมงคล เพราะตลอดรัชกาลพระนางจิระประภาเกิดศึกสงครามทั้งกับพม่าและอยุธยาหลายครั้ง คนในบ้านเมืองก็หมดขวัญกำลังใจ จนท้ายที่สุด พระองค์เสด็จไปพำนักที่ล้านช้างกับพระไชยเชษฐา ผู้เป็นหลาน
7. หากความเชื่อเรื่องแผ่นดินไหวในฐานะลางร้ายก็ได้หายไปจากทัศนะของคนไทย เมื่อได้รับความรู้จากโลกตะวันตกว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณธรรมผู้ปกครอง เห็นได้จากเมื่อปี 1883 เกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟกรากะตัวระเบิดที่ประเทศอินโดนีเซีย (ขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของดัตช์) แรงระเบิดมหาศาลทำให้เถ้าถ่านหลายล้านตันบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิด เสียงระเบิดดังไปไกล และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสึนามิและแผ่นดินไหว
8. เหตุการณ์นี้ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” (ต่อมาคือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ขณะทรงบรรพชาอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมืองอยุธยา ได้เล่าว่า ทรงได้ยินเสียงดังกึกก้องคล้ายปืนใหญ่ยิงจากระยะไกล ตามมาด้วยแสงแดดสีเขียวตลอดทั้งวัน สร้างความพิศวงไปทั่วบริเวณ จนกระทั่งหลายวันต่อมา จึงทราบว่าเป็นผลจากการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ซึ่งสร้างความเสียหายระดับโลก และส่งผลกระทบถึงไทย
9. ต่อมา เมื่อโลกวิทยาศาสตร์ในไทยก้าวหน้า กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ซึ่งทำหน้าที่บันทึกและรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็สามารถบันทึกเหตุการณ์ระดับเล็กถึงปานกลางในประเทศได้ โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดที่เคยตรวจวัดได้ในประเทศไทย คือ แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อปี 2557 โดยมีจุดศูนย์กลางที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
10. ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุด ก็คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่ชายฝั่งตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2547 (ค.ศ. 2004) ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ทั่วมหาสมุทรอินเดีย และสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล
11. หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านภัยพิบัติธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤต เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภทภายในประเทศ
12. และในปี 2552 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ตั้ง “สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว” มีภารกิจในการเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการตรวจจับแรงสั่นสะเทือนจากทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวของประเทศ โดยมีสถานีติดตั้งทั่วประเทศและเชื่อมโยงสัญญาณแบบเวลาจริงกับสถานีต่างประเทศนับร้อยแห่ง
12. จนมาในวันนี้ ได้เกิดแผ่นดินไหวที่พม่า ซึ่งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย รู้สึกถึงแรงสั่นไหวอย่างชัดเจน
✴️อันตรายหลังจากนี้อาจมาในรูปแบบใด?
อาคารสูงที่มีโครงสร้างเปราะบาง เช่น คอนโดและโรงแรม อาจได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวระลอกแรกและยังไม่สามารถซ่อมแซมทัน ทำให้มีโอกาสเป็นอันตราย
✴️จะป้องกันตัวอย่างไร?
หากท่านมีความจำเป็นต้องอยู่ในอาคารสูงในช่วงนี้
1. ให้ตรวจสอบอาคารที่อยู่ว่ามีรอยร้าวหรือไม่
2. หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์
3. ตรวจสอบทางหนีไฟไว้ก่อน หากพบการสั่นไหวให้มุ่งไปที่ทางหนีไฟซึ่งมักมีโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดของอาคาร
4. ระวังสิ่งของที่อาจตกหล่น ให้หลีกห่างอาคารสูง แต่หากท่านต้องกลับเข้า ให้ตรวจสอบอาคารให้แน่ใจว่าไม่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม
...มีความห่วงใยทุกท่าน ขอให้ทุกท่านตั้งอยู่ในสติ และสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัยครับ ✌️





















