6 สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ รู้ก่อน ป้องกันได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่พุ่งขึ้นมาติดอันดับต้น ๆ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยจากสถิติพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพศชาย 10 คนต่อประชากรชาย 100,000 คน เพศหญิง 7 คนต่อ 100,000 คน แต่มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้หากรู้สัญญาณ การสังเกตอาการ และ วิธีป้องกันตัวเอง
6 สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้
1.ท้องผูกบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ บางคนมีปัญหาเรื่องท้องผูก อาจเป็นเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่กินผักผลไม้ ร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์เพียงพอ และ ดื่มน้ำน้อย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ดี แต่ในบางคนอาจมีอาการท้องผูกเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตในวัยทำงาน ปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรังจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต พฤติกรรมนี้คือ สัญญาณหนึ่งที่บอกว่ามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
2.อุจจาระลีบเป็นลำเล็ก เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากการมีติ่งเนื้อขึ้นมาในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นติ่งเนื้อธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แล้วจึงพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง การมีติ่งเนื้อขึ้นขวางภายในลำไส้นี้จึงทำให้อุจจาระที่เคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่มีลักษณะถูกบีบให้เป็นลำเล็กลีบ ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าอุจจาระมีลักษณะเล็กลีบเป็นประจำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้
3.มีเลือดสด หรือ เลือดสีแดงเข้มมาก ปนมากับอุจจาระ อาจเกิดจากอุจจาระที่แข็งเมื่อเบียดกับติ่งเนื้อที่ขึ้นผิดปกติภายในลำไส้เกิดเป็นแผลทำให้มีเลือดออก ปนออกมาในบางครั้งที่ขับถ่าย
4.มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก การอุจจาระแข็งและเหลวสลับกัน เป็นติดต่อกันแบบมีอาการเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะกินอาหารที่เหมาะสมไม่ได้เป็นสาเหตุให้ท้องเสียก็ยังมีอาการนี้ อาจเป็นความผิดปกติที่เกิดจากภายในลำไส้
5.กินอาหารเท่าเดิมแต่น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบเดิมหรือมากกว่าเดิม
6.อ่อนเพลีย อ่อนแรง แบบไม่มีสาเหตุ อาจเกิดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระ หากเสียเลือดจากการขับถ่ายมากอาจมีภาวะซีด และ โลหิตจางร่วมด้วย ยิ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียอ่อนแรงต่อเนื่อง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
1.อายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสูงขึ้นเมื่ออายุเกิน 45 ปี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบในคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น
2.พันธุกรรมและประวัติครอบครัว หากมี พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติสายตรง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โอกาสเกิดโรคจะสูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มที่มีภาวะทางพันธุกรรมผิดปกติ จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป
3.โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง จะมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นกว่าปกติ
4.อาหารและการบริโภค การกิน อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะจาก เนื้อแดง อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม มีข้อมูลว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงอาหารปิ้งย่าง หรือ ไหม้เกรียม ซึ่งมีสารกระตุ้นมะเร็งก็พบว่าเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน
5.พฤติกรรมการใช้ชีวิต การขาดการออกกำลังกาย และ ภาวะน้ำหนักเกิน อาจส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ได้
การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
มุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางหลัก ๆ ดังนี้
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
- ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารแปรรูป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หยุดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือ ผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่อาจพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากขึ้น หรือ มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เหมาะสม หมั่นสังเกตความผิดปกติของอุจจาระ การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีข้อบ่งชี้ จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม ลดอัตราการเสียชีวิตได้




