ทำไมอาหารใต้จึงต้องเผ็ดร้อน?
ทำไมอาหารใต้จึงต้องเผ็ดร้อน?
มื้อเที่ยงที่เพิ่งผ่านไป ขอบอกเลยว่าต้องร้อง โอ้โห กันเลยทีเดียว เนื่องจากการที่ขับรถผ่านร้านข้าวแกงปักษ์ใต้บ่อยๆ ทุกวัน จึงทำให้วันนี้ ตัดสินใจว่าต้องเข้ามาลองชิมสักจาน ปรากฏว่าสั่งข้าวเพิ่มจนเป็นสามจานเลยค่ะ
สาเหตุที่ต้องสั่งข้าวเพิ่มหลายจานนั้นก็คงเป็นเพราะความอร่อย และความเผ็ดร้อนของอาหาร ที่สามารถทำให้เรากินข้าวได้หมดหม้อเลยทีเดียว ทำเอาซะหนุ่มกรุงเทพที่มาด้วยกันเหงื่อแตก ไม่รู้ว่าเพราะรสเผ็ด หรือเพราะอึ้งที่เห็นการสั่งข้าวเพิ่มแบบไม่เหนียมอายกันแน่
สำหรับวันนี้เมนูที่สั่งไปก็คือ แกงไตปลา แกงคั่วหอยขม คำแรกที่ได้ลิ้มรส สัมผัสได้ถึงความหอมของพริกแกง และใบชะพลูจากแกงคั่ว และสำหรับคำต่อมา ต่อมรับรสก็เริ่มจะบอกว่า เผ็ดร้อน
เอกลักษณ์ของอาหารใต้ มีความโดดเด่นเฉพาะถิ่น จากที่สืบทราบมาคือ อาหารใต้มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารพื้นบ้าน กับอาหารอินเดียใต้ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้คืออยู่ติดทะเล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยอาหารทะเล ดังนั้นการปรุงอาหารจึงต้องมีรสจัด เพื่อดับความคาวด้วย
โดยเฉพาะขมิ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับครัวใต้ เพราะช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี เพราะเหตุนี้เราจึงมักจะเห็นอาหารใต้ส่วนมาก เป็นสีเหลือง เช่นแกงไตปลา แกงส้ม แกงพริก และรสชาติที่เผ็ดร้อนจากเครื่องเทศจึงทำให้อหารใต้มีรสชาติเผ็ดกว่าภาคอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของอาหารใต้เลยล่ะ
(สำหรับตัวผู้เขียนอยู่ภาคอิสาน ก็เคยทานแต่ตำหมากหุ่ง ซึ่งก็เผ็ดเหมือนกันค่ะ แถมเค็มด้วยนิดหน่อย อิอิ)