ปอมเปอี เมืองมรดกโลก โศกนาฏกรรมที่กลายเป็นตำนาน
เมื่อพูดถึงปอมเปอี คนไม่น้อยย่อมจำได้ว่า เป็นเมืองหนึ่งในยุคโรมันเรืองอำนาจ แต่เมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิด ทำให้เมืองนี้ ถูกเถ้าจากภูเขาไฟ พ่นออกมาท่วมทับ จนหายไปทั้งเมือง โดยที่ผู้คนจำนวนนับหมื่นถูกฝังอยู่ใต้เถ้านั้น คนที่เคร่งศาสนาหลายคนเชื่อว่า หายนะครั้งนั้น เกิดจากการลงโทษของพระเจ้า
ปอมเปอี (Pompeii) นั้น เดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ มีมาตั้งแต่ 600-700 ปีก่อนคริสตกาล แต่มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน เมื่อราวปีที่ 80 ก่อนคริสตกาล ที่ตั้งของเมืองปอมเปอีโบราณ อยู่แคว้นแคมพาเนีย ใกล้กับอำเภอปอมเปอี (เมือง Pompei ยุคปัจจุบันเขียนด้วย i ตัวเดียว) จังหวัดเนเปิลส์ ของอิตาลี อยู่ห่างจากภูเขาวิซูเวียสราว 8 กิโลเมตร และในอดีตเมืองนี้ อยู่ห่างจากชายทะเล เพียงครึ่งกิโลเมตร แต่หลังจากภูเขาไฟสงบลง ระยะทางจากตัวเมืองถึงชายทะเล เพิ่มเป็นสองกิโลเมตร
เมืองปอมเปอี ในยุคก่อนจะประสบกับภัยธรรมชาติ ในปี ค.ศ.79 จัดว่า เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากเมืองหนึ่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 64 ถึง 67 เฮกตาร์ (160 ถึง 170 เอเคอร์) มีประชากรราว 20,000 คน ตัวเมือง มีการวางผังเมืองอย่างดี มีระบบส่งน้ำที่ขึ้นชื่อ ตามแบบของโรมัน, น้ำพุสาธารณะจำนวนมาก, ที่อาบน้ำสาธารณะ, สนามกีฬาทรงรี (Arena) สำหรับให้ชาวเมืองชมกีฬา ที่ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ของพวก กลาดิเอเตอร์ เวทีแสดงกลางแจ้ง (Amphitheatre), วิหารเทพจูปิเตอร์, ท่าเรือ ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ต่างจากเมืองอื่นๆ ของโรมัน คือที่กักเก็บน้ำฝน ซึ่งไหลลงมาจากหลังคาเหนือห้องโถง ที่ทำเป็นช่องเอาไว้ และออกแบบมุมเอียงของหลังคา ให้น้ำฝนที่ตกลงบนหลังคานั้น ไหลไปลงที่ช่องนั้น เมื่อน้ำไหลลงช่อง ก็จะไปรวมกันในอ่างกระเบื้องใต้ช่อง แล้วจึงไหลลงไปสู่ถังเก็บอีกต่อหนึ่ง ปอมเปอีนั้น เป็นเมืองแห่งความหรูหราฟู่ฟ่า เป็นเมืองที่ชนชั้นสูง นิยมสร้างบ้านพักไว้ริมชายทะเล และเชิงเขาวิซูเวียส กับชาวบ้านธรรมดา ที่มีฐานะยากจนและต้องทำงานหนัก แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ที่ค่อนข้างอยู่ในสภาพดี บอกได้ว่า ปอมเปอี เป็นเมืองแห่งการแสวงหาความสุขทางเนื้อหนัง ทั้งสุราและนารี เพราะเมืองนี้ มีที่อาบน้ำสาธารณะ มาตั้งแต่ 400 ปี ก่อนคริสตกาล
และในช่วงสุดท้าย ก่อนเกิดภัยพิบัติ ในเมือง มีที่อาบน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ไม่น้อยกว่า 6 แห่ง หลายแห่งมีความหรูหรามาก นอกจากนั้น ที่ต่างไปจากเมืองอื่นๆ ของชาวโรมันคือ ที่ปอมเปอี และเมืองเฮอร์คิวเลเนียม ซึ่งอยู่ใกล้กัน พบหลักฐานมากมาย ที่แสดงให้เห็นว่า ที่นี่ เป็นเมืองที่ผู้คน ต่างลุ่มหลงในการเสพสุข แสวงหาความสำราญ จากความบันเทิงเริงรมย์หลากรูปแบบ เรียกได้ว่า ที่นี่ คือลาสเวกัสของยุคนั้นเลยทีเดียว
วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.79 เพียงวันเดียว หลังจาก วัลคานาเลีย เอส หรือเทศกาลที่ชาวโรมัน จะจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งไฟ นั่นเป็นวันสุดท้ายของปอมเปอี และชาวเมืองจำนวนมาก (ประเด็นนี้ มีข้อกังขาจากนักโบราณคดีจำนวนหนึ่ง ที่คิดว่า เหตุการณ์ น่าเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน เนื่องจากอาศัยหลักฐาน ได้แก่ เสื้อผ้าที่ชาวเมือง ซึ่งถูกฝังทั้งเป็นสวมใส่ และพืชผักผลไม้ ที่มีอยู่ ณ เวลานั้น บอกให้ทราบว่า เป็นช่วงที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว)
เมื่อภูเขาไฟวิซูเวียสเกิดระเบิดขึ้น เมื่อเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ฝุ่นควันจากเศษดินเศษหิน และก๊าซพิษจำนวนมหาศาล ถูกพ่นออกมา ประกอบกับกระแสลม ที่พัดพามันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของวิซูเวียส ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองปอมเปอี และเมืองสตาเบีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าปอมเปอี เพียงเวลาไม่กี่นาที ท้องฟ้าเหนือเมืองปอมเปอี ก็ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันจากภูเขาไฟ จนแสงอาทิตย์ ไม่อาจส่องลอดมาได้ ทุกหนแห่ง ตกอยู่ในความมืด คล้ายยามราตรี และหลังจากนั้นไม่นาน เศษดินและหิน ที่ลอยออกมากับฝุ่นควัน ก็เริ่มจับตัวกัน แล้วเริ่มร่วงลงมาสู่เมืองปอมเปอี ชาวเมืองจำนวนหนึ่ง พยายามหนีออกจากเมือง บางส่วน ไปหลบในบ้าน หรือในสถานที่ส่วนรวม แต่มีไม่มากนักที่รอดชีวิต เพราะบรรยากาศโดยรอบ เต็มไปด้วยก๊าซพิษ ฝุ่นควันและเศษหิน ที่ร่วงลงมาทับถม เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเย็น หลังคาบ้าน ก็เริ่มถล่มลงมา เมื่อรับน้ำหนักจากเถ้าและเศษหินไม่ไหว
เช้าของวันที่ 25 วิซูเวียส ระเบิดแรงขึ้น แรงสั่นสะเทือน ทำให้ท้องทะเลปั่นป่วน คลื่นแรงมาก และพัดเข้าใส่ชายฝั่ง ทำลายบ้านพักตากอากาศไปหลายหลัง ช่วงบ่าย กระแสลมเปลี่ยนทิศ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปพร้อมกับฝุ่นควัน พัดเข้าสู่เมืองเฮอร์คิวเลเนียม และมิเซนัม แต่เมืองแรก อยู่ใกล้กว่ามาก จึงได้รับความเสียหายมากกว่า วันที่ 26 การระเบิดยังคงมีอยู่ แต่เบาลงกว่าสองวันแรก แต่ก็เกิดฝนตกลงมาบริเวณลาดเขา ซึ่งเต็มไปด้วยเถ้าถ่านที่ร้อนจัด วันที่ 27 น้ำฝนละลาย ผสมกับเถ้าถ่าน กลายเป็นโคลนเดือด ไหลทะลักลงมา กลบเมืองเฮอร์คิวเลเนียม ชาวเมืองหลายร้อยคนเสียชีวิต แต่เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่ ได้อพยพออกไปก่อนแล้ว ไม่นานหลังจากนั้น ธรณีพิโรธจึงสงบลง
มหันตภัยในครั้งนั้น ประมาณการกันว่า แรงระเบิดของวิซูเวียส เทียบเท่านิวเคลียร์ 40 ลูก ลาวาทั้งหมดที่ทะลักออกมา มีอุณหภูมิสูงถึง 250 องศาเซลเซียส มีทั้ง ฝุ่นควัน หิน ก๊าซพิษ กระจายออกมาราวกับห่าฝน กินพื้นที่ในอาณาเขต รัศมีกว้างกว่า 10 กิโลเมตร พุ่งขึ้นสูงกว่ายอดเขาเอเวอร์เรสถึง 3.5 เท่า ด้วยแรงพุ่ง ที่เทียบเป็นความเร็วได้ถึง 180 กม./ชม. และทิ้งร่องรอยแรงระเบิดไปไกล ถึงทวีปแอฟริกา
ราวหนึ่งพันเจ็ดร้อยปีหลังจากนั้น สถาปนิกชื่อ โดมินิโก้ ฟอนทาน่า พบร่องรอยโบราณบางอย่างขณะที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ ในบริเวณที่เคยเป็นเมืองปอมเปอี จึงมีการขุดขยายพื้นที่โดยรอบดู ก็พบว่า เป็นโรงละครกลางแจ้ง แต่ไม่มีความพยายาม จะขยายการขุดออกไปอีก จนกระทั่งปี 1784 ตระกูลบูร์บง ซึ่งเป็นเชื้อสายกับราชวงศ์บูร์บง ผู้ปกครองเนเปิลส์ในยุคนั้น เกิดสนใจ ที่จะค้นหาเมืองปอมเปอีต่อ พวกเขาจึงจ้างคนงาน ให้ขุดเป็นอุโมงค์ออกไปจนพบเมือง และนำสิ่งของมีค่า ออกมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของตระกูล ปี 1860 กุยเซปเป ฟีโอเรลลี เป็นหัวหน้าคณะนักโบราณคดี ได้คิดวิธีอันน่าทึ่ง ในการขุดปอมเปอี จนเห็นลักษณะของชาวเมืองจำนวนมากที่เสียชีวิต ภายใต้เศษเถ้าจากภูเขาไฟท่วมทับศพเหล่านั้น หลังจากถูกความร้อน และผ่านกาลเวลามานาน จึงกลายเป็นโพลงกลวง เขาเจาะรูลงไปเป็นรูเล็กๆ และเทปูนปลาสเตอร์ลงไปในพื้น ซึ่งเคยมีซากศพอยู่ด้านใน รอให้แห้งแล้วจึงขุดขึ้นมา ทำให้เห็นถึงท่าทางสุดท้ายของชาวเมืองจำนวนมาก ขณะตาย
ปัจจุบัน เศษซากเมืองแห่งอารยธรรมสุดรุ่งเรืองแห่งนี้ ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าทึ่ง เพราะสามารถบอกเล่า โศกนาฏกรรมสุดสลดที่เกิดขึ้น ได้ด้วยตัวมันเอง โดยเมืองแห่งนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากองค์การยูเนสโก เมื่อ ค.ศ. 1997 และนับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยม ของประเทศอิตาลี ที่มีผู้มาเยือน มากกว่า 2 ล้านคนต่อปี เลยทีเดียว
ที่มา: Wikimedia